โรงเรียนวัดช้างทูน สืบทอด วิถีชาวนา “ปักดำวันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ”

“ปักดำวันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ” ที่บ้านหนองไม้หอม หมู่ที่ 5 ตำบลช้างทูน อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เป็นกิจกรรมที่จัดร่วมกันระหว่างชุมชน หน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น โรงเรียนวัดช้างทูน-คณะครู-นักเรียนและผู้ปกครอง และ อบต.ช้างทูน ที่จัดขึ้นมาเป็นประจำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลทำนาประจำปี โดย คุณสมชาย เปรื่องเวช ประธานศูนย์นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านช้างทูนและปราชญ์ชาวบ้าน ได้แบ่งที่นา 2 ไร่ ให้นักเรียนได้เรียนรู้วิถีชาวบ้าน กระบวนการทำนาตั้งแต่ ไถ คราด ตกกล้า ปักดำจนถึงการเก็บเกี่ยว โดยคณะครูร่วมกับชุมชนผู้ปกครองช่วยกันถ่ายทอดองค์ความรู้ และหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นได้ร่วมกันสืบสานวิถีชาวนาและเสริมสร้างความสามัคคี

ข้าวเม่า

แนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้อย่างเข้าใจ

คุณสมชาย เปรื่องเวช หรือ “ลุงหนุ่ม” วัย 53 ปี ปราชญ์ชาวบ้าน อยู่บ้านเลขที่ 62/2 หมู่ที่ 5 บ้านหนองไม้หอม ตำบลช้างทูน อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เล่าถึงที่มาของแรงบันดาลใจที่ยกผืนนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนวัดช้างทูนว่า ที่ดินที่ใช้ทำนาในหมู่บ้านตำบลช้างทูนมีเหลืออยู่เพียง 10 กว่าแปลง เกรงว่าวิถีชาวนาแบบดั้งเดิมจะสูญหายไป ไม่มีการสืบสานเด็กๆ เยาวชนจะไม่รู้จัก และไม่รู้ถึงคุณค่าความยากลำบากของการทำนากว่าจะได้เมล็ดข้าว เมื่อปี 2559 ได้ยกแปลงนาจำนวน 2 ไร่ให้โรงเรียนวัดช้างทูนใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ กระบวนการวิธีการทำนา ตามแนวของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการร่วมมือกันระหว่างคนในชุมชน คณะครู-ผู้ปกครองโรงเรียนวัดช้างทูน อบต.ช้างทูน โดยในปีนี้เป็นปีที่ 4 โดยโรงเรียนวัดช้างทูนโครงการ “ปักดำวันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ” 

“ที่ดินทำมาหากินมีอยู่ 8 ไร่ แบ่งทำสวนผลไม้ทุเรียน มังคุด สระน้ำ และเป็นที่นาอยู่ 2 ไร่ ระยะหลังๆ เห็นว่าการทำนาค่อยสูญหายไปที่บ้านหนองไม้หอม เหลือเพียง 2 แปลง เมื่อ 3 ปีที่แล้วจึงยกให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนวัดช้างทูน เพื่อสอนการทำนาให้กับเด็กๆ และเยาวชน โดยตัวเองและชาวบ้าน ผู้ปกครองร่วมมือกันลงไปช่วยสอนนักเรียน ต่อมาได้ขยายเครือข่ายลงสู่ชุมชน มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานเกษตร พัฒนาชุมชน ตำรวจตระเวนชายแดน อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน อบต.ช้างทูน รวมทั้งนายอำเภอบ่อไร่มาร่วมกิจกรรมด้วย ทำให้บรรยากาศของการทำนาตามขั้นตอนต่างๆ คึกคักมาก โดยเฉพาะการดำนา เกี่ยวข้าว มีผู้มาร่วมกิจกรรมกับเด็กๆ 50-60 คน ปี 2561คึกคักเป็นพิเศษ เพราะมีโครงการต่อยอดจากเกี่ยวข้าวทำแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ แปลงปลูกผัก โรงเพาะเห็ด และเป็นจุดเช็คอินให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสกลิ่นอายวิถีชีวิตชาวนาและเกษตรอินทรีย์” คุณสมชาย กล่าว

สอนทำปี่

ปฏิทินชาวนา 6-7 เดือน วันเก็บเกี่ยวผลผลิตตำข้าวเม่า

“ลุงหนุ่ม” ของเด็กๆ เล่าว่า ปฏิทินชาวนา ระยะเวลา 6-7 เดือน กว่าจะได้เมล็ดข้าวสารมาบริโภค เริ่มจากเดือนมิถุนายน เริ่มไถนา คาดนาเดือนกรกฎาคม ตกกล้า เดือนสิงหาคม ดำนา มีทั้ง ข้าวเหนียว, ข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวหอมนิล เดือนพฤศจิกายนเริ่มทะยอยเกี่ยวข้าวเหนียวก่อนและตามด้วยข้าวเจ้า ปีนี้เมื่อ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 เกี่ยวข้าวเหนียวเสร็จสิ้น มีไฮไลต์ชาวบ้านผู้ปกครองร่วมกันทำ “ตำข้าวเม่า” ภายในวันเดียวกันมีการเกี่ยวข้าวเปลือก นำมาตำข้าวเอาเปลือกออกเป็นข้าวเม่า สดๆ ใหม่ๆ ใช้มาทำข้าวเม่าคลุกมะพร้าว อาหารท้องถิ่นที่อร่อยหารับประทานยากในยุคปัจจุบัน รสชาติของข้าวเหนียวที่เก็บเกี่ยวจากต้นใหม่ๆ ทั้งหอมและนุ่ม คลุกกับมะพร้าวที่เก็บจากต้นขูดมือรสชาติ หวาน มัน ออกเค็มเล็กๆ โดยเฉพาะกับเด็กๆ สนุกสนาน มีความสุขกับกิจกรรมและอร่อยกับรสชาติข้าวเม่าคลุกมะพร้าวแบบโบราณมาก จากนั้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวเจ้าทั้งหมด แบบ “ลงแขก” เสร็จสิ้นภายในเวลา 3 ชั่วโมงเศษ มีอาหารคาวพื้นบ้าน เช่น แกงกล้วยพระ มารับประทานกับข้าวสวย ได้อิ่มอร่อยกันตามเคย

“ข้าวที่ปลูกพันธุ์หอมนิล เป็นข้าวอินทรีย์ ปลอดสารพิษมีคุณภาพเหมาะกับการบริโภค  ปีนี้ข้าวงามคาดว่าได้ข้าวเปลือกเกือบ 1,000 กิโลกรัม (ข้าวปลูก 1 ถัง ได้ 120 ถัง ปีก่อนๆ ได้ 90-100 ถัง) ได้มอบให้โรงเรียนวัดช้างทูนใช้เป็นโครงการอาหารกลางวัน ที่สำคัญกิจกรรมสร้างการเรียนรู้วิถีชาวนาที่เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมหรือแม้แต่ชุมชน จะได้รับความร่วมมือสืบสานอนุรักษ์ไว้และเห็นคุณค่าของเมล็ดข้าวที่เป็นอาหารหลักของคนไทย และที่สำคัญได้ความรักสมัครสมานสามัคคีในชุมชนหมู่บ้านและเด็กๆ ได้เรียนรู้ด้วยความสนุกสนานมีความสุข” ลุงหนุ่ม กล่าว

โครงการอาหารกลางวันของเด็กๆ ที่โรงเรียนวัดช้างทูน

ป้าสำเนา คั่วข้าวเม่า

ผอ.บุญรักษา คุ้มปลี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดช้างทูน อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เล่าว่า โรงเรียนวัดช้างทูน จะแบ่งให้นักเรียนชั้นอนุบาล-ป.1, ป.2 ได้เยี่ยมชมแปลงนาข้าวดูวิธีการทำนา โดย ลุงสมชาย ปราชญ์ชาวบ้านและคณะครูให้ความรู้ ส่วนชั้น ป.3-ป.6 จำนวน 110 คนจะเรียนรู้ ปฏิบัติจริงเกี่ยวกับการดำนา เกี่ยวข้าว โดยช่วงต้นฤดูกาลทำนาประมาณเดือนมิถุนายนช่วงนี้จะนำเด็กๆ มาดูให้เห็นถึงการเริ่มต้นการทำนา ลุงสมชายจะใช้รถไถนา ไถ คราด พรวนดินที่เรียกว่า “ตีเทือก” และหว่านกล้าด้วยตัวเอง จากนั้นอีก 1 เดือนจะเป็นการถอนกล้าไปดำนา จะนำนักเรียนชั้น ป.2-ป.3  มาเรียนรู้และดำนาจริงๆ โดยมีผู้ปกครองช่วยกันสอน โดยครูจะพาเด็กๆ มาเยี่ยมแปลงให้เห็นการเติบโตของข้าว ประมาณเดือนที่ 3 ข้าวจะตั้งท้องแก่ เหมาะที่จะเก็บเกี่ยวได้ จะนำเด็กๆ ทั้งโรงเรียนมาเรียนรู้การเกี่ยวข้าว โดยจะให้นักเรียนโตๆ ป.4-ป.6 ได้เรียนรู้การเกี่ยวข้าว ซึ่งจะเป็นวันที่เด็กๆ สนุกสนานมากเพราะได้มาหัดเกี่ยวข้าว ช่วยกันแบกฟ่อนข้าวไปวางกองรวม เตรียมนำรวงข้าวไปตากและฟาดที่โรงเรียนเพื่อนำไปส่งโรงสีข้าวให้นักเรียนรับประทาน

ตำข้าวเม่าต้อง 2 คน

“โรงเรียนได้จัดทำโครงการปักดำวันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ โดยใช้งบประมาณที่ได้รับการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้และงบประมาณเงินอุดหนุนรายหัวอื่นๆ จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เคียวเกี่ยวข้าว และจัดอาหารกลางวันและอาหารว่างมาเลี้ยงในช่วงดำนา เก็บเกี่ยว คาดว่าปีนี้จะได้ข้าวประมาณ 800-1,000 กิโลกรัม โดยนำไปใช้ในโครงการอาหารกลางวัน แม้จะไม่เพียงพอแต่ช่วยให้ประหยัดงบประมาณไปได้ส่วนหนึ่ง โรงเรียนเห็นว่ากิจกรรมนี้ทำให้เด็กๆ เห็นถึงคุณค่าของการปลูกฝังให้วิถีชีวิตของชาวนา ได้เรียนรู้กระบวนการทำนา และมีจิตสำนึกร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานและเป็นการสร้างความสามัคคีความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชนและโรงเรียนจะทำกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี” ผอ.บุญรักษา กล่าว

เสียงสะท้อนของหนูๆ จากนาข้าว

สนุก ชอบดำนา เกี่ยวข้าว

บรรยากาศวันเกี่ยวข้าวเป็นไปอย่างสนุกสนาน เพราะมีชุมชนมาร่วมงานกันคึกคักกว่า 100 คน โรงเรียนวัดช้างทูนเจ้าภาพ นำขนมมาสอดไส้แจกตั้งแต่เช้า มะพร้าวน้ำหอมปั่นเครื่องดื่มแก้กระหาย ตกกลางวันมีข้าวสวยรับประทานกับแกงไก่กล้วยพระอาหารท้องถิ่น เด็กๆ จะสนุกสนานเป็นพิเศษรีบคว้าเคียวแล้วไปตั้งแถว 4-5 คน สลับกับผู้ใหญ่ที่คอยสอนวิธีเก็บเกี่ยว คนไหนไม่ได้เกี่ยวก็ช่วยกันหอบกองข้าวที่กองรวมกันไปวางรวมไว้เป็นกองโต ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงข้าวในนาเกือบๆ 2 ไร่ ได้รับการลงแขกเกี่ยวเสร็จเรียบร้อย สอบถามเด็กๆ หลายคน บ้างชอบดำนา บ้างชอบเกี่ยวข้าว ด้วยเหตุผลเฉพาะตัวแต่คำตอบที่ตรงกันคือสนุกสนานมาก ได้เรียนรู้การทำนาของบรรพบุรุษที่ยากกว่าจะได้เมล็ดข้าว ไม่เคยเห็นมาก่อนและได้ข้าวไว้รับประทานที่โรงเรียน

“ดวง“ เด็กหญิงดวงฤทัย เสานาม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เล่าว่า เคยดำนามาตั้งแต่เรียนชั้น ป.3 ปีนี้ขึ้น ป.4 ได้หัดเกี่ยวข้าว แต่จะชอบดำนามากกว่าเพราะง่าย เพียงแต่ใช้นิ้วโป้งกดกล้า 3-4 ต้นลงในนาแล้วเขี่ยดินกลบ ไม่ร้อนเหมือนเกี่ยวข้าว และเกี่ยวข้าวจะดูยากกว่า ต้องใช้มือกำข้าวมือหนึ่งถือเคียวเกี่ยวอีกมือ และต้องระวังไม่ให้เคียวพลาดบาดมือตัวเองและเพื่อนใกล้ๆ ด้วย ส่วน “เปรม” เด็กชายแสงสุรีย์ จิตอาคะ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่ชอบดำนาเพราะเปียกต้องแช่น้ำ แต่ชอบเกี่ยวข้าวมากกว่า เห็นว่าได้ความรู้และสนุกมากได้อยู่รวมกับเพื่อนๆ และวันนี้ “พี่ ตชด.116” สอนทำปี่ จากปล้องข้าวเป่าเล่นกันสนุกมาก และ “นิ๊ง” เด็กหญิงกิตติยาภรณ์ แกล้วกล้า เพิ่งอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่  3 เพิ่งหัดเกี่ยวข้าวชอบมาก เห็นว่าได้ไปไว้รับประทานที่โรงเรียน

ท้ายสุด คุณภาณุวัฒน์ พุทธเกสร นายอำเภอบ่อไร่ ได้ร่วมกิจกรรมเกี่ยวข้าว มองเห็นว่า กิจกรรม “ปักดำวันแม่ เก็บเกี่ยววันพ่อ” ช่วยสร้างสรรค์นอกจากเป็นการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมวิถีชาวนาให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้แล้ว เหนือสิ่งอื่นใดคือเห็นความสมัครสมานสามัคคีของหน่วยงานต่างๆ ที่ห่างหายไปนาน ได้เห็นหน่วยงานมาร่วมมือกันทั้ง อบต. ตชด. พัฒนาชุมชน สำนักงานเกษตร อาสาสมัคร ผู้ปกครอง ครู นักเรียน เห็นความสำเร็จของการร่วมมือกันเมื่อ 4 เดือนก่อน…นี่คือพลังของชุมชนที่จะช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน