เทคนิคทำมะม่วงคุณภาพ ส่งออก ของ ไตรรัตน์ เปียถนอม เกษตรกรดีเด่น

แหล่งปลูกมะม่วงส่งออกทำเงินของประเทศไทย หากดูจากแผนที่ประเทศไทยแล้ว จะพบว่ากระจายอยู่ทั่วประเทศ จะมีกลุ่มที่รวมตัวกันหลายจังหวัดที่เป็นเขตติดต่อกันบ้าง เช่น พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร ในภาคอีสานก็เป็นจังหวัดกาฬสินธุ์ อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น ภาคเหนือเกาะกลุ่มจังหวัดลำพูนประปราย น่าน เชียงราย และเชียงใหม่ ภาคกลางมีไม่มากนักในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี อ่างทอง และสุพรรณบุรี ส่วนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่พบว่ามีการปลูกมะม่วงส่งออกน้อยกว่าภาคอื่น

จังหวัดเพชรบูรณ์ มีเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่ม 2 แห่ง คือที่อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก ตำบลบ้านโภชน์ และอีกกลุ่มเป็นกลุ่มปรับปรุงคุณภาพมะม่วงเพื่อการค้าและการส่งออก จ.เพชรบูรณ์ นำโดย คุณไตรรัตน์ เปียถนอม ผู้ซึ่งการันตีด้วยรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวน ปี 2557

คุณไตรรัตน์ เปียถนอม

ทำมะม่วงส่งออก แทนมะม่วงตามกระแส

คุณไตรรัตน์ เปียถนอม เริ่มทำสวนมะม่วงมาตั้งแต่ปี 2530 ทุกปีประสบปัญหาขาดทุน เพราะไม่ได้อยู่ดูแลสวนมะม่วงด้วยตนเอง กระทั่งปี 2533 จ้างคนดูแลและปลูกมะม่วงตามความนิยมของท้องถิ่น คือ พันธุ์เขียวเสวย พันธุ์ฟ้าลั่น พันธุ์หนองแซง และพันธุ์น้ำดอกไม้ ไม่ถึงกับขาดทุน แต่ขายได้ตามฤดูกาลภายในประเทศบ้างเท่านั้น ขณะนั้นคุณไตรรัตน์ ยังทำงานประจำ แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำสวนมะม่วงอย่างจริงจัง

คุณไตรรัตน์ เคยศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทำสวนมะม่วง ในระหว่างที่ทำงานประจำ และทราบว่า มีการส่งมะม่วงไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ ปี 2535 และราคาส่งออกค่อนข้างสูง จึงคิดว่า การทำสวนมะม่วงเพื่อการส่งออกจะทำให้เกษตรกรอย่างเขาอยู่รอด

หลังลาออกจากงานเริ่มศึกษาแนวทางการผลิตมะม่วงคุณภาพอย่างจริงจัง เดินทางไปศึกษาดูงานยังแหล่งที่ประสบความสำเร็จเท่าที่ทำได้ ทำให้ทราบว่า มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง เป็นพันธุ์ที่ต่างประเทศต้องการ จึงตัดสินใจปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองแซมพันธุ์เขียวเสวย หนองแซง และฟ้าลั่น ในพื้นที่ 40 ไร่ก่อน จากนั้นไม่นาน ก็เปลี่ยนเป็นพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองทั้งหมดในพื้นที่ 100 ไร่

ห่อผลมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองให้ดู

พื้นที่ 100 ไร่ เป็นมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง 95 เปอร์เซ็นต์ และ มะม่วงพันธุ์มหาชนก อีก 5 เปอร์เซ็นต์ อาศัยน้ำในการเพาะปลูกจากน้ำฝน 100 เปอร์เซ็นต์

พื้นที่ปลูกดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ไม่อุ้มน้ำ เมื่อถึงฤดูแล้งจะแห้งแล้งมาก ส่งผลให้ผลผลิตคุณภาพต่ำ คุณไตรรัตน์ แก้ปัญหาโดยยึดแนวพระราชดำริ ในการทำการเกษตร ที่ต้องมีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง อย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ จึงขุดแหล่งน้ำเป็นบ่อไว้กักเก็บน้ำรวมพื้นที่ 25 ไร่ กระจายไปตามจุดต่างๆ ทั่วพื้นที่ปลูก การขุดบ่อกักเก็บน้ำพิจารณาจากความเหมาะสมของพื้นที่ บริเวณที่ลาดเมื่อฝนตกน้ำไหลไปรวมกัน จึงขุดบ่อบริเวณนั้น และขุดบ่อลึกกว่าบ่อมาตรฐาน 2-3 เท่า เน้นความลึก เพื่อให้เก็บกักน้ำในปริมาณมาก และพื้นผิวด้านบนของบ่อแคบ เพื่อลดปริมาณการสูญเสียจากการระเหย

ระยะปลูก 6 x 4 และ 5 x 4 จำนวนต้นอยู่ที่ 60-80 ต้น ต่อไร่

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ห่อรอการเก็บ

ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับพื้นที่

คุณไตรรัตน์ มีเทคนิคในการผลิตมะม่วงส่งออก โดยพยายามประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ คำนึงถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ นำมาประยุกต์ใช้ในสวนของตนเอง ดังนี้

สวนโล่งเตียน ใต้ทรงพุ่มโปร่ง

1.นำเครื่องขุดเจาะหลุมมาใช้ในการขุดหลุมปลูกมะม่วงเพื่อลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากการจ้างขุดหลุมเพื่อปลูกมะม่วงต่อหลุม ปัจจุบันราคาประมาณ 20 บาท หากปลูก 1 ไร่ จำนวน 70 ต้น จะเสียค่าขุดหลุมปลูกเป็นเงิน 1,400 บาท หากใช้เครื่องขุดเจาะจะมีต้นทุนหลุมละ 5 บาท เป็นเงิน 350 บาท ประหยัดต้นทุนได้ไร่ละ 1,050 บาท

2.การใช้น้ำระบบมินิสปริงเกลอร์และทำคันดินเล็กรอบๆ บริเวณโคนต้น เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลออกนอกบริเวณชายพุ่ม ซึ่งสามารถแก้ปัญหาสภาพดินที่ไม่อุ้มน้ำได้เป็นอย่างดี และเป็นการลดต้นทุนเรื่องแรงงานในการให้น้ำมะม่วง ทั้งยังเป็นระบบที่ประหยัดน้ำ

3.ใช้การพ่นสารเคมีแบบแอร์บัส คือการใช้แรงดันพ่นผ่านปั๊มแรงดันสูง มีพัดลมช่วยกระจายสารเคมีให้ละอองกระจายทั่วถึง ทำให้ประหยัดต้นทุนในการผลิต เนื่องจากแอร์บัสจะประหยัดสารเคมีลง 30 เปอร์เซ็นต์ ใช้แรงงานในการพ่นสารเคมีเพียง 1 คน ทำงานได้รวดเร็ว จากเดิมพื้นที่ 30 ไร่ ใช้แรงงานพ่นสารเคมี 2 คน ต้องใช้เวลาพ่น 5 วัน แต่การใช้แอร์บัส ใช้เวลาเพียง 2 วันเท่านั้น ทำให้การป้องกันโรคและแมลงทำได้ทันเวลา

บ่อกักเก็บน้ำ ปัจจัยสำคัญของสวนมะม่วง

4.มะม่วงที่ปลูกอยู่เดิมเป็นพันธุ์เขียวเสวย ฟ้าลั่น ไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีได้ จึงใช้เทคนิคการเปลี่ยนยอดและอุ้มบุญ ในการเปลี่ยนยอดมะม่วงในพื้นที่ให้เป็นพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง เพื่อลดระยะเวลาในการปลูกใหม่ และเทคนิคการอุ้มบุญ คือ การนำมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปเสียบฝากในต้นพันธุ์เขียวเสวยและฟ้าลั่น ทำให้เกษตรกรยังมีรายได้จากการขายมะม่วงฟ้าลั่น เขียวเสวย และมีผลพลอยได้จากมะม่วงฝากท้องในช่วง 1-3 ปี ก่อนที่จะทยอยตัดกิ่งต้นเดิมเหนือรอยทาบออก เพื่อให้เป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง 100 เปอร์เซ็นต์

5.การปรับปรุงคุณภาพดิน เนื่องจากพื้นที่ปลูกเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ในช่วงแรกของการปลูกมะม่วง จึงปรับปรุงคุณภาพดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ (มูลไก่แกลบ) บำรุงดินต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี มีการปลูกปอ ซึ่งเป็นพืชบำรุงดิน เพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน

ควบคุมแมลงวันผลไม้ ผลสวย ด้วยการห่อ

การให้น้ำด้วยระบบมินิสปริงเกลอร์ และขุดรอบโคนต้นมะม่วง เพื่อเก็บน้ำให้พืชได้รับประโยชน์มากที่สุด

การตัดแต่งทรงพุ่ม เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก มะม่วงสวนคุณไตรรัตน์ต้นเตี้ยทุกต้น เพื่อสะดวกต่อการห่อ เก็บ โดยควบคุมความสูงของต้นไม่ให้เกิน 3.50 เมตร เมื่อตัดแต่งกิ่งภายในทรงพุ่มที่ไม่มีผลผลิต ควรรูดใบแก่ที่มีเพลี้ยแมลงทำลายออกบางส่วน เช่น เพลี้ยแป้งและเพลี้ยหอย แล้วนำไปเผาทิ้งลดการระบาดได้ การควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูพืช ควรทำเมื่อมะม่วงติดผลขนาดหัวแม่มือ

มีการควบคุมแมลงวันผลไม้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการห่อผลด้วยถุงห่อทุกผล สำหรับผลที่ไม่ได้คุณภาพ จะตัดแต่งผลทิ้งในช่วงผลมะม่วงมีอายุ 30-40 วัน ก่อนการห่อผล

“ถ้าสังเกตจะเห็นดอกออกตามต้นได้ หากเราทำทรงพุ่มให้โปร่ง จะปลูกชิดกันก็ได้ แต่ทำให้โปร่ง จะทำให้ออกดอกตามต้น แต่ถ้าทำสวนให้ทึบ มันก็จะไม่ออกดอกตามกิ่งก้านให้ ยิ่งหน้าร้อนถ้าออกดอกให้ผลจะถูกแดดเผา แต่ถ้าติดดอกออกผลใต้พุ่ม ไม่ถูกแดด จะทำให้ผิวผลสวยงาม”

สวนมะม่วง อายุ 1 ปี

การใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชและเชื้อรา สวนแห่งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขของคู่ค้า คือ มาตรฐานญี่ปุ่น และ GAP ของกรมวิชาการเกษตร ไม่ใช้สารเคมีต้องห้าม มีการจดบันทึกตามระบบ GAP

เดิมมีการให้ปุ๋ย ซึ่งเป็นปุ๋ยจากงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกซว.) ประกอบกับประสบการณ์เน้นการให้ปุ๋ยเมื่อมะม่วงติดผลแล้ว โดยให้ทีละน้อยทุกๆ 7 วัน ตามการติดผลของมะม่วงแต่ละต้น สูตรปุ๋ย 25-5-18 หรือ 4.5-1-3.8 ผลผลิตมากให้มาก ผลผลิตน้อยให้น้อย

เทคนิคล่าสุดที่คุณไตรรัตน์ใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพมะม่วงคือ การให้น้ำเสมือนฤดูฝน ดินจะต้องชุ่มอยู่ตลอดเวลา แม้ฤดูแล้ง เพื่อให้ต้นไม้ได้รับน้ำเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยวิธีการขุดรอบโคนต้นมะม่วง 3 ส่วน 4 ของรัศมีทรงพุ่ม เพราะเมื่อให้ปุ๋ยและน้ำ จะซึมออกมาบริเวณรากพืชที่อยู่ชายพุ่ม ทำให้ต้นมะม่วงได้รับปุ๋ยและน้ำเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะชายพุ่มต้นมะม่วงจะเป็นเขตรากที่หาอาหารได้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ยังแก่ไม่เต็มที่

คุณไตรรัตน์ ให้ข้อมูลว่า ปี 2557 ผลผลิตมะม่วงเกรด A เพื่อการส่งออกของจังหวัดเพชรบูรณ์ผ่าน บริษัท สยาม เอ็กซ์ปอร์ต มาร์ท จำกัด เพียงบริษัทเดียว มีปริมาณถึง 555 ตัน คิดเป็นเงิน 31,822,643 บาท และมีแนวโน้มเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากเกษตรกรรักษาคุณภาพของมะม่วงให้มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะปัจจุบันประเทศจีนนิยมมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองมาก เพราะคนจีนถือเป็นผลไม้มงคล ยิ่งในเทศกาลตรุษจีนและเช็งเม้ง ความต้องการในประเทศจีนสูงมาก ทำให้มีการเรียกชื่อสั้นๆ ว่า มะม่วงทอง

กลุ่มปรับปรุงคุณภาพมะม่วงเพื่อการค้าและการส่งออกนี้ ตั้งอยู่ที่แปลงมะม่วงของคุณไตรรัตน์ ไว้สำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สนใจปลูกและปรับปรุงคุณภาพมะม่วง โทรศัพท์ 089-858-7358