สทนช. รุกตั้งศูนย์เฉพาะกิจ จ. สุราษฎร์ฯ พร้อมบริหารจัดการน้ำภาคใต้ รับมือ “ปาบึก”

สทนช. รุกตั้งศูนย์เฉพาะกิจ จ.สุราษฎร์ฯ พร้อมบริหารจัดการน้ำภาคใต้ รับมือ “ปาบึก” คาดคืนพรุ่งนี้ 4 ม.ค. ฝนตกหนัก ห่วงคลื่นสูง 3 เมตร

สทนช. ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเปิดศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 เตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคใต้จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ปาบึก”

วันนี้ (3 มกราคม 2562) นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อเปิดศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤตเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “ปาบึก” ร่วมกับ นายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 โดยในวันนี้ได้มีการประชุม Video conference ไปยังสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมดเพื่อรายงานการเตรียมความพร้อมรับมือด้วย

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยา และ สสนก. ได้คาดการณ์ทิศทางของพายุโซนร้อน “ปาบึก” ปัจจุบันยังอยู่ในทะเลจีนใต้ บริเวณปลายแหลมญวณ ความเร็วประมาณ 95 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง และคาดว่าจะเคลื่อนตัวมาถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานีในคืน วันที่ 4 มกราคม 2562 ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ระหว่าง วันที่ 4-5 มกราคม 2562 และคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณฝนตกในพื้นที่ ประมาณ 200-300 มิลลิเมตร ต่อวัน อย่างแน่นอน สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างคือ อิทธิพลของพายุจะทำให้มีคลื่นสูงถึงประมาณ 3 เมตร บริเวณเกาะสมุย ซึ่งอยู่ในแนวที่พายุเคลื่อนผ่าน และบริเวณอ่าวปิดในพื้นที่อำเภอพุนพิน ท่าฉาง และไชยา คาดการณ์ว่าระดับน้ำจะสูงถึงประมาณ 4 เมตร ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ประกาศแจ้งงดการเดินเรือในทะเลตั้งแต่เที่ยงคืนวันนี้ (3 ม.ค. 62) เป็นต้นไป ในส่วนของเรือโดยสารไปเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ผู้ประกอบการเรือโดยสารได้ติดตามสถานการณ์รายชั่วโมง เพื่อประเมินการให้บริการ นอกจากนั้น จังหวัดยังได้มอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่เตรียมรับสถานการณ์ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วนแล้ว

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ เขื่อนขนาดใหญ่ที่น้ำมากกว่า 80% ของความจุ ที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน (86%) จังหวัดเพชรบุรี มีปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 1.02 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบาย 1.30 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนปราณบุรี (90%) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 3.17 ล้านลูกบาศก์เมตร ออก 9.23 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนรัชชประภา (83%) จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 1.31 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบาย 1.30 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย สทนช. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เร่งพร่องน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกเพิ่มในระยะต่อไป ในส่วนของการเตรียมการเผชิญเหตุ กรมชลประทานและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ ไปติดตั้งในทุกพื้นที่ ทั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด รถ รถแทรกเตอร์ รถบรรทุกขนาดใหญ่ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องผลิตน้ำดื่ม รถกู้ภัย และการจัดเตรียมถุงยังชีพ อีกทั้งประสานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุ

อย่างไรก็ตาม ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติจะได้มีการประชุม วิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อวางแผนเผชิญเหตุและให้ความช่วยเหลือประชาชน เริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (4 ม.ค.62) เป็นวันแรก จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์แบบเรียลไทม์ได้ที่เว็บไซต์ http://waterinfo.onwr.go.th/thaiwater30/