ชันโรง ผึ้งจิ๋ว มหัศจรรย์เงินล้าน เป็นประโยชน์แก่เกษตรกร ช่วยผสมเกสรติดผลดีมาก

นับเป็นเวลาเนิ่นนานมามากทีเดียว ที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับแมลงตัวเล็กชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์เหลือคณานับ เราเพิ่งมองเห็นประโยชน์จากเขาอย่างจริงจังเมื่อไม่นาน ต่างจากผึ้งญาติของเขาที่เราให้ความสำคัญและใช้ประโยชน์จากเขามาช้านาน เราได้มองข้าม ชันโรง ผึ้งตัวเล็กๆ ไปนานโข ชันโรงเป็นผึ้งชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กกว่าผึ้งพันธุ์ ประมาณ 2-3 เท่า พบว่า ในโลกมีชันโรงมากกว่า 400 ชนิด พบในทวีปอเมริกามากกว่า 300 ชนิด ส่วนใหญ่พบในทวีปอเมริกาใต้และทวีปเอเชีย

โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศและพบพันธุ์ชันโรงจำนวน 23 ชนิด ชันโรงเป็นผึ้งที่ปรับตัวได้เก่ง สามารถอาศัยอยู่ในรูตามเหลือบ ตามซอก ในโพรงต้นไม้ ในโพรงใต้ดิน ตามกองวัสดุ ท่อน้ำต่างๆ ทั้งตามบ้านพักที่อยู่อาศัย รูเสาบ้าน หรือแม้กระทั่งรูที่เสาไฟฟ้า ปัจจุบัน เราเริ่มให้ความสนใจกับ ชันโรง มีการเลี้ยงและใช้ประโยชน์จากชันโรงเพิ่มมากขึ้น

ที่มาของชื่อ

เรามักกลัวไม่กล้าเข้าใกล้ผึ้ง เพราะกลัวผึ้งจะต่อย ชันโรงตัวเหมือนกับผึ้ง จึงทำให้ชันโรงดูน่ากลัวไปด้วย คิดว่าชันโรงคงต่อยได้เหมือนผึ้ง แต่ชันโรงเป็นผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน จึงไม่สามารถต่อยได้ ชันโรงมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ที่ภาคกลาง เรียกว่า ตัวชันโรง หรือ ชันโรง ภาคเหนือ เรียกว่า แมงตานีหรือ ขี้ตั๋งนี ภาคอีสานเรียกว่า ขี้สูด เรียกกับชันโรงที่ทำรังใต้ดิน ภาคตะวันออก เรียกว่า ตัวชำมะโรง, อีโลม หรือ แมลงอีโลม ภาคตะวันตก เรียกว่า ตัวติ้ง, ตุ้งติ้ง และภาคใต้ เรียก แมลงอุง การเรียกผึ้งชนิดนี้ว่า ชันโรง ก็น่าจะเรียกตามพฤติกรรมในการเก็บชันของมัน สังเกตเห็นว่า ถ้าเรือลำที่ยาชันไว้ ตัวชันโรงจะมาตอมที่รอยยาชันแล้วเอาชันกลับไปที่รังของมัน ไม้ที่มียางมาก อย่างไม้สน หรือไม้ยาง ตัวชันโรงจะชอบมาตอม

 

การใช้ประโยชน์จากชันโรง การใช้ประโยชน์จากน้ำผึ้งของชันโรง

คนไทยรู้จักการใช้ประโยชน์ของผลผลิตตัวชันโรงที่ได้มาจากการเก็บรังชันโรงตามธรรมชาติมานาน ได้นำน้ำผึ้งของมันมาเพื่อใช้บริโภคโดยตรง เชื่อกันว่าน้ำผึ้งจากชันโรงมีสรรพคุณทางยามากกว่าน้ำผึ้งจากผึ้ง การใช้น้ำผึ้งเป็นองค์ประกอบของยา สมุนไพร เพราะเชื่อว่าน้ำผึ้งจากชันโรงมีคุณค่าทางยาสูง

ผลิตภัณฑ์จากชันโรง

การใช้ประโยชน์จากชันของชันโรง

ชัน หรือ พรอพอลิส (propolis) ของชันโรง คนไทยโบราณนำมาใช้ประโยชน์หลายด้าน ปัจจุบัน มีการผลิตชันของยางไม้ที่ชันโรงเก็บมาจากต้นพืชหลากหลายชนิด นำมาผสมรวมกับไขผึ้งที่ชันโรงผลิตขึ้นจากภายในลำตัวชันโรง ชันก็เป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) มีผลในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อโรคและเพิ่มภูมิคุ้มกัน ปัจจุบัน มีการนำชันมาใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หลายอย่าง เช่น ใช้เป็นยารักษาการติดเชื้อในช่องปาก รักษาเหงือกอักเสบ รักษาการอักเสบของผิวหนัง ทำเป็นยาหม่อง ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สบู่ ยาสีฟันแชมพูสระผม เป็นต้น ใช้ยาสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ภาชนะบรรจุน้ำ จอกน้ำ ขันน้ำ ใช้อุดยุ้งฉางที่สานด้วยไม้ไผ่ ใช้อุดเครื่องดนตรี อย่าง แคน ใช้ติดลูกระนาดกับระนาด ใช้ทำวัตถุมงคล ใช้อุดฐานพระ เป็นต้น

ไข่ชันโรง

คนสมัยก่อนใช้ชันจากรังชันโรงอุดรูรั่วของเรือขนาดเล็กน้อย เรียกว่า ยาเรือ (การยาเรือ ปัจจุบัน คนอาจไม่เคยเห็นและรู้จักการยาเรือ ซึ่งเป็นการนำเรือที่ต่อด้วยไม้ทั้งลำเล็กและลำใหญ่ขึ้นมาบนบก เรียกว่า ขึ้นคานสำหรับเรือใหญ่ ถ้าเป็นเรือขนาดเล็ก เช่น เรือบด เรือสำปั้น ใช้การคว่ำเรือแล้วยาชัน ส่วนเรือใหญ่ต้องตอกยัดด้ายดิบลงในร่องรอยต่อ เรียกว่า การตอกหมันแล้วยาด้วยชันอุดลงตามร่องรอยต่อของกระดาน เพื่อกันรั่วไม่ให้น้ำเข้า เนื่องจากใช้ชันปริมาณมาก จึงใช้ชันผงผสมกับน้ำมันยาหรือน้ำมันยางและปูนแดงเทลงในกะลามะพร้าวคนให้เข้ากัน

 

ประโยชน์จากชันโรงในทางเกษตรกรรม

ชันโรง มีบทบาทสำคัญในการช่วยผสมเกสร ทั้งพืชป่าและพืชที่เพาะปลูก ปัจจุบันชันโรงมีความสำคัญต่อชาวสวนผลไม้อย่างมาก โดยเฉพาะผลไม้ที่ให้ผลตอบแทนสูง เพราะชันโรงจะช่วยผสมเกสรให้กับดอกไม้ผลให้ติดผลได้มากกว่าการปล่อยให้มันผสมกันเองตามธรรมชาติ จึงมีผู้หันมาเลี้ยงชันโรงเพื่อใช้ประโยชน์ในการผสมเกสรหรือให้เช่ารังชันโรง

ส้มโอขาวใหญ่ มีชันโรงช่วยผสมเกสรติดผลดีมาก

จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงชันโรง

ชันโรง เป็นแมลงประจำถิ่น มีวิวัฒนาการเข้ากันกับพืชในท้องถิ่นมาช้านาน ชันโรงสามารถนำมาเลี้ยงได้เหมือนกับผึ้ง จากประโยชน์หลายๆ ด้าน ทำให้มีผู้สนใจเลี้ยงชันโรง ดังเช่น ผู้เลี้ยงชันโรงรายหนึ่งคือ คุณวสันต์ ภูผา ในวัย 55 ปี อยู่หมู่ที่ 4 ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงชันโรง (ไม่มั่นใจว่าจะเป็นรายแรกของประเทศหรือเปล่า)

คุณวสันต์ ภูผา (ขวา) และลูกชาย

เดิมที คุณวสันต์ เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงผึ้ง เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว หลังจากที่ไปอบรมการเลี้ยงผึ้ง โดย รศ.ดร. สมนึก บุญเกิด ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในโครงการต้นกล้าอาชีพมา แล้วได้นำความรู้นั้นมาลองเลี้ยงผึ้งบ้าง ด้วยเงินลงทุนกว่า 200,000 บาท เลี้ยงผึ้ง จำนวน 200 รัง เลี้ยงได้เพียง 1 ปี ผึ้งถูกนกจาบคา นกสีสวยจับกินจนหมด จึงขาดทุน เนื่องจากยังขาดประสบการณ์ในการเลี้ยงผึ้ง

ต่อมา รศ. สมนึก บุญเกิด ได้แนะนำให้ลองเลี้ยงชันโรง ความเสี่ยงจะมีน้อยกว่าผึ้ง เขาจึงออกค้นหารังชันโรงตามบ้าน พบรังชันโรงและจึงแคะรังเอาใส่ลังไม้ได้ 8 รัง ต่อจากนั้น คุณวสันต์ ได้ศึกษาค้นคว้าพฤติกรรมของชันโรงด้วยตัวเองทั้งกลางวันกลางคืน ในเวลาตอนกลางคืน ประมาณ 4-5 ทุ่ม เขาต้องมาดูที่ลังไม้ของชันโรง ว่าระหว่างนี้พฤติกรรมของมันเป็นเช่นไร ใช้เวลาศึกษาพฤติกรรมของชันโรงทั้ง 8 รัง ลองผิดลองถูกด้วยตนเองอยู่ 2 ปี จนมีภูมิรู้ข้อมูลเบื้องต้นหลายอย่างเกี่ยวกับพฤติกรรมความเป็นอยู่ของชันโรงในระดับหนึ่ง จนมั่นใจว่าสามารถที่จะเลี้ยงชันโรงได้

 

แหล่งอาหารของชันโรง

การเลี้ยงชันโรงไม่ใช่มีตัวชันโรงในลังไม้แล้วไปตั้งไว้ ปล่อยให้มันหากินเอง ต้องหาแหล่งอาหารให้มันด้วย แหล่งอาหารจัดเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงชันโรง พฤติกรรมในการหากินของชันโรงต่างจากผึ้ง ที่ผึ้งหากินไกลได้ 1-3 กิโลเมตร ส่วนชันโรงออกบินหากินได้ไม่ไกล บินหากินได้ในรัศมี 300 เมตร จึงต้องคำนึงถึงแหล่งอาหารใกล้รังของมันด้วยว่ามีเพียงพอตลอดทั้งปีหรือไม่

การเลี้ยงชันโรงที่ไหนก็เลี้ยงได้ แต่จะเลี้ยงให้มันอยู่ได้ตลอดไปได้หรือไม่ ตามสวนผลไม้ได้มีการนำชันโรงไปเลี้ยงเพื่อหวังให้พวกมันช่วยผสมเกสร แต่ก็ไม่ผิดหวัง เพราะพวกมันช่วยผสมเกสรให้เป็นอย่างดี หลังจากสิ้นสุดฤดูที่ดอกไม้ผลบานหมดแล้วก็หมดแหล่งอาหารของพวกมันไปด้วย เพราะไม่มีดอกไม้จากต้นไม้อื่นให้เป็นอาหารของมันได้ เนื่องจากไม่มีความหลากหลายของพรรณไม้

รังชันโรงใต้ต้นส้มโอขาวใหญ่

แต่ในพื้นที่ของคุณวสันต์ ตัดปัญหาเรื่องแหล่งอาหารไปได้ เพราะมีแหล่งอาหารอยู่รายรอบพื้นที่ แหล่งอาหารหลักเป็นพื้นที่สวนส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ จำนวน 10 ไร่ ที่คุณวสันต์ปลูกไว้ ส่วนลิ้นจี่ไม่สามารถพึ่งหวังได้ เนื่องจากมันไม่ได้ออกดอกทุกปี กับผลไม้อื่นๆ อีก ที่มีอยู่รอบๆ โดยเฉพาะมะพร้าวแหล่งอาหารสำรองที่มีให้น้ำหวานกินตลอดปี จึงเป็นความได้เปรียบของพื้นที่ที่ปลูกผลไม้ไว้หลายชนิด สวนผลไม้ทางภาคตะวันออกนำชันโรงไปเลี้ยง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมีดอกไม้ที่ให้น้ำหวานมันเพียงหน้าเดียว ไม่ได้มีตลอดปี

 

การกำหนดขนาดของลังไม้

การทำลังไม้ คุณวสันต์ อาศัยกำลังหลักจากบุตรชาย คุณพงษ์ประยงค์ (แบ๊งค์) ในการเลี้ยงชันโรง โดยช่วยกันทำลังไม้ให้ชันโรง โดยกำหนดขนาดเท่ากระดาษ A4 มีความกว้าง 21 เซนติเมตร ความยาว 30 เซนติเมตร และความสูง 10-15 เซนติเมตร ใช้ไม้พาเลท (ไม้รองของ) ทำเป็นกล่องไม้ 6 ด้าน เป็นแผ่นฝาปิด-เปิดด้านหนึ่ง ที่กำหนดขนาดเท่ากระดาษ A4 ก็เพราะเป็นขนาดที่เหมาะสมและพอดีกับแผ่นใส (แผ่นใสงานเขียน หรือแผ่นใสถ่ายเอกสาร) เพราะแผ่นใสนี้จะปิดไว้ด้วยกาวก่อนที่จะปิดตามด้วยฝาแผ่นไม้ขนาดกระดาษ A4 เวลาเปิดฝาก็จะมองเห็นรังชันโรงผ่านแผ่นใส ชันโรงบินขึ้นมาไม่ได้ ทำรูไว้ให้เข้า-ออก เพียงรูเดียว รูสวมด้วยปากขวดพลาสติก (ปากขวดน้ำดื่ม หรือปากขวดน้ำอัดลม) เป็นเกลียว ใช้ฝาปิด-เปิดได้ การปิดฝารูเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายรัง ไม่ให้ชันโรงตื่นบินออกจากรัง

 

การเลี้ยง และการดูแล

เมื่อทุกอย่างพร้อม โดยเฉพาะแหล่งอาหารไม่มีศัตรูของชันโรงรบกวน เนื่องจากนกจาบคาไม่ชอบกินชันโรง นกจาบคาจึงไม่ใช่ศัตรูของชันโรงและไม่มีปัญหาอุปสรรคใดแล้ว จึงเริ่มต้นการเลี้ยงชันโรง ศัตรูจะมีเพียงจิ้งจกกับมวนเพชฌฆาต การเลี้ยงไม่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มาก จึงทำให้ง่ายต่อการจัดการรังและการเคลื่อนย้ายเพื่อการนำไปผสมเกสรให้พืชต่างๆ ทำลังไม้ไว้ทั้งหมด 600 ลัง (หรือมีตัวชันโรงอยู่ 600 รัง) ตั้งวางบนชั้นไม้ในโรงเรือนมีจำนวน 300 ลัง ในโรงเรือนมีชั้นอยู่ 3 ชั้น ทำชั้นไว้ 2 ข้าง ตรงกลางว่าง ชั้นบนสุดอยู่ในระดับสายตา มองเห็นและทำงานได้ โรงเรือนติดบ้านพักและตั้งไว้ในสวนส้มโอ จำนวน 300 ลัง วางบนขาตั้งท่อพีวีซี สูง 35-40 เซนติเมตร

ชั้นวางชันโรง

ในพื้นที่ 1 ไร่ จะวางลังไม้ได้ 12 ลัง ชันโรงที่เลี้ยงมีอยู่ 6 สายพันธุ์ คือ พันธุ์คิชฌกูฏ พันธุ์จิ๋วดุ พันธุ์ถ้วยดำ พันธุ์เชียงใหม่ พันธุ์หลังลาย และพันธุ์ขนเงิน แต่ละสายพันธุ์จะให้น้ำผึ้งที่แตกต่างกัน พันธุ์จิ๋วหรือซุปเปอร์จิ๋ว จะให้น้ำผึ้งสีใส พันธุ์เชียงใหม่สร้างคล้ายรังตัวต่อ สร้างรังเป็นชั้นๆ

ภารกิจหลักประจำทุกวันที่ต้องทำคือ เปิดฝาลังไม้ออกแล้วปิด เป็นเทคนิคในการเตือน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชันโรงเกิดความเคยชินกับแสงสว่าง จะลดความดุร้ายของมันลงไปได้ ถ้าไม่เปิดฝาลังไม้ให้ได้รับแสงสว่าง หรือนานๆ ไปเปิดสักครั้ง ชันโรงจะดุเกี้ยวกราดอย่างมาก ดังนั้น จึงต้องแง้มหรือเปิดฝาลังไม้ทุกวัน เพื่อให้ได้รับแสงสว่าง อาการดุร้ายของมันก็จะลดลง ทำให้ง่ายต่อการแคะรังเพื่อนำมาบีบน้ำผึ้งและสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายรัง

 

วรรณะของชันโรง

ภายในรังชันโรงจะประกอบไปด้วย ชันโรง 3 วรรณะ เช่นเดียวกันกับผึ้ง คือ วรรณะชันโรงนางพญา วรรณะชันโรงตัวผู้และวรรณะชันโรงงาน ชันโรงมีวงจรชีวิตเช่นเดียวกับผึ้ง คือไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย

ชันโรงนางพญา ทำหน้าที่ในการวางไข่และควบคุมรัง วางไข่ได้ทั้งกลางวันกลางคืน เซลล์ของชันโรงนางพญามีขนาดใหญ่กว่าเซลล์ของชันโรงงาน จะถูกสร้างขึ้นมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ เช่น ฤดูดอกไม้บาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงสำหรับการขยายพันธุ์ของชันโรง ชันโรงนางพญาจะผสมพันธุ์กับชันโรงตัวผู้ภายนอกรังหรือผสมพันธุ์กันภายในรัง ชันโรงนางพญามีอายุ 10-20 ปี ออกไข่ตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่ 10 ออกไข่วันละประมาณ 50 ฟอง

นางพญา

ชันโรงตัวผู้ ทำหน้าที่ผสมพันธุ์กับชันโรงนางพญาเพียงอย่างเดียว ไม่ต่างจากผึ้งตัวผู้ การเกิดชันโรงตัวผู้ของรังจะสร้างขึ้นมาในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ถ้าชันโรงตัวผู้บินออกจากรังไปแล้ว จะไม่สามารถบินกลับเข้ารังได้อีก เพราะชันโรงงานที่ทำหน้าที่รักษารังจะไม่ยอมให้ชันโรงตัวผู้กลับเข้ามาในรังได้

ชันโรงงาน เป็นวรรณะที่มีจำนวนมากที่สุดภายในรัง มีหน้าที่ทำงานโดยแบ่งหน้าที่การทำงานตามช่วงอายุ เช่น เมื่ออายุยังน้อยมีหน้าที่คอยป้อนอาหารให้กับชันโรงนางพญา ทำความสะอาดรัง สร้างซ่อมแซมรวงรัง เลี้ยงดูตัวอ่อน และป้องกันระวังรักษารัง พวกอายุมากมีหน้าที่หาอาหารเพื่อนำมาเก็บสะสมไว้ภายในรัง ชันโรงงานตัวหนึ่งบินเข้า-ออกรัง ประมาณ 16 ครั้ง ต่อวัน ชันโรงงานมีอายุขัยประมาณ 6 เดือน ในวันหนึ่งๆ มีชันโรงตายไปประมาณ 20 ตัว

 

การให้เช่ารัง

การให้เช่ารัง เป็นแนวทางหนึ่งที่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ปฏิบัติ ในช่วงที่ผลไม้เริ่มผลิดอก ชาวสวนผลไม้ทางภาคตะวันออกจะมาเช่ารังชันโรงไปตั้งที่สวน เพื่อให้ช่วยผสมเกสรกับดอกไม้ผลเหล่านั้น โดยคิดค่าเช่า รังละ 30 บาท เช่าไปครั้งละ 200 รัง อยู่เป็นเดือน ถ้าเป็นสวนมะม่วง จะเช่าอยู่ 15 วัน เช่นเดียวกับสวนลิ้นจี่ เช่าอยู่ 15 วัน ส่วนสวนเงาะนั้นต้องเช่าอยู่นานเป็นเดือน ไม่มีใครเช่าไปไว้ที่สวนทุเรียน เนื่องจากดอกทุเรียนบานกลางคืน แต่ชันโรงออกหาน้ำหวานช่วงตอนกลางวัน

ชาวสวนบางท่านบอกว่า ดอกทุเรียนเริ่มบานตั้งแต่ตอนเย็นๆ แต่ก็เป็นช่วงที่ชันโรงกลับเข้ารังกันหมด การเช่าต้องทำสัญญาการเช่าโดยมีข้อตกลงว่า ถ้ารังหาย ตัวชันโรงตายยกรัง ไม่ว่ากรณีใด จะต้องชำระเงินให้เจ้าของรัง 2,000 บาท ต่อรัง แม้เจ้าของรังชันโรงจะได้น้ำผึ้งปริมาณมาก แต่ก็เสี่ยงกับความไม่ซื่อสัตย์ของเจ้าของสวนบางคน เช่น เกิดการตายยกรังมักเกิดจากการใช้สารเคมีของเจ้าของสวน หรือความเจ้าเล่ห์ของเจ้าของสวนแอบแยกขยายรังชันโรงที่เช่าไป เป็นต้น นอกจากเช่ารังแล้ว ยังขายยกรังให้กับชาวสวน ราคารังละ 1,200-1,500 บาท เช่น ขายให้กับสวนสตรอเบอรี่ สวนเมล่อน เป็นต้น

การเก็บน้ำผึ้ง

การเก็บน้ำผึ้ง ชันโรงที่ปล่อยตามธรรมชาติ รังอยู่ที่สวนส้มโอ สวนมะพร้าว ทิ้งไว้เกือบปีจึงจะสามารถเก็บน้ำผึ้งได้ รังหนึ่งได้น้ำผึ้งประมาณ 100 กรัม ถ้ารังที่เช่าไปไว้ตามสวนผลไม้ที่อยู่ช่วงออกดอกเพียงแค่ 7 วัน ก็สามารถเก็บน้ำผึ้งได้ รังหนึ่งได้น้ำผึ้งประมาณ 1 กิโลกรัม ได้มากกว่าปล่อยให้อยู่เองตามธรรมชาติหลายเท่า แต่ช่วงฤดูที่ดอกไม้ในสวนผลไม้บานมีเพียงช่วงสั้นๆ ไม่ได้มีตลอดปี โดยจะเก็บน้ำผึ้งในวันที่มีแสงแดดจ้า เพราะหลังจากเปิดฝาลังไม้และดึงแผ่นใสออกแล้วให้ถอยห่างออกมา ชันโรงจะแตกตื่นบินออกมา และค่อยๆ บินออกห่างจากรัง ทิ้งไว้สักพัก 4-5 นาที แล้วจึงเข้าไปได้ วันที่มีแสงแดดชันโรงจะไม่ดุร้าย หากเปิดฝาลังไม้และดึงแผ่นใสออกในช่วงที่อากาศมืดครึ้ม หรือแดดสลัวแล้วชันโรงจะไม่บินไปไหนไกล คงบินวนอยู่ใกล้ๆ รัง และชันโรงจะดุ บินมาตอมกัดสร้างความลำบากในการเก็บน้ำผึ้งได้
การเก็บน้ำผึ้งไม่จำเป็นต้องสวมชุดป้องกันเหมือนกับการเก็บน้ำผึ้งจากผึ้ง เพียงแต่ให้หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าสีดำ เพราะชันโรงจะมารุมตอมตามเสื้อผ้าดำ ดังนั้น การเก็บน้ำผึ้งหรือการปฏิบัติการใดๆ กับรังชันโรง ควรสวมใส่เสื้อผ้าสีขาวหรือสีอ่อนๆ

หลังจากที่ชันโรงบินออกจากรังไป จึงแคะรังออกด้วยเกียงเหล็กขนาดเล็ก ทำความสะอาดด้วยน้ำร้อนแล้วแคะรังออกมา และขูดทำความสะอาดรังไปด้วย นำรังมาบีบเอาน้ำผึ้งออกด้วยมืออย่างประณีต ไม่สามารถใช้เครื่องปั่นน้ำผึ้งได้เหมือนกับรังผึ้ง แล้วจึงกรองเอาตะกอนและสิ่งแปลกปลอมออก บรรจุลงในขวด น้ำผึ้งชันโรงออกรสเปรี้ยวนิดๆ ถ้าชันโรงได้น้ำหวานจากดอกมะขาม น้ำผึ้งที่ได้จะเปรี้ยวมาก หากเก็บไว้นานจะเปรี้ยวและเป็นสีคล้ำ

 

การแยกรังเพื่อขยายพันธุ์   

ใน 1 ปี แยกรังได้ 2 ครั้ง แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถแยกขยายรังชันโรงโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ได้เหมือนกับการแยกขยายรังของผึ้งพันธุ์ เพราะไม่สามารถสร้างชันโรงนางพญาด้วยวิธีการย้ายตัวอ่อนได้ การขยายพันธุ์ชันโรงต้องอาศัยความสามารถและประสบการณ์ของผู้เลี้ยง ต้องอยู่ในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมในช่วงที่มีอาหารสมบูรณ์ (ช่วงฤดูฝน) และต้องเป็นชันโรงที่มีตัวเต็มวัย ทั้งตัวอ่อนและดักแด้ โดยแยกเอารังที่มีไข่แก่ ไข่อ่อน เกสรและตัวเต็มวัยไปอย่างละครึ่งในปริมาณพอสมควร ให้มีหลอดนางพญาติดไปด้วยใส่ในรังใหม่

รูเข้า-ออก ของชันโรง

การดูไข่อ่อน ไข่แก่ สังเกตได้จากสี ไข่อ่อนมีสีน้ำตาลถึงดำ ส่วนไข่แก่มีสีขาว แยกไข่ออกมาจากรัง ครั้งละประมาณ 1,000 ฟอง นำใส่ลงในลังไม้วางใกล้ปากทางเข้าออกของรัง ใช้ไข (ขี้ชัน) แปะบริเวณทางเข้าเพื่อล่อให้ชันโรงงานเข้ามาในรังใหม่ และปิดทางเข้ารังเดิม เพื่อไม่ให้ชันโรงย้อนกลับไปหารังเดิมอีก ชันโรงมีความจำแค่ 3 วัน หลังจากนั้นมันก็จะลืมตำแหน่งที่อยู่ของรังเดิม

 

ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งและชันจากชันโรง

ผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งและชันส่วนใหญ่ส่งขายต่างประเทศ แต่ก็มีผลิตภัณฑ์จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจ เช่น น้ำผึ้งชันโรง บรรจุขวดขนาด 100 กรัม ราคา 150 บาท ขนาด 350 กรัม ราคา 500 บาท สบู่จากชันของชันโรง  ครีมอาบน้ำ ยาหม่อง เป็นต้น

น้ำผึ้งชันโรง (น้ำหวานจากชันโรง)