เกษตรกรหนองบัวลำภู วิสัยทัศน์ขั้นเทพ ปลูกไม้พะยูง 20,000 ต้น เศรษฐีอยู่แค่เอื้อม

เวลานี้หากจะเอ่ยถึงชื่อไม้ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก เชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะนึกถึง ไม้พะยูง รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน ทั้งนี้เนื่องจาก ไม้พะยูง เป็นไม้เนื้อแข็ง เนื้อไม้มีสีสันและลวดลายที่สวยงาม เป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน นำไปสู่ปัญหาการลักลอบตัดไม้ภายในประเทศ

ประกอบกับไม้พะยูงหายาก และเป็นไม้หวงห้าม “ปลูกได้แต่ตัดยาก” มีการประเมินกันว่า การลักลอบซื้อขายไม้พะยูงขณะนี้ ลูกบาศก์เมตรละ 200,000-600,000 บาท เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การตัดใช้สอยหรือตัดจำหน่ายจะยุ่งยากก็ตาม แต่มีเกษตรกรจำนวนหนึ่ง ได้ปลูกต้นพะยูงเพื่อเป็นการปลูกป่า สร้างความสมดุลทางธรรมชาติและเป็นเงินออมแก่ตนเองหรือลูกหลาน อย่างเช่น

คุณทรงเดช บุญอุ้ม อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 153 หมู่ที่ 7 บ้านศิลามงคล ตำบลหนองสวรรค์ อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู โทร. (087) 061-6891 ซึ่งเป็นประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ด้วย

คุณทรงเดช บุญอุ้ม เจ้าของสวนพะยูง ร่วม 20,000 ต้น

คุณทรงเดช เล่าให้ฟังว่า มีพื้นที่การเกษตรหลายแปลง รวมกันประมาณ 89 ไร่ มีอาชีพหลักคือ ทำการเกษตร โดยทำในรูปแบบไร่นาสวนผสม ได้แก่ ทำนา 30 ไร่ ปลูกพืชผสมผสานหลายอย่าง ได้แก่ กล้วยหอมทอง 400 กอ กล้วยน้ำว้า 600 กอ เพกา 130 ต้น มะพร้าวน้ำหอมกว่า 100 ต้น

ปลูกพืชล้มลุก เช่น ข้าวโพดข้าวเหนียว รุ่นละ 1-2 ไร่ ถั่วลิสง 10 ไร่ มีสระน้ำ ประมาณ 5 ไร่ ได้ปล่อยปลานิล ปลาตะเพียน ปลายี่สก และปลานวลจันทร์ รวมประมาณ 5,000 ตัว เลี้ยงวัว 10 ตัว และไก่ สามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย แต่กิจกรรมที่ผมภูมิใจและเป็นการสร้างความสมดุลให้แก่ธรรมชาติและเป็นเงินออมด้วยคือ การปลูกไม้พะยูง พื้นที่ 49 ไร่ หรือประมาณ 19,600 ต้น

คุณทรงเดช บุญอุ้ม กับ พะยูง รุ่นแรกราว 400 ต้น ปลูกปี 2537 อายุ 23 ปี มูลค่าต้นละนับแสนบาท

ได้เริ่มปลูกไม้พะยูง ตั้งแต่ ปี 2537 (14 พฤษภาคม) พื้นที่ 2 ไร่ ใช้ระยะปลูก 2×4 เมตร (200 ต้น/ไร่) ปลูกไม้สัก 5 ไร่ ใช้ระยะปลูก 2×4 เมตร โดยกรมป่าไม้ได้สนับสนุนต้นกล้าไม้และเงิน 3,000 บาท ต่อไร่ แบ่งจ่าย 5 ปี

ปลูก รุ่นที่ 2 ปี 2557 และ 2558 เพิ่มอีกราว 18,000 ต้น

ต่อมาเห็นว่า ไม้พะยูง โตเร็วและมีมูลค่าสูง ตลาดต้องการสูง น่าจะเป็นการออมเงินที่มีมูลค่าสูงไว้ให้ลูกหลาน จึงได้ปลูกมากขึ้น ในปี 2557-2558 โดยการสนับสนุนของกรมป่าไม้ 3,000 บาท/ไร่ แต่คราวนี้แบ่งจ่าย 3 ปี โดยใช้ระยะปลูก 2×2 เมตร (400 ต้น/ไร่) เต็มพื้นที่ 49 ไร่

วิธีการปลูก การดูแลรักษา

เริ่มจากไถเตรียมดิน จากนั้นเกลี่ยหน้าดินให้เรียบ แล้วปลูกเหมือนกับการปลูกป่าทั่วไป ขุดหลุมเท่าขนาดถุงกล้าไม้ ไม่ได้ขุดหลุมใหญ่เหมือนกับการปลูกไม้ผลแต่อย่างใด โดยใช้ระยะปลูก 2×2 เมตร ปลูกฤดูฝน ถ้าฝนตกก็ไม่ต้องให้น้ำ หลังปลูก 1 เดือน ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา ต้นละ 1 ช้อนแกง และใส่อีกครั้งปลายฤดูฝนในช่วงสิงหาคมถึงกันยายน

เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งหากมีการปลูกพืชแซมในช่องว่างระหว่างแถว จะทำให้มีรายได้เพิ่ม เป็นการให้น้ำแก่ไม้พะยูงไปในตัวด้วย พืชที่ปลูก ได้แก่ ถั่วลิสง 10 ไร่ ปอเทือง 22 ไร่ ปลูกหญ้าเนเปียร์ 2 ไร่ และข้าวโพดข้าวเหนียว

ช่องว่างระหว่างไม้พะยูง ได้ปลูกพืชแซม เช่น หญ้าอาหารสัตว์ ถั่วลิสง ข้าวโพดข้าวเหนียว ฯลฯ

 

เลี้ยงวัว เป็นรายได้ระยะกลาง

จากนั้นก็ย้ายไปปลูกแปลงอื่นๆ ต่อไป คือให้ไม้พะยูงได้รับน้ำด้วยเช่นกัน จะทำให้เรามีรายได้หมุนเวียนตลอดปี และจากการสังเกตพบว่า หากพะยูงได้รับน้ำในช่วงฤดูแล้งภายใน 2-3 ปี จะมีการเจริญเติบโตดีมาก แต่ก็ทำได้เพียงไม่กี่ไร่ และจากการสังเกตหากให้น้ำฤดูแล้งด้วยสัก 2-3 ปีแรก เมื่ออายุ 20 ปี จะได้ขนาดโตพอๆ กับปลูกแบบอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว 25 ปี

“ต้นพะยูงที่ปลูก ปี 2537 ขณะนี้ประมาณ 23 ปี จำนวน 400 ต้น แต่ละต้นน่าจะได้ไม่ต่ำกว่าครึ่งลูกบาศก์เมตร หากประเมินลูกบาศก์เมตรละ 200,000 บาท (ขั้นต่ำ) พะยูงจะมีมูลค่า ต้นละ 100,000 บาท เลยทีเดียว จึงขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรมาปลูกกันให้เยอะๆ เพราะขณะนี้กรมป่าไม้กำลังหาแนวทางแก้ไขระเบียบเพื่อให้ตัดขายได้ง่ายขึ้น” คุณทรงเดช กล่าว

คุณจรัส เต็มเมธาวิทยาเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้หนองบัวลำภู (ซ้าย) เยี่ยมชม

 

สระน้ำ 5 ไร่ ใช้เลี้ยงปลาและปลูกพืชหมุนเวียนแซมพะยูงช่วงฤดูแล้ง

คุณจรัส เต็มเมธาวิทยาเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้หนองบัวลำภู สำนักงานตั้งอยู่ที่ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู โทรศัพท์ (081) 708-0687 โทรศัพท์ (042) 311-554 ให้ข้อมูลว่า ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกป่าตามโครงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์
1. เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกไม้เศรษฐกิจ สำหรับการใช้สอยให้เพียงพอภายในประเทศ และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร
2. เพื่อสร้างอาชีพด้านป่าไม้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น
3. เพื่อเพิ่มจำนวนต้นไม้ที่จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยสร้างสมดุลธรรมชาติ

โดยมีหลักเกณฑ์ในการสนับสนุนจากภาครัฐ ได้แก่
1. สนับสนุนกล้าไม้คุณภาพตามความต้องการชนิดต่างๆ จำนวน ไร่ละ 200 ต้น
2. สนับสนุนเงินทุนแก่เกษตรกร ไร่ละ 3,000 บาท โดยแบ่งจ่าย 3 ปี ตามหลักเกณฑ์ดังนี้

ปีที่ 1 จ่ายไร่ละ 1,500 บาท โดยปลูก 200 ต้น ต่อไร่ เมื่อสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ตรวจสอบผลการปลูกต้นไม้ตามโครงการถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ต้องมีจำนวนต้นไม้ที่ปลูกเฉลี่ย ร้อยละ 90 ขึ้นไป ของพื้นที่ที่ร่วมโครงการ

ปีที่ 2 จ่ายไร่ละ 800 บาท เมื่อตรวจสอบผลการปลูกซ่อมบำรุงรักษาต้นไม้และมีจำนวนต้นไม้ที่ปลูกเฉลี่ย ร้อยละ 80 ของพื้นที่ที่ร่วมโครงการ

ปีที่ 3 จ่ายไร่ละ 700 บาท เมื่อตรวจสอบผลการปลูกซ่อมบำรุงรักษาต้นไม้และมีจำนวนต้นไม้ที่ปลูกเฉลี่ย ร้อยละ 70 ของพื้นที่ที่ร่วมโครงการ

สำหรับต้นไม้ที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นไม้สัก ไม้ยางนา ไม้พะยูง หรือไม้หวงห้ามอื่นๆ สามารถนำไปขึ้นทะเบียนสวนป่าตามพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. 2535 หรือแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อความสะดวกในการแจ้งตัดฟัน ทำไม้เพื่อใช้สอยส่วนตัว หรือเพื่อการค้าได้

ซึ่งในปัจจุบัน ทางกรมป่าไม้ กำลังปรับปรุงกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าของพื้นที่ที่ปลูกต้นไม้หวงห้ามในที่ดินของตนเองสามารถตัดฟันแปรรูปได้ โดยไม่ยุ่งยากในขั้นตอนการขออนุญาต ซึ่งจะทำให้ประชาชนให้ความสนใจในการปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อการค้า ประชาชนจะสามารถออมเงินออมทรัพย์ในรูปของต้นไม้ได้มากขึ้น ซึ่งกรมป่าไม้มีโครงการส่งเสริมหลายรูปแบบ ทั้งการสนับสนุนกล้าไม้ ความรู้ทางวิชาการ และเงินอุดหนุนต่างๆ

จะเห็นว่า การปลูกไม้พะยูง เป็นไม้เศรษฐกิจและเพื่อการค้า คงจะเป็นจริงในไม่ช้านี้ ประกอบกับไม้พะยูงเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานปลูกเป็นมงคลประจำจังหวัดหนองบัวลำภูด้วย ดังนั้น จึงขอเชิญชวนท่านทั้งหลายใช้โอกาสนี้ปลูกไม้พะยูง เพื่อเป็นการออมเงินไว้ในไร่นา ทำเร็วราคาดีกว่า ทำช้าราคาอาจตก ไม่แน่เหมือนกันนะครับ ผ่านไป 20 ปี อาจเป็นเศรษฐีโดยไม่รู้ตัว