“หอมหัวใหญ่” กับการรักษาโรค

หอมหัวใหญ่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ลดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ มีฤทธิ์มากในการขับสารพิษทั้งที่เป็นโลหะหนักและพยาธิ

หอมหัวใหญ่ (Allium cepa) เป็นพืชในตระกูลเดียวกับกระเทียม อุดมไปด้วยธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม กำมะถัน ซีลีเนียม เบต้าแคโรทีน กรดโฟลิก และฟลาโวนอยด์เควอเซทิน

หอมหัวใหญ่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ลดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ มีฤทธิ์มากในการขับสารพิษทั้งที่เป็นโลหะหนักและพยาธิ เควอเซทินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีมาก

คอเลสเตอรอลและความดันเลือดสูง

หอมหัวใหญ่มีผลคล้ายกระเทียมในการลดคอเลสเตอรอลและความดันเลือด มีสารไซโคลอัลลิอิน ที่สามารถละลายลิ่มเลือดที่จับตัวอุดขวางทางเดินเลือดได้

ผลการศึกษากลุ่มคนกินมังสวิรัติในประเทศอินเดียที่กินกระเทียม 10 กรัม ต่อสัปดาห์ และกินหอมหัวใหญ่ 200 กรัม ต่อสัปดาห์ มีปริมาณคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์เฉลี่ย 172 และ 75 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ

ในขณะที่ค่าดังกล่าวในกลุ่มควบคุม (ไม่ได้กินกระเทียมและหอมหัวใหญ่) คือ 208 และ 109 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ

ส่วนการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า การกินหอมหัวใหญ่สดวันละครึ่งหัวในผู้ป่วยที่มีระดับไขมันเอชดีแอลต่ำใกล้จุดวิกฤติเป็นเวลา 2 เดือน เพิ่มปริมาณไขมันเอชดีแอลในผู้ป่วยดังกล่าวจากร้อยละ 20 เป็น 30 มีผลลดระดับคอเลสเตอรอลในภาพรวม และเพิ่มอัตราส่วนระหว่างไขมันเอชดีแอล (ไขมันดี) ต่อไขมันแอลดีแอล (ไขมันเลว) อย่างน่าพอใจด้วย

 

ภูมิแพ้และหอบหืด

หอมหัวใหญ่มีความสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไลพอกซีจีเนสและไซโคลออกซีจีเนส ซึ่งสร้าง  สารพรอสตาแกลนดินและทรอมบ็อกเซนซึ่งเป็นสารก่อการอักเสบ เมื่อให้หนูตะเภากินสารสกัดแอลกอฮอล์ของหอมหัวใหญ่ 1 มิลลิลิตร พบว่าสามารถลดอาการหอบหืดจากการทดลองสูดดมสารก่อภูมิแพ้ได้

หอมหัวใหญ่มีเควอเซทิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฤทธิ์เชิงเภสัชวิทยาของมัน พบว่าเควอเซทินสามารถยับยั้งการปล่อยฮิสตามีนจากมาสต์เซลล์ และยับยั้งการสร้างสารที่เกี่ยวข้องกับภูมิแพ้ เช่น ลิวโคทรีนได้

เควอเซทินพบมากที่สุดในผิวชั้นต้นๆ ของหอมหัวใหญ่ และพบมากกว่าในหอมหัวใหญ่สีม่วงและหอมแดง แต่ฤทธิ์ป้องกันอาการหอบหืดและภูมิแพ้คาดว่ามาจากสารกลุ่มไอโซไทโอไซยาเนต

 

เบาหวาน

หอมหัวใหญ่แสดงฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ในผลงานการศึกษทางการแพทย์และทางคลินิกหลายชิ้น สารออกฤทธิ์ในหอมหัวใหญ่เชื่อว่าเป็นสารอัลลิลโพรพิลไดซัลไฟด์ (allyl propyl disuldhide หรือ APDS) และมีฟลาโวนอยด์อื่นร่วมด้วย

หลักฐานจากการทดลองและการสังเกตในคลินิกพบว่า APDS ลดระดับกลูโคสโดยแข่งกับอินซูลิน (ซึ่งเป็นไดซัลไฟด์เช่นกัน) ในการเข้าสู่จุดยับยั้งการทำงานโดยอินซูลิน (insulin-inactivating sites) ในตับ ทำให้มีอินซูลินอิสระเพิ่มขึ้น

การกินหอมหัวใหญ่ 1/7 ออนซ์ (16 ออนซ์ ประมาณครึ่งกิโลกรัม) มีผลลดปริมาณน้ำตาลในเลือด ผลนี้พบทั้งในหอมหัวใหญ่ทั้งดิบและที่ต้มแล้ว

 

หอมหัวใหญ่ กับภูมิคุ้มกัน

แคลเซียมมีความเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์เอนไซม์ที่ที-เซลล์ (T-cells) ใช้ในการต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตแปลกปลอม และช่วยเม็ดเลือดขาวในการทำลายและย่อยสลายไวรัส

ปกติแคลเซียมจะได้มาจากผลิตภัณฑ์นม ซึ่งมีไขมันอิ่มตัวอยู่มาก ไขมันอิ่มตัวมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอักเสบ (proinflamatory) ซึ่งมีผลในเชิงลบกับระบบภูมิคุ้มกัน การกินหอมหัวใหญ่จึงได้แคลเซียมโดยปราศจากไขมัน (ถ้าไม่กินเป็นหอมใหญ่ชุบแป้งทอด)

หอมหัวใหญ่มีธาตุอาหารสำคัญอื่นๆ อีก ธาตุซีลีเนียมที่พบมากในหอมใหญ่มีส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างแอนติบอดี ถ้าขาดธาตุนี้ร่างกายจะขาดความสามารถในการต้านการติดเชื้อที่เกิดขึ้นซ้ำซากได้ นอกจากนี้ ซีลีเนียมยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเอนไซม์กลูตาไทโอนเพอร์ออกซิเดส เอนไซม์นี้ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระที่จะก่อให้เกิดการอักเสบในระบบต่างๆ ของร่างกายอีกด้วย

หอมหัวใหญ่อุดมไปด้วยธาตุแมกนีเซียมซึ่งเป็นธาตุที่มักพบได้น้อยในอาหารประจำวัน มีความสำคัญในการสร้างคอมพลีเมนต์ ซึ่งมีความสำคัญในการทำลายเซลล์มะเร็งและกำจัดไวรัส ตัวอย่างของคอมพลีเมนต์ ได้แก่ อินเทอฟีรอน นอกจากนี้ หอมหัวใหญ่ยังมีธาตุแมกนีเซียมซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการสร้างพรอสตาแกลนดิน และการควบคุมปริมาณฮิสตามีน

นอกจากนี้ หอมหัวใหญ่มีธาตุกำมะถัน ช่วยให้เอนไซม์ตับทำงานขับสารพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง

ตำราอาหารโยคะบำบัดจากประเทศอินเดียกล่าวไว้ว่า ในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องให้กินหอมหัวใหญ่วันละ 1 หัว เพื่อป้องกันพยาธิทั้งเซลล์เดียวหรือหลายเซลล์ อาจเติมในโยเกิร์ต สลัด ผักนึ่ง หรือในข้าวก็ได้ และกินนมแพะสีทองเพื่อป้องกันแบคทีเรีย ไวรัส เสริมฤทธิ์ต้านอักเสบและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

 

สูตรนมแพะสีทอง (จาก นพ. ดามา ซิงค์ คาลซา)

ใช้นมแพะ 2 ถ้วย กระเทียมโทนครึ่งหัว ขิงหนา 1×1 นิ้ว ปอกเปลือกแล้วหั่นสี่เหลี่ยมเล็ก หอมหัวใหญ่ครึ่งหัวหั่นสี่เหลี่ยมเล็ก ผงขมิ้นครึ่งช้อนชาปาดเรียบ (ถ้าช้อนพูนจะแรงเกินไป)

ใส่ส่วนผสมทั้งหมดในหม้อต้มความดันใช้ไฟกลาง เมื่อร้อนแล้วจึงปิดฝาปิดวาล์วให้แน่น เมื่อวาล์วเริ่มเปิดมีไอน้ำออกมาให้ต้มต่อเพียง 5 นาที แล้วยกออกจากเตาเอาหม้อแช่น้ำเย็น 1 นาที จากนั้นเปิดวาล์วความดัน ถ้ายังมีไอน้ำรอให้ไอน้ำออกมาให้หมดก่อนจึงเปิดหม้อ (เพื่อไม่ให้เกิดการระเบิด) กรองนมแพะ ดื่มอุ่นๆ วันละ 1 ครั้ง นมแพะย่อยง่าย จะเป็นตัวพาสารอาหารเข้าสู่เซลล์และอวัยวะต่างๆ

หอมหัวใหญ่เป็นพืชที่มีกลิ่นและความฉุนน้อยกว่ากระเทียม คนทั่วไปจึงควรที่จะเพิ่มปริมาณการกินได้โดยไม่ต้องฝืนใจมากนักเมื่อเทียบกับกระเทียม

จากประโยชน์อันมากมายของหอมหัวใหญ่นี้ และเพื่อสุขภาพที่ดีของเราต่อไป จึงสมควรพิจารณาหอมหัวใหญ่เป็นพืชหลักประจำโต๊ะอาหาร เนื่องจากอาหารไทยมีหอมหัวใหญ่เป็นส่วนประกอบมากชนิด เพื่อสุขภาพที่ดีของเราต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก คอลัมน์ สมุนไพรน่ารู้ นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 321 เดือนมกราคม พ.ศ. 2549

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ.2562


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354