โอกาสรวยของชาวสวนยางพารา แนะวิธี ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้

ปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่เกิดขึ้น อาจทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราบางคนรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวัง ซึ่งเป็นเรื่องปกติของธรรมชาติมนุษย์ เมื่อเจอปัญหาใหญ่ๆ อาจทำให้บางคนรู้สึกเครียด เพราะไม่รู้จะหารายได้จากที่ไหนมาเลี้ยงดูครอบครัว เพราะรายได้จากการขายยางพาราลดน้อยลงจนน่าใจหาย บางคนจำเป็นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการกู้หนี้ยืมสินจากสถาบันการเงินทั้งในระบบและนอกระบบ

ความจริงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นคำถามที่ยังหาคำตอบไม่เจอในตอนนี้เท่านั้น เพราะเกษตรกรหลายคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันนี้ แค่เปลี่ยนแนวคิด ชีวิตของพวกเขาก็เปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น มีโอกาสสร้างรายได้ทั้งในและนอกสวนยางพารา เช่น หนุ่มชาวสวนยางเมืองสตูล ที่หันมา “ปลูกหญ้าหวายข้อ” ขายตลาดวัวชน วัวขุน โกยรายได้สูงถึงเดือนละ 50,000 บาท อีกรายเป็นเจ้าของสวนยางเมืองพังงา ปลูกไผ่ในสวนยางและสวนปาล์ม ทำให้มีรายได้หลายทาง แค่เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงดีขึ้นได้ เพราะ “เคล็ดลับของความสำเร็จ” อยู่ที่การเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ สำหรับโอกาสที่กำลังจะมาถึง

องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ. บึงกาฬ) และจังหวัดบึงกาฬ เจ้าภาพหลักในการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ2562 ตระหนักถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา จึงจัดเวทีเสวนาปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อนำเสนอนวัตกรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน สำหรับใช้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้ชดเชยสวนยางพารา โดยคาดหวังว่า จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางพารานำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ วิถีการทำเกษตรสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

เวทีเสวนาปราชญ์ชาวบ้านในงานวันยางพาราบึงกาฬ

ลดต้นทุนในสวนยาง ด้วยปุ๋ยอินทรีย์

“ยางพารา” เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีช่วงการเปิดกรีดนาน 25-30 ปี ซึ่งแต่ละปี จะมีค่าใช้จ่ายสำหรับบำรุงรักษาต้นยางค่อนข้างมาก ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา เจ้าของสวนยางพาราส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย มักประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุน เพราะมีรายได้จากการขายยางน้อยลง สวนทางกับปัจจัยการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรบำรุงรักษาต้นยางได้ไม่เต็มที่

คุณประสงค์ หลวงทำเม ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี ได้แนะนำให้เกษตรกรชาวบึงกาฬลดต้นทุนในสวนยาง ด้วยปุ๋ยอินทรีย์ “สูตรวิศวกรรมแม่โจ้1” ของ ผศ. ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์สูตรนี้ ใช้เศษพืชกับมูลสัตว์เพียง 2 อย่าง เท่านั้น เป็นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ต้องพลิกกลับกอง เกษตรกรจะสามารถผลิตได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดี ปริมาณมาก ครั้งละ 10-100 ตัน ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้มีค่าตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร พ.ศ. 2551 เสร็จภายในเวลาเพียง 60 วัน โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาเรื่องกลิ่นและน้ำเสีย

คุณประสงค์ หลวงทำเม

ขั้นตอนการผลิตใช้เพียงฟางข้าว เศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4 ส่วน วางเป็นชั้นบางๆ สูงไม่เกิน 10 เซนติเมตร ฐานกว้าง 2.5 เมตร โดยไม่ต้องเหยียบ โปรยทับด้วยมูลสัตว์ 1 ส่วน แล้วรดน้ำทำแบบนี้เป็นชั้นบางๆ 15-17 ชั้น รดน้ำแต่ละชั้นให้มีความชื้น กองปุ๋ยเป็นรูปสามเหลี่ยม สูงประมาณ 1.50 เมตร เพื่อให้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในมูลสัตว์ได้ใช้ธาตุคาร์บอนและธาตุไนโตรเจน เจริญเติบโตและย่อยสลายวัตถุดิบได้อย่างรวดเร็ว

การกองปุ๋ยวิธีนี้จะมีความร้อนจัดใน 5 วันแรก จะสังเกตเห็นไอร้อนลอยออกมาจากกองปุ๋ยเลยทีเดียว ส่งผลให้อากาศเย็นกว่าที่อยู่ด้านนอกไหลเวียนเข้าไปแทนที่ จุลินทรีย์ในกองปุ๋ยจึงได้รับออกซิเจนไว้ใช้ในกิจกรรมการย่อยสลายโดยไม่ต้องพลิกกลับกองเลย

ภายในเวลา 2 เดือน เกษตรกรต้องคอยดูแลน้ำอย่างประณีต โดยรดน้ำวันละครั้ง ในปริมาณที่ไม่ทำให้น้ำไหลนองออกมามากเกินไป และทุก 10 วัน ต้องเอาไม้เจาะกองปุ๋ยถึงพื้นดิน กรอกน้ำลงไปในปริมาณพอเหมาะ ที่ทำให้ภายในกองปุ๋ยชื้นพอดีๆ ไม่มีน้ำไหลนองออกมามาก เสร็จแล้วปิดรู เจาะรวม 5 ครั้ง พอครบสองเดือน กองปุ๋ยก็จะยุบเหลือแค่ 1 เมตร ถือว่าสิ้นสุดกระบวนการหมักปุ๋ย โดยไม่ต้องพลิกกอง ปล่อยให้กองปุ๋ยแห้งก่อน จึงค่อยนำปุ๋ยอินทรีย์ไปใช้งานหรือเก็บใส่กระสอบ การผลิตปุ๋ยวิธีนี้สามารถเก็บปุ๋ยไว้ในร่มได้นาน 3-4 ปี

ข้อห้ามสำคัญในการผลิตปุ๋ยสูตรนี้คือ ห้ามขึ้นเหยียบกองปุ๋ยให้แน่น หรือเอาผ้าคลุมกองปุ๋ย เพราะจะทำให้อากาศไม่ถ่ายเท คอยดูแลให้กองปุ๋ยมีความชื้นตามคำแนะนำ หากปล่อยให้กองปุ๋ยแห้งเกินไปจะทำให้ปุ๋ยอินทรีย์มีคุณภาพต่ำ ห้ามระบายความร้อนออกจากกองปุ๋ย เพราะความร้อนสูงในกองปุ๋ยจะทำให้เชื้อจุลินทรีย์ทำงานได้ดีมากขึ้น และเกิดการไหลเวียนของอากาศผ่านกองปุ๋ยอีกด้วย

คุณประสงค์ แนะนำให้ตั้งกองหมักปุ๋ยอินทรีย์ ระหว่างแถวต้นยาง เพราะสะดวกในการกระจายปุ๋ยหลังทำเสร็จแล้ว ผลการศึกษาพบว่า ต้นยางที่อยู่ใกล้บริเวณกองปุ๋ยหมักอินทรีย์จะมีใบเขียวมัน แสดงว่าความร้อนจากกองปุ๋ยไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการเติบโตของต้นยาง ปุ๋ยอินทรีย์สูตรนี้มีราคาต้นทุนการผลิตต่ำ เพียงแค่ 5-7 บาท ต่อกิโลกรัม เท่านั้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลสวนยางพาราได้อย่างดี

สำหรับต้นยางที่เปิดกรีดแล้ว มักมีปัญหาเรื่องโรคเส้นดำหรือโรคที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปทอร่า คุณประสงค์ แนะนำให้แก้ปัญหาโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า โดยนำเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าที่เพาะเลี้ยงเชื้อแล้วในข้าวเจ้า จำนวน 1 ถุง (250 กรัม) มาผสมน้ำ 5 ลิตร ทิ้งไว้ 10 นาที กรองเอาเศษข้าวออก แล้วผสมน้ำให้ได้ 20 ลิตร นำไปฉีดพ่นบริเวณหน้ายางที่เปิดกรีดแล้ว จะสามารถควบคุมการเกิดโรคเส้นดำในหน้ายางได้

หรือนำเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า จำนวน 1 ถุง (250 กรัม) มาผสมน้ำ 1 ลิตร แล้วนำมาป้ายหน้ายางโดยใช้พู่กันก็สามารถควบคุมโรคดังกล่าวได้ ช่วยเกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลสวนยางพารา โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมีราคาแพง และช่วยให้ต้นยางพารามีผลผลิตที่ดีขึ้นอีกต่างหาก

จัดสรรสวนยางพารา สร้างรายได้หลักแสนต่อปี

คุณบุญนาค ศรีสว่าง ปราชญ์ชาวบ้านและเกษตรกรดีเด่นของจังหวัดบึงกาฬ นับเป็นบุคคลตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการทำสวนเกษตรผสมผสาน ช่วยกระจายความเสี่ยงการลงทุน ทำให้เขาไม่ขาดแคลนรายได้ เมื่อเผชิญหน้ากับภาวะราคายางพาราตกต่ำในวันนี้ คุณบุญนาค เป็นอดีตทหารอากาศ ที่ลาออกมาทำอาชีพเกษตรกรรม เพราะใจรัก ที่ผ่านมาเขามีรายได้หลักจากอาชีพการทำสวนยางพารา และมีรายได้เสริมจากการทำสวนผลไม้ที่ปลูกแบบผสมผสาน แต่วิกฤตราคายางตกต่ำในทุกวันนี้ ทำให้ตัวเลขรายได้จากธุรกิจสวนผลไม้กำลังวิ่งแซงหน้ารายได้ธุรกิจสวนยางไปเสียแล้ว

คุณบุญนาค ศรีสว่าง

คุณบุญนาค เริ่มต้นทำสวนผลไม้ ตั้งแต่ปี 2518 โดยปลูกละมุดพันธุ์มะกอก มะพร้าวน้ำหอม เขาเป็นเกษตรกรคนแรกที่นำต้นเงาะโรงเรียนจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาปลูกที่จังหวัดบึงกาฬ เมื่อ 40 กว่าปีก่อน (สมัยนั้น อำเภอศรีวิไล อยู่ในจังหวัดหนองคาย) จนหลายคนหาว่าเขาบ้า เพราะใครๆ ก็ทำพืชไร่ ปลูกข้าวโพด ปลูกมันสำปะหลัง ไม่เคยมีใครปลูกไม้ผลมาก่อน ปรากฏว่าเขาทำได้สำเร็จ ต้นเงาะโรงเรียนที่นำมาปลูกให้ผลผลิตคุณภาพที่ดี กลายเป็นสินค้าเด่นดังประจำจังหวัดบึงกาฬ ทุกวันนี้ ใครอยากกินเงาะโรงเรียนคุณภาพดี ต้องนึกถึงเงาะอำเภอศรีวิไลของคุณบุญนาคเป็นที่แรก เพราะมีรสหวาน เนื้อแห้ง กรอบ อร่อย

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้เขาเกิดขวัญกำลังใจที่จะนำผลไม้เด่นชนิดอื่นๆ เช่น มังคุด ทุเรียน รวมทั้งสะตอ มาปลูกบนที่ดินของเขา ซึ่งกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ทะลุหลักแสนต่อปีทีเดียว แค่รายได้จากการขายสะตอฝักสด ซึ่งเป็นสะตอพันธุ์ดานอย่างเดียว ก็สร้างรายได้หลักหมื่นบาทต่อต้นแล้ว

สะตอ

ปัจจุบัน คุณบุญนาค มีรายได้หลักจากการทำสวนยางพารา โดยแบ่งปันรายได้คนละครึ่งกับแรงงานกรีดยาง สำหรับภาวะราคายางพาราตกต่ำในขณะนี้ ราคายางก้อนถ้วย อยู่ที่กิโลกรัมละ 18 บาท หากพึ่งรายได้จากการปลูกยางพาราแต่เพียงอย่างเดียวคงอยู่ไม่ได้ โชคดีที่เขาจัดสรรพื้นที่มาทำสวนเกษตรผสมผสาน ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นนานาชนิดไว้ในสวนแห่งนี้ ทำให้มีรายได้เข้ามาหลายทางตลอดทั้งปี ช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้เป็นอย่างดี

การทำสวนเกษตรผสมผสานของคุณบุญนาคไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่าจะปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นกี่ต้น ปลูกมากเท่าไรอาศัยความสะดวกของพื้นที่เป็นหลัก ตรงไหนมีพื้นที่ว่างเหมาะสมคุณบุญนาคก็จะนำพันธุ์ไม้ผลมาปลูกตามอัธยาศัย โดยธรรมชาติแล้ว ต้นมังคุดและต้นทุเรียน เป็นไม้ผลโตช้า ที่สู้แดดไม่ค่อยได้ ดังนั้น การปลูกในระยะแรก ควรสร้างร่มเงาให้กับไม้ผลทั้งสองชนิดนี้ หลังผ่านปีที่ 3 ไปแล้ว ต้นมังคุดและต้นทุเรียนจะเติบโตแข็งแรง ไม่ต้องดูแลอะไรมาก

การทำสวนผลไม้ของคุณบุญนาคใช้ปุ๋ยเคมีน้อย เพราะคุณบุญนาคมองว่าปุ๋ยเคมีหากใช้ในปริมาณมาก เสี่ยงทำให้ดินแข็ง พืชเจริญเติบโตได้ไม่ดี สวนแห่งนี้จึงเน้นปลูกดูแลพันธุ์ไม้โดยใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยน้ำหมักจุลินทรีย์เป็นหลัก แต่จะเสริมปุ๋ยเคมีสูตรหวานในอัตราที่เหมาะสมเพื่อบำรุงผลผลิตให้มีรสหวานตามที่ต้องการ

หากเกษตรกรชาวสวนยางพารารายใด ต้องการมีรายได้เสริมจากการทำสวนเกษตรผสมผสานเช่นเดียวกับเขา คุณบุญนาคให้คำแนะนำว่า ควรเริ่มต้นปลูกพืชผักสวนครัว และปลูกกล้วยก่อน เพื่อเป็นรายได้รายวันและรายเดือน เพราะการทำสวนไม้ผล ต้องใช้เวลาปลูกดูแล 4-5 ปี จึงเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้ นอกจากนี้ ควรเลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด ไก่ ไว้ในสวนด้วย เพื่อเป็นปุ๋ยคอกในสวนและมีรายได้หมุนเวียนจากการขายไข่และขายเป็ด ไก่

คุณบุญนาค กล่าวเสริมว่า ในยุคนี้การปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยวมีความเสี่ยงในการลงทุนมากเกินไป การทำสวนเกษตรผสมผสานน่าจะเป็นคำตอบที่เหมาะสมมากกว่า หากใครสนใจอยากเรียนรู้เรื่องการทำสวนเกษตรผสมผสานของ คุณบุญนาค ศรีสว่าง สามารถติดต่อได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 087-491-7831

“ผักกางมุ้งอินทรีย์” สร้างรายได้เสริม
ให้ชาวสวนยางบึงกาฬได้ตลอดทั้งปี

“ปลูกผักกางมุ้งอินทรีย์ อีกหนึ่งรายได้เสริมของเกษตรกรชาวสวนยาง” ภายใต้การนำของ คุณยุทธการ บุญประคม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวไรซ์เบอร์รี่อู่คำ บึงกาฬ คุณยุทธการ กล่าวว่า หลังจากเจอปัญหาราคายางพาราตกต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้หลักจากการทำสวนยาง ประสบความเดือดร้อนมาก เพราะขาดแคลนรายได้เลี้ยงดูครอบครัว จึงรวมตัวกันปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่เพื่อเป็นรายได้เสริม

ต่อมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายกระตุ้นการใช้จ่ายของเกษตรกรในระดับฐานราก และช่วยส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยสนับสนุนเงินลงทุนเริ่มต้นให้กับเกษตรกรในชุมชน 9,101 แห่ง แห่งละ 2.5 ล้านบาท คุณยุทธการ ในฐานะแกนนำกลุ่มเกษตรกรที่มีสมาชิกกว่า 40 ราย ได้ยื่นของบประมาณ 2.5 ล้านบาท สำหรับดำเนิน “แปลงผักกางมุ้งอินทรีย์” เพื่อเป็นรายได้เสริมให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางในท้องถิ่น

คุณยุทธการ บุญประคม

เมื่อโครงการได้รับการอนุมัติ ก็นำมาใช้ก่อสร้างโรงเรือนปลูกผักกางมุ้ง จำนวน 5 โรงเรือน ในเนื้อที่ 2 ไร่ บนที่ิดินสาธารณะของชุมชน ในระยะแรกสมาชิกปลูกผักหลากหลายชนิดปรับเปลี่ยนตามฤดูกาล ได้แก่ ผักกวางตุ้ง แตงกวา ผักบุ้ง คะน้า บร็อกโคลี่ ผักสลัด ผักชี

ปัจจุบันสมาชิกส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า ปลูกผักบุ้ง ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุนมากที่สุด เพราะใช้เวลาปลูกดูแลในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 25 วัน เท่านั้น ก็สามารถเก็บผักบุ้งออกขายได้แล้ว โดยขายส่งในราคากิโลกรัมละ 25 บาท ขายปลีกในราคากิโลกรัมละ 30 บาท ลูกค้าหลักคือ ร้านอาหารหมูกระทะ และตลาดสดในท้องถิ่น

แปลงปลูกผักบุ้งอินทรีย์
โรงเรือนปลูกผักอินทรีย์

“ผักบุ้งกางมุ้งอินทรีย์ เป็นผักปลอดสารพิษ ใบสวย ไม่มีแมลงรบกวน รสชาติหวาน กรอบ อร่อย ขายดีจนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด แม้ห้างแม็คโครบึงกาฬจะติดต่อขอซื้อสินค้าก็ต้องปฏิเสธไป เพราะผลิตให้ไม่ทันจริงๆ ทุกวันนี้ ใครอยากได้ผักบุ้งอินทรีย์ ต้องสั่งจองกันล่วงหน้าเท่านั้น ถึงจะได้กิน” คุณยุทธการ กล่าว

ปัจจุบัน ผักบุ้ง ที่ปลูกกลางแจ้ง มักมีปัญหาโรคพืชรบกวน เช่น เชื้อราสนิม ราใบจุด และราน้ำค้าง ทำให้ใบผักบุ้งไม่สวย ขายไม่ได้ราคา เกษตรกรจึงนิยมฉีดพ่นสารเคมีกำจัดโรค ดังนั้น ผู้บริโภคที่ซื้อผักบุ้งในท้องตลาดทั่วไป มักเสี่ยงเจอปัญหาสารพิษตกค้างได้ แต่ผักบุ้งกางมุ้ง ปลูกดูแลแบบเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ มีต้นทุนต่ำและเกษตรกรสามารถปลูกผักอย่างต่อเนื่องได้ตลอดทั้งปี

โครงการปลูกผักกางมุ้งอินทรีย์ในชุมชนแห่งนี้ ทางกลุ่มได้แบ่งพื้นที่ให้สมาชิกแต่ละรายดูแลรับผิดชอบ คนละ 1 แปลง โดยโรงเรือน 1 หลัง จะแบ่งพื้นที่ปลูกผักเป็น 3 แปลง แปลงละ 1 ตารางเมตร จะเก็บผลผลิตออกขายได้ครั้งละ 4 กิโลกรัม ต่อแปลง

สำหรับผลผลิต 1 โรงเรือน จะมีรายได้ รุ่นละ 6,000-7,000 บาท ทางกลุ่มจะแบ่งรายได้ให้สมาชิก 50% และหักเงินอีก 50% เป็นรายได้เข้ากลุ่ม เพื่อเป็นกองทุนสวัสดิการสำหรับดูแลสมาชิกในอนาคต และค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องมือและโรงเรือนผักกางมุ้งต่อไป

การปลูกผักกางมุ้ง เริ่มต้นจากการเตรียมดิน ตีดินให้ร่วนซุยพร้อมใส่ปุ๋ยน้ำจุลินทรียบำรุงดิน ตากดิน 7 วัน ก่อนปลูก เตรียมเมล็ดพันธุ์ผักบุ้งศรแดง มาล้างทำความสะอาดและนำไปแช่น้ำหมักจุลินทรีย์ 1-2 คืน เมื่อเมล็ดพันธุ์งอกก็นำไปโรยในแปลงที่เตรียมไว้ หลังปลูก 7 วัน ใส่ปุ๋ยคอกจากฟาร์มหมูหลุมบำรุงดิน และจะใช้ปุ๋ยน้ำหมักจุลินทรีย์ฉีดพ่นบำรุงใบ โดยผสมน้ำหมักจุลินทรีย์ร่วมกับการให้น้ำในระบบท่อสปริงเกลอร์ช่วงเช้าและเย็นในแต่ละวัน

เกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการปลูกผักกางมุ้งอินทรีย์

เมื่อต้นผักบุ้งอินทรีย์อายุได้ 20-22 วัน ก็เริ่มเก็บผลผลิตออกขาย เพราะเป็นระยะเวลาที่ผักบุ้งมีรสชาติกรอบ อร่อย ระวังอย่าปล่อยให้ผักบุ้งมีอายุเก็บเกี่ยวเกิน 25 วัน เพราะจะทำให้เนื้อผักบุ้งเหนียว กินไม่อร่อย ปัจจุบัน ทางกลุ่มเปิดฟาร์มแห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการปลูกผักกางมุ้งอินทรีย์

ผู้สนใจสามารถแวะเยี่ยมกิจการได้ โดยติดต่อประสานงานล่วงหน้ากับ คุณยุทธการ บุญประคม หมายเลขโทรศัพท์ 084-519-4669