อ่างเก็บน้ำแม่ฮอด อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฝันที่กำลังเป็นจริงของชาวบ้านฮอด เชียงใหม่

ด้วยเมื่อเร็วๆ นี้ คุณพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางตรวจเยี่ยมการดำเนินงานในโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามและขับเคลื่อนโครงการ พบว่า การดำเนินงานของส่วนงานที่เกี่ยวข้องมีความคืบหน้าตามลำดับอย่างเป็นที่น่าพอใจยิ่ง

ในการนี้ องคมนตรีได้ปลูกต้นไม้เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ พร้อมพบปะพูดคุยเพื่อรับทราบถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ และให้ข้อเสนอแนะแก่ส่วนงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร และการบริหารจัดการน้ำภายหลังจากโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด อันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้วเสร็จ โดยที่ราษฎรในพื้นที่มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่อีกด้วย

คุณพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เดินทางตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ในพื้นที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2530 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับแหล่งน้ำในเขตอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการก่อสร้างฝายทดน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ณ ตำบลบ้านฮอด อำเภอฮอด

ในการนี้กรมชลประทานจึงได้น้อมนำพระราชดำริดำเนินการก่อสร้าง เมื่อโครงการแล้วเสร็จสามารถเอื้อประโยชน์แก่ราษฎรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีและต่อเนื่องตลอดมา

แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อมาพบว่า จากการใช้ประโยชน์ในการกักน้ำเพื่อยกระดับให้สูงขึ้นสำหรับการผันไปสู่พื้นที่การเกษตรของราษฎรที่สูงกว่ามาเป็นระยะยาวนาน จึงเกิดการทับถมของตะกอนดินบริเวณหน้าฝายเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้พื้นที่กักน้ำและยกระดับน้ำบริเวณหน้าฝายลดน้อยลงและเกิดความตื้นเขิน ประกอบกับตัวฝายได้ชำรุดมากขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านการใช้งานมายาวนาน

ต่อมาเมื่อ วันที่ 14 มีนาคม 2537 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบปัญหาความแห้งแล้งที่บ้านตีนตก หมู่ที่ 8 ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาจัดหาแหล่งน้ำช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ตำบลนาคอเรือ และตำบลฮอด เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำใช้เพื่อการเกษตรกรรม ตามที่ราษฎรได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด

ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางออกสำหรับการเพิ่มปริมาณน้ำให้กับราษฎรในพื้นที่ ด้วยจำนวนประชากรที่ประกอบอาชีพทางการเกษตรในพื้นที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ประกอบกับการปลูกพืชที่จะต้องใช้น้ำเพื่อการบำรุงมีเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและชนิดพืช

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ฮอด อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอฮอด ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาสำรวจ เพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่โดยกำหนดแผนในการดำเนินงานจำนวน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2566 และเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ 9,000 ไร่

ทั้งนี้ คุณณรงค์ สงวนแสง ราษฎรบ้านแพะดินแดง หมู่ที่ 2 ตำบลฮอด อำเภอฮอด กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่พระองค์ท่านทรงห่วงใยและให้ความสำคัญในชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรตำบลฮอด ในเรื่องน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการทำการเกษตร เพราะพื้นที่แห่งนี้เกิดความขาดแคลนมานานแล้ว ที่สำคัญราษฎรในพื้นที่ล้วนเป็นผู้ที่เสียสละพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินก่อนหน้านี้ ซึ่งจะอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านฮอดเก่าที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง หลังจากการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ทางการได้อพยพให้มาอยู่และอาศัยทำกินในพื้นที่บ้านแพะดินแดง

“หากปีใดน้ำในเขื่อนภูมิพลมีจำนวนมาก น้ำจะท่วมถึงหมู่บ้าน แต่หากปีใดน้ำน้อยก็จะเกิดความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำ พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริให้ก่อสร้างฝายขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่เมื่อใช้งานมานานก็เกิดความตื้นเขินให้ประโยชน์น้อยลง การสร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำจึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ในปัจจุบัน” คุณณรงค์ กล่าว

ทางด้าน คุณนิคม ปินต๊ะ ราษฎรบ้านวังลุง หมู่ที่ 3 ตำบลฮอด อำเภอฮอด กล่าวเพิ่มเติมว่า อ่างเก็บน้ำแม่ฮอดเป็นสิ่งที่ราษฎรในพื้นที่มีความต้องการเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะทุกคนมีอาชีพทางการเกษตร ทำนา ทำสวนลำไย ซึ่งต้องอาศัยน้ำเป็นสำคัญ

“บ้านผมต้องการเป็นอย่างสูงครับในเรื่องของน้ำ นับเป็นบุญของชาวบ้านตำบลฮอด ที่จะได้โครงการอ่างเก็บน้ำตามพระราชดำริของในหลวง ที่สำคัญเมื่อมีน้ำ ชาวบ้านก็จะลืมตาอ้าปากได้ดีกว่าที่ผ่านมา เพราะสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปีและมีรายได้จากการขายผลผลิต” คุณนิคม กล่าวในที่สุด