แนะปลูกพืชตาม Agri-Map จังหวัดสระบุรี ‘พืชอาหารสัตว์ กล้วยหอม ผักหวานป่า’ ทดแทนนาข้าว

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี พบว่า จังหวัดสระบุรี มีพื้นที่มีความเหมาะสมมาก (S1) และปานกลาง (S2) สำหรับการปลูกข้าว รวม 517,872 ไร่ และมีพื้นที่มีความเหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N)  สำหรับการปลูกข้าว รวม 26,904 ไร่ (ร้อยละ 5 ของพื้นที่ปลูกข้าวในจังหวัด) ซึ่งในพื้นที่ไม่เหมาะสม 26,904 ไร่   ดังกล่าว มีความเหมาะสมสำหรับปลูกพืชไร่ประมาณ 12,000 ไร่ โดยส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอแก่งคอย อำเภอเมือง อำเภอพระพุทธบาท และอำเภอหนองแค ที่สามารถปลูกได้ทั้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน

หากมองสถานการณ์ปัจจุบัน จังหวัดสระบุรี เป็นแหล่งเลี้ยงโคนมอันดับ 1 ของประเทศ พืชอาหารสัตว์จึงมีความจำเป็นอย่างมาก โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชที่มีความโดดเด่น เนื่องจากด้านอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีความต้องการสูง และราคาอยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งนโยบายรัฐ มีโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูกาลทำนา โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีต้นทุนการผลิตอยู่ระหว่าง 4,400-4,600 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) อยู่ระหว่าง 2,000-2,300 บาท/ไร่  แต่หากเกษตรกรปลูกพืชอาหารสัตว์ควบคู่กับการทำฟาร์มปศุสัตว์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต พบว่า ข้าวโพดสดพร้อมฝัก ให้ผลตอบแทนสูงกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในรูปเมล็ด จะมีต้นทุนการผลิต 5,636 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 4,764 บาท/ไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถปลูกได้ 3 รอบ/ปี กรณีมีแหล่งน้ำ ซึ่งคิดแล้วเกษตรกรจะได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 14,292 บาท/ไร่/ปี  อย่างไรก็ตาม หากมีการรวมกลุ่มปลูก และมีเทคโนโลยีเครื่องจักรเพื่อให้บริการในการเก็บเกี่ยวและจำหน่ายในรูปข้าวโพดหมัก จะช่วยเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเกษตรกรจะต้องมีการวางแผนการผลิตและการตลาดให้ผลผลิตออกเป็นรุ่นอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของผู้รับซื้ออย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนการผลิตและพัฒนาพื้นที่ ยังมีสินค้าทางเลือกและกิจกรรมเสริมที่น่าสนใจ อาทิ กล้วยหอม มีต้นทุนการผลิต 16,773 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 19,705 บาท/ไร่ ซึ่งหากผลิตให้ออกตรงความต้องการของตลาดในช่วงเทศกาลต่างๆ เกษตรกรจะได้รับกำไรสูงกว่าช่วงปกติ และยังนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย เช่น เค้กกล้วยหอม เป็นต้น ผักหวานป่า เป็นผักพื้นบ้านมีชื่อเสียงของจังหวัดเป็นผักที่ปลอดภัยจากสารพิษโดยธรรมชาติ เป็น “ผักสุขภาพ” ที่ผู้บริโภคมีความต้องการ มีต้นทุนการผลิต เฉลี่ย 65,720 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ เฉลี่ย 84,280 บาท/ไร่ ไก่พื้นเมือง ต้นทุนการผลิต เฉลี่ย 90 บาท/ตัว ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 55 บาท/ตัว เป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญในชุมชนเลี้ยงไว้เพื่อการบริโภคภายในครัวเรือน และเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ตลอดทั้งปี แถมมีราคาสูงมากขึ้นในช่วงเทศกาล

ด้าน นายชีวิต เม่งเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 (สศท.7) กล่าวเสริมว่า นอกจากสินค้าทางเลือกข้างต้นแล้ว เกษตรกรยังสามารถปรับเปลี่ยนสำหรับปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นพืชใช้น้ำน้อย ตลาดมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับจังหวัดสระบุรี มีโรงงานผลิตยาสมุนไพรและโรงพยาบาลภาครัฐที่รับซื้อสมุนไพรเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยา รวมทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนไปทำเกษตรผสมผสาน เพื่อลดความเสี่ยง สับเปลี่ยนหมุนเวียนการปลูกพืชหลากหลายชนิด เช่น พืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร/เครื่องเทศ ไม้ดอก ไม้ผล รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ เป็นอีกแนวทางหนึ่งเพื่อให้เกษตรกร มีรายได้อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการพัฒนาสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น น้ำนมโคอินทรีย์ หน่วยงานต้องสนับสนุนเชื่อมโยงหาช่องทางการตลาด และเน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้สินค้าอินทรีย์ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ควรติดตาม สำรวจ และปรับปรุงฐานข้อมูลแผนที่ความเหมาะสมให้เป็นปัจจุบัน และร่วมวางแผนการผลิตและการตลาดสินค้าให้เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อเกิดประโยชน์และเกษตรกรได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าการลงทุน สำหรับเกษตรกรและท่านที่สนใจต้องการสอบถามข้อมูลในพื้นที่เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 โทร. (056) 405-005-8 หรือ [email protected]