สะละ ปลูกได้ดี นอกเมืองจันท์ แต่ต้องเลือกพันธุ์ให้เหมาะสม

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ผมมีโอกาสเดินทางไปพักผ่อนที่จังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดเลย ระหว่างทางได้แวะร้านจำหน่ายของที่ระลึกไร่กำนันจุล ผมสังเกตเห็นว่ามีสะละวางจำหน่ายในร้าน ทั้งผลสดและสะละลอยแก้ว ผมขอเรียนถามว่า ที่ไร่กำนันจุลปลูกสะละได้เองหรือเปล่าครับ เพราะเคยเห็นแต่ที่จังหวัดจันทบุรี กับจังหวัดระยองเท่านั้น ขอคำอธิบายด้วยครับ

ขอแสดงความนับถือ

สุวิทย์ ประสมสุข

กทม.

 ตอบ คุณสุวิทย์ ประสมสุข

ปัจจุบัน สะละที่ปลูกกันอยู่มี 3 พันธุ์ คือ พันธุ์หม้อ มีผลกลมป้อม ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ไร่กำนันจุลปลูกพันธุ์นี้ เพราะไม่ต้องการความชื้นสูง หรือทนแล้งได้ดี พันธุ์เนินวง ผลมีรูปร่างกลมรี เนื้อผลรสหวานแหลม และพันธุ์สุมาลี ผลมีรูปร่างกลมรี และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ปัจจุบันพันธุ์สุมาลีเป็นที่นิยมของผู้บริโภคกว่าสองพันธุ์ที่กล่าวมา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ไร่กำนันจุลจะปลูกสะละได้ดีตามบริเวณริมคลอง แต่ยังจำเป็นต้องช่วยผสมเกสรให้ เนื่องจากสะละต้นตัวผู้กับต้นตัวเมียแยกกันอยู่คนละต้น

วิธีขยายพันธุ์สะละ ทำได้ทั้งเพาะเมล็ดและการชำต้น การเพาะเมล็ดให้ปฏิบัติตามการเพาะเมล็ดผลไม้อื่นๆ สะละเป็นไม้ที่แปลก แม้เป็นไม้เนื้ออ่อนก็ตามแต่สามารถชำได้ ซึ่งมีวิธีทำดังนี้ ให้เลือกต้นแม่พันธุ์ดี มีความสมบูรณ์และให้ผลผลิตแล้ว ควรมีอายุ 4-5 ปีขึ้นไป ตัดลำต้นให้ชิดโคน ลอกกาบและทางใบออก เหลือเฉพาะลำต้น แล้วตัดเป็นท่อน ยาวท่อนละ 25-30 เซนติเมตร ผึ่งลมพอแห้งสัก 1-2 วัน นำไปชำในแกลบดำ หรือขุยมะพร้าวที่ใหม่สะอาดในร่มรำไร รดน้ำพอชุ่ม อย่างสม่ำเสมอ ภายใน 1-3 เดือน จะแตกรากและต้นอ่อนปรากฏให้เห็น แล้วนำลงถุงเพาะสีดำที่มีวัสดุปลูก มีส่วนประกอบของดินละเอียดที่สะอาด แกลบดิบ และปุ๋ยคอกเก่า อัตรา 3:1:1 คลุกเคล้าให้เข้ากันดีก่อนบรรจุลงในถุงเพาะชำ นำเก็บในโรงเรือน ก่อนนำลงปลูกในแปลง ต้องนำต้นกล้าออกมาให้รับแสงแดดเต็มที่ เมื่อต้นกล้ามีอายุ 8-9 เดือน ใช้ปลูกลงในแปลงได้ อย่างไรก็ตาม ระยะแรกต้นสะละต้องการพืชพี่เลี้ยง แต่ก่อนเกษตรกรใช้ต้นตะขบ ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นทองหลางแทน จากนั้นให้ดูแลอย่างสม่ำเสมอ ภายใน 2-3 ปี สะละจะให้ผลได้ดีตามต้องการ