น่าวิตก! น้ำยมช่วงพิจิตรเริ่มแห้งขอด ทั้งที่เดือนก่อนท่วมบ้านเรือน เหตุไร้ระบบจัดการน้ำ

วันที่ 27 ธันวาคม สถานการณ์แม่น้ำยมในพื้นที่จังหวัดพิจิตร เริ่มแห้งขอด โดยเฉพาะตำบลรังนก อำเภอสามง่าม ตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง ระดับน้ำแม่น้ำยมลดระดับลงอย่างรวดเร็ว น้ำแห้งขอดเป็นช่วงๆ จนสามารถมองเห็นทราย ทั้งที่ก่อนหน้านี้เพียงเดือนเศษระดับน้ำแม่น้ำยมยังล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนประชาชน พื้นที่ทางการเกษตร เส้นทางในการสัญจร แต่หลังระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็วประกอบกับมีการพองฝายยางเพื่อชะลอการไหลของน้ำในพื้นที่อำเภอสามง่ามซึ่งเป็นพื้นที่ตอนบนส่งผลให้ระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็วจนใกล้แห้งขอด

รายงานระบุเพิ่มว่า สำหรับแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลักหนึ่งใน 4 สาย ของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งประกอบด้วย แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ที่ผ่านมาแม่น้ำยมในเขตจังหวัดพิจิตรจะประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก เนื่องจากไม่มีประตูระบายน้ำ ไม่มีระบบชลประทานไว้กักเก็บมีเพียงฝายยาง ซึ่งกักเก็บน้ำได้เพียงเล็กน้อยจำนวน 3 แห่ง ทำให้แม่น้ำยมยังคงประสบปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งหากแม่น้ำยมจังหวัดพิจิตร มีประตูน้ำ จะสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ ในการอุปโภค-บริโภคของประชาชน และสัตว์เลี้ยง และการเพาะปลูกในพื้นที่การเกษตร รวมถึงเป็นการบรรเทาความเสียหายในอุทกภัยของแม่น้ำยม ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงฤดูน้ำหลาก

 

นายสมยศ แสงมณี ชลประทานพิจิตร กล่าวว่า แม่น้ำยมเป็นแม่น้ำที่ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากเนื่องจากไม่มีระบบในการบริหารจัดการน้ำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงหาแนวทางในการแก้ปัญหาโดยได้ข้อสรุปในการสร้างอาคารบังคับน้ำจำนวน 4 แห่ง ในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร–พิษณุโลก คือโครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม จังหวัดพิษณุโลก โครงการประตูระบายน้ำท่าแห อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร โครงการประตูระบายน้ำบ้านวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร และโครงการประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ซึ่งเชื่อมั่นว่าหลังก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งการอุปโภคบริโภค การทำการเกษตร ระบบนิเวศ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ควบคู่กับการดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถดำเนินการในการก่อสร้างต่อไป