เผยแพร่ |
---|
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ติดตามผลสำเร็จการดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาในพื้นที่นำร่องอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่เริ่มเพาะปลูกไปเมื่อต้นเดือนกันยายน 2561 ซึ่งใช้ระยะเวลา 4 เดือน จึงเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงนี้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงมือเกี่ยวฝัก ข้าวโพดในแปลงของเกษตรกรตัวอย่าง ก่อนจะตรวจเยี่ยมความพร้อมจุดรับซื้อผลผลิตของสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด ซึ่งมีอุปกรณ์การตลาดที่พร้อมรองรับผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปีนี้ประสบกับปัญหาการขาดแคลน ขณะที่ตลาดภายในประเทศยังมีความต้องการเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ ส่งผลทำให้ราคาผลผลิตปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะผลผลิตข้าวโพดที่จะออกมาในเดือนมีนาคม คาดว่าจะมีราคารับซื้อที่สูงขึ้นและเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ที่กิโลกรัมละ 8-10 บาท ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ และการดำเนินโครงการได้ยึดหลักการตลาดนำการผลิต มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรเพื่อสร้างความสมดุล สิ่งสำคัญคือ การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรควบคู่กับการเชื่อมโยงการตลาดไปสู่ภาคเอกชน โดยใช้สหกรณ์เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน ก็จะส่งผลทำให้โครงการนี้สำเร็จได้ตามเป้าหมาย
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้คัดเลือกอำเภอพิชัยเป็นพื้นที่นำร่องในการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนา เนื่องจากมีสภาพพื้นที่เหมาะสมตาม Agri-Map โดยมีเกษตรกรในพื้นที่ 221 ราย และมีเกษตรกร 67 รายเพิ่งหันมาลองปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาเป็นครั้งแรกในปีนี้ ซึ่งเกษตรกรทั้งหมดเป็นสมาชิกสหกรณ์ 4 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโรงหม้อ จำกัด สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า บ้านโคกหม้อ จำกัด และ สหกรณ์การเกษตรพิชัย จำกัด พื้นที่เพาะปลูก 3,240 ไร่
ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นของโครงการนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ประสานความร่วมมือกับ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สมาคมผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ร่วมกันทำงานในพื้นที่เพื่อวิเคราะห์สภาพดินเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างละเอียด ตลอดจนได้ถ่ายทอดเทคนิคการปลูก การดูแลรักษา การลดต้นทุน และการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวางแผนการตลาดกับสหกรณ์ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตและเชื่อมโยงกับภาคเอกชนผู้ผลิตอาหารสัตว์เข้ามารับซื้อข้าวโพดของเกษตรกร โดยสหกรณ์จะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบครบวงจร
นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานพื้นที่นำร่องในจังหวัดอุตรดิตถ์ เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วประมาณ 3,800 ตัน สหกรณ์รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด และส่งต่อให้สหกรณ์การเกษตรเมืองตรอน จำกัด ซึ่งเป็นแม่ข่ายในการรับซื้อผลผลิตจากทั้ง 4 สหกรณ์ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพอบลดความชื้นให้อยู่ที่ 14.5% และส่งจำหน่ายให้กับบริษัท CPF และ บริษัท เบทาโกร จำกัด ซึ่งราคาขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 9.80 บาท
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรจะมีต้นทุนในการผลิตเฉลี่ย 3,810 บาท/ไร่ ซึ่งสหกรณ์จะรับซื้อข้าวโพดฝักสดจากสมาชิก ระดับความชื้น 27-30% ราคา 7-8 บาท ต่อกิโลกรัม โดยเกษตรกรจะมีรายได้จากการขายข้าวโพดเฉลี่ย 8,365 บาท/ไร่ และเมื่อหักต้นทุนแล้วจะมีกำไรเฉลี่ยไร่ละ 4,555 บาท ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ วงเงิน 10.3 ล้านบาท เพื่อให้สหกรณ์กู้ยืมไปจัดหาปัจจัยการผลิต และรวบรวมผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นการสนับสนุนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงตัวอย่างความสำเร็จในแปลงนำร่อง ซึ่งเป็นของนายสมพร แตงน้อย เนื้อที่ 10 ไร่ เพาะปลูกเดือนสิงหาคม 2561 และเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ขายให้กับสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด ในระดับความชื้นที่ 28% ราคา 7.20 บาท/กิโลกรัม ทำให้มีรายได้ 86,400 บาท และมีกำไรเฉลี่ยไร่ละ 4,850 บาท ส่วนแปลงของนายทองเหลือ มูลนิล สมาชิกสหกรณ์ ที่ รมว.กษ. เป็นประธานในการเก็บเกี่ยวข้าวโพดในแปลงนี้ มีเนื้อที่ปลูก 3 ไร่ ลงทุนไป 11,370 บาท เริ่มเพาะปลูกเมื่อวันที่ 3 กันยายน 61 และจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดในวันนี้ คาดว่าจะได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ประมาณ 1,200 กก. ความชื้นประมาณ 27% ซึ่งสหกรณ์จะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 8 บาท ทำให้นายทองเหลือ มีรายได้ทั้งสิ้น 28,800 บาท เมื่อหักต้นทุนในการเพาะปลูกผลิต 11,370 บาท จะมีกำไร 17,430 บาท และได้กำไรเฉลี่ย 5,810 บาท ต่อไร่
“ในอำเภอพิชัยซึ่งเป็นพื้นที่นำร่อง มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 221 ราย พื้นที่รวม 3,240 ไร่ ผลผลิต ข้าวโพดที่ได้โดยเฉลี่ยไร่ละ 1.2 ตัน และในบางรายได้ผลผลิตสูงถึง 1.8 ตัน ต่อไร่ และหากขายได้ในราคากิโลกรัมละ 8 บาท จะทำให้เกษตรกรในพื้นที่นำร่องมีรายได้รวมกว่า 31 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการที่วางไว้ทั้งเรื่องปริมาณผลผลิตต่อไร่ คุณภาพของข้าวโพดและราคาที่รับซื้อจากเกษตรกร ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชนและสหกรณ์ในพื้นที่ ในการร่วมกันปฏิรูปภาคการเกษตร ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ เพื่อช่วยดูแลและส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง และคาดว่าข้าวโพดจะเป็นพืชทางเลือกอีกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรจะเพาะปลูกได้หลังเสร็จสิ้นจากฤดูทำนา” นายพิเชษฐ์ กล่าว