เผยแพร่ |
---|
11 มกราคม 2562 ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ/ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ ในงานการประชุม “ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ…พลิกโฉมนวัตกรรมงานบริการสาธารณะ” จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มุ่งสร้างนวัตกรรมงานบริการภาครัฐที่สนองตอบต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังอยู่ในโลกที่สุดโต่ง ทั้งเรื่องธรรมชาติ เศรษฐกิจ การเมือง และเรื่องต่างๆ มากมาย และเรากำลังอยู่ในโลกที่มีความย้อนแย้ง โลกในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน มีความเป็นพลวัตรสูง (Dynamic World) อีกทั้ง การอุบัติขึ้นของเทคโนโลยีพลิกโฉม (Disruptive Technology) ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการแข่งขัน ความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกต่อปัจเจก และปัจเจกต่อรัฐ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ ส่งผลให้ผู้คนในโลกสมัยใหม่ต้องปรับตัวโดยเฉพาะภาครัฐ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ไม่เพียงส่งผลต่อประชาชนเท่านั้น หากยังกระทบต่อความคาดหวังที่ประชาชนมีต่อระบบราชการ ซึ่งในยุคปัจจุบันประชาชนก็หวังว่ารัฐบาลจะสามารถออกนโยบายซึ่งจะเอื้อให้ประชาชนสามารถปรับตัวได้ในโลกสมัยใหม่
ประเทศไทย รัฐบาลไทยในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมโลก (Global Society) ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในบริบทโลกได้ หน่วยงานราชการผู้ให้บริการต่างๆ ในฐานะองคาพยพของระบบราชการจึงไม่อาจที่จะดำเนินงานในแบบเดิมๆ ที่เคยทำมาในอดีตได้อีกต่อไปแล้ว หากแต่ต้องเปลี่ยนแปลง และประยุกต์ใช้กระบวนการดำเนินงานรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม โดยต้องก้าวข้ามการจัดองค์กรในรูปแบบไซโลที่ไม่มีความยืดหยุ่น (Rigid Organizational Siloes) ซึ่งมีลักษณะการทำงานที่ขาดกการบูรณาการ และที่สำคัญจะต้องหันมาคำนึงถึงหลักการขั้นพื้นฐานของการให้บริการสาธารณะ และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการให้บริการ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen-centric Approach) เพื่อตอบสนองความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อการให้บริการของภาครัฐที่จะต้องเป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่และเวลา ขณะเดียวกัน หน่วยงานซึ่งดำเนินการในการกำหนดนโยบาย จำเป็นต้องมีศักยภาพในสำรวจภาพทัศน์ (Scenario) เพื่อฉายให้เห็นข้อท้าทาย ตลอดจนถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ อันอาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ตลอดจนถึงต้องสามารถกำหนดรูปแบบนโยบายใหม่ๆ ซึ่งสามารถสนองกับข้อท้าทายทั้งที่เกิดขึ้นแล้ว และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลในหลายประเทศได้นำแนวคิด Innovation Lab เข้ามาใช้ในภาครัฐอย่างแพร่หลาย เพื่อรับมือกับความท้าทายที่แตกต่างกันไป ตามบริบททางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งต่างมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดตั้งที่แตกต่างกันออกไป เช่น Mind Lab ของประเทศเดนมาร์ก มุ่งเน้นให้หน่วยงานภาครัฐ ตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรม ตลอดจนให้องค์ความรู้และเครื่องมือในการสร้างนวัตกรรม UK Policy Lab ของสหราชอาณาจักร มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมมาใช้ในการวางนโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ THE Lab ของประเทศสิงคโปร์มุ่งเน้นนวัตกรรมในการพัฒนาประสิทธิภาพของภาครัฐในการยกระดับ งานบริการประชาชน เป็นต้น โดยปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐที่จัดตั้งโดยรัฐบาลอยู่ประมาณ 40 แห่งทั่วโลก นับตั้งแต่ Sitra ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นองค์กรเก่าแก่ที่มีอายุครบรอบ 51 ปี ในปี 2561 ที่ผ่านมา จนถึง Seoul Innovation Bureau ประเทศเกาหลีใต้ และ Open Mexico ประเทศเม็กซิโก ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในปี 2555 และปี 2556 ตามลำดับ เพื่อให้ระบบราชการไทยสามารถปรับตัวให้เข้ากับความต้องการได้นั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์เชิงนโยบายในการพัฒนาประเทศ ในนาม THAILAND 4.0 ซึ่งครอบคลุมประเด็นการพัฒนาระบบราชการให้เป็นระบบราชการ 4.0 ภายใต้การยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยเน้น 3 หลักการสำคัญ 1. การสร้างความร่วมมือ (Collaboration) 2. นวัตกรรม (Innovation) และ 3. การทำให้กระบวนงานมีความเป็นดิจิทัล (Digitalization) ซึ่งจะยกระดับไปเป็น Digital Transformation เพื่อให้ภาครัฐนั้นเป็นภาครัฐที่เป็นที่พึ่งของประชาชนและเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจได้ (Credible and Trusted Government)
“ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพลิกโฉมภาครัฐและบริการสาธารณะของประเทศไทย รัฐบาลได้มีการออกแบบ “ห้องทดลองภาครัฐ” ภายใต้ชื่อ Prime Minister Labs (PM Labs) อันประกอบไปด้วย 1. การสำรวจอนาคต (Future Lab) โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพ ห้องทดลองนี้จะทำการวิเคราะห์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในทุกมิติและจัดทำฉากทัศน์อนาคตของไทยในโอกาสที่สำคัญ ตลอดจนถึงการให้คำปรึกษาในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาองค์กรให้มีศักยภาพ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ 2. การริเริ่มและทดสอบนโยบาย (Policy Lab) โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นเจ้าภาพ โดยห้องทดลองดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการริเริ่มนโยบายใหม่ๆ โดยการเรียนรู้จากแนวทางการปฏิบัติที่ดีของสถานที่อื่นๆ การทดสอบนโยบายและนวัตกรรมเชิงนโยบายใหม่ๆ (Policy Testing) ตลอดจนถึง ร่วมมือในการวางมาตรการในการถ่ายทอดให้นโยบายนั้นไปสู่การปฏิบัติได้ 3. การออกแบบนวัตกรรมภาครัฐ (Government Lab) โดยสำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. เป็นเจ้าภาพ ห้องทดลองดังกล่าว จะช่วยออกแบบบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพสูงและตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยการยึดหลักการความต้องการของประชาชนผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง และเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเข้ามามีส่วนออกแบบรูปแบบการให้บริการ ตลอดจนถึงร่วมขับเคลื่อนและร่วมขยายผลให้มีการนำไปใช้ 4. การติดตามนโยบายสำคัญ (PMDU) โดยสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพ เพื่อให้สามารถติดตามผลการทำงานเชิงนโยบายของรัฐบาล และสามารถระบุถึงปัญหาและอุปสรรคเพื่อให้การทำงานนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว ห้องปฏิบัติการเหล่านี้รัฐบาลไทยคาดหวังว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบราชการไทยให้มีความสามารถที่จะรับมือกับข้อท้าทาย และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอนาคต และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่มีประสิทธิภาพ จากระบบราชการเดิมสู่ระบบราชการ 4.0 และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคประชาชน ทั้งในมิติทางด้านสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม” ดร.สุวิทย์ กล่าว
นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. ในฐานะโฆษก สำนักงาน ก.พ.ร. กล่าวว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ริเริ่มโครงการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ หรือ Government Innovation Lab (GovLab) ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนผู้รับบริการมีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมงานบริการภาครัฐ เป็นการร่วมคิดออกแบบ (Co-creation) เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ อันเกิดจากภาครัฐ โดยนำแนวคิด Design Thinking ซึ่งจะต้องมีการทดสอบ ทดลอง และนำไปขยายผล อันเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของภาครัฐ โดยใช้แนวคิด Design Thinking ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ การเข้าใจภาพรวม การเข้าถึงความต้องการการพัฒนาและทดสอบแนวคิด และการวางแผนเพื่อนำไปใช้ ในการดำเนินโครงการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. ได้รับความร่วมมือจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ประจำประเทศไทยในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ความรู้ในเรื่องของการสร้างนวัตกรรมภาครัฐแก่ผู้บริหารหน่วยงานและนวัตกรรมที่ปรึกษา อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานวัตกรรมต้นแบบของโครงการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐ
“ในปี 2562 มีแผนการดำเนินการห้องปฏิบัติการนวัตกรรมภาครัฐจำนวน 5 โครงการ ได้แก่
- ด้านการท่องเที่ยว ที่มีการพัฒนารูปแบบการอำนวยความสะดวกให้กับมัคคุเทศก์ในการตรวจสอบใบสั่งงานมัคคุเทศก์ (Job Order) 2. ด้านการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส มีการพัฒนารูปแบบการจัดเก็บฐานข้อมูลผู้ด้อยโอกาสที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการพื้นฐานทางสังคมของภาครัฐ และทำให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อการรับบริการจากภาครัฐ 3. ด้านงานตรวจคนเข้าเมือง มีการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการให้บริการการรายงานตัวของแรงงานต่างด้าว รวมทั้งให้ความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น 4. ด้านการศึกษา ที่มีการพัฒนาแนวทางการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ตามกรอบนโยบาย THAILAND 4.0 ที่มุ่งเน้นในเรื่องการเสริมสร้างทักษะ ทัศนคติ ความรู้ความสามารถทั่วไป (aptitude) และความรู้รายวิชา 5. ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ SMEs ที่มีการยกระดับจากการเป็น SMEs สู่การเป็น Internet Entrepreneur ที่มีความเชี่ยวชาญและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และทำความเข้าใจรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป”