แนะชาวสวนทุเรียน-มังคุด ฝ่าวิกฤติอากาศแปรปรวน

หลายปีที่ผ่านมาเมืองไทยประสบเจอสภาวะอากาศแปรปรวน ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากฤดูกาลคลาดเคลื่อนไปหมด ฤดูหนาวก็มีฝนตก ฤดูร้อนก็มีฝนตก จำนวนวันที่อากาศร้อนในรอบปีก็จะเพิ่มมากขึ้น ความแปรปรวนระหว่างฤดู ระหว่างปีต่อปี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลายพื้นที่โดนทั้งลมพายุ ภัยหนาว น้ำท่วม สภาพอากาศร้อนจัดจนเกิดภัยแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล สภาวะอากาศแปรปรวนเหล่านี้ ทำให้เกษตรกรวางแผนจัดการสวนไม้ผลได้ยากขึ้นเรื่อยๆ

รู้ทันสภาวะอากาศแปรปรวน

งานวิจัยเรื่องรูปแบบการแปรปรวนภูมิอากาศต่อการผลิตทุเรียนจังหวัดจันทบุรี ของนางสาวศิริพร วรกุลดำรงชัย ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร ภายใต้โครงการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือเครือข่ายนักวิจัยสิ่งแวดล้อม ของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเน้นศึกษาข้อมูลสภาวะภูมิอากาศในรอบ 30 ปีของกรมอุตุนิยมวิทยา เช่น การเปลี่ยนอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อการผลิตทุเรียน เพื่อนำผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในอดีตมาใช้เป็นบทเรียนสำหรับวางแผนการรับมือสภาวะอากาศในปัจจุบันและอนาคต

นางสาวศิริพร วรกุลดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

ผลการศึกษาวิจัยในเบื้องต้นพบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อพืชทั่วโลกหลายชนิด เช่น ท้อและบ๊วย ทางภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศส ในช่วงปี ค.ศ. 1970-2001 ออกดอกเร็วขึ้น 1-3 สัปดาห์ เชอรี่บานเร็วขึ้น 2.2 วันในระยะเวลากว่า 10 ปี เมื่ออุณภูมิสูงขึ้น 1-4 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส หรือปริมาณน้ำฝนลดลงเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโน ล้วนส่งผลกระทบทำให้ข้าวและธัญพืชในประเทศอังกฤษ อินเดีย และฟิลิปปินส์ ปรับตัวลดลง เช่นกันกับต้นทุเรียนที่ปลูกในจังหวัดจันทบุรี ในช่วงปี 2548 และ2550 หลังเจอสภาวะอากาศแปรปรวน ต้นทุเรียนออกดอกและเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้นกว่าในปีก่อนๆ 3-4 สัปดาห์

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบต่อการกระจายทางภูมิศาสตร์ของแมลง เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะเร่งการเกิดโรคพืชและแมลงเร็วขึ้น และการแพร่ระบาดขยายตัวในวงกว้าง จากที่ลุ่มสู่พื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล จากเส้นศูนย์สูตรสู่ขั้วโลกเหนือและใต้ จะเห็นได้ว่าทางภาคเหนือของจีนในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มการเกิดโรคและแมลงรุนแรงขึ้น

สภาวะอากาศแปรปรวนในสวนทุเรียน

สภาพภูมิอากาศในจังหวัดจันทบุรี ในช่วงระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาเทียบกับปัจจุบัน พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ความแปรปรวนของสภาพอากาศมีรูปแบบที่ไม่แน่นอน บางปีเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวทุเรียนได้เร็วกว่าปกติ ต้นทุเรียนมีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง แม้มีปัจจัยสภาพภูมิอากาศอากาศที่ไม่เหมาะสมมาแทรกซ้อนในแต่ละขั้นตอนการพัฒนาการของทุเรียนเกิดขึ้นบ้างแต่ไม่รุนแรง ต้นทุเรียน มีความสมบูรณ์ต้นดีพร้อมที่จะออกดอก เมื่อกระทบช่วงแล้ง ต้นทุเรียนออกดอกได้ในปริมาณมาก และเป็นดอกรุ่นเดียวกัน การติดผลดี ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

สภาวะอากาศแปรปรวน ส่งผลกระทบให้ต้นทุเรียนออกดอกถึง 3 รุ่น หลังการเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมต้นทุเรียนให้พร้อมสำหรับการออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม – ตุลาคม โดยช่วงเวลาดังกล่าว มีอุณหภูมิสูงสุด 32.63 องศาเซลเซียส และต่ำสุดเฉลี่ย 24.41 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนรวมรายปี 3,082.1 มิลลิเมตร ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 80.52 % ส่งผลทำให้ต้นทุเรียนแตกใบอ่อน 2-3 รุ่น ในช่วงก่อนชักนำให้ออกดอก

ทุเรียนขาดน้ำในระยะดอกบาน เป็นผลให้กลีบดอกหม้อตาลหุ้มผลติดอยู่ และไม่เจริญเติบโต

โดยทั่วไป ต้นทุเรียนเป็นไม้ผลที่ต้องการช่วงแล้งประมาณ 10-14 วันในการชักนำให้ออกดอก แต่ปลายเดือนตุลาคม – ธันวาคม กลับเจอฝนทิ้งช่วงเร็ว มีอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้ง ต้นทุเรียนที่มีความสมบูรณ์ดีพร้อมจะออกดอกได้ แต่ต้นที่ยังไม่พร้อมที่จะออกดอก เจอฝนตก และมีอุณหภูมิร้อน-หนาวเย็นสลับกัน และมีน้ำค้างมากในบางวัน ทำให้ต้นทุเรียนออกดอก และการพัฒนาของดอกชงัก ส่งผลให้ทุเรียนจันทบุรีในปีการผลิต 2553/2554 ออกดอกถึง 3 รุ่น รุ่นแรกออกดอกต้นเดือนพฤศจิกายน มีปริมาณดอกมากที่สุด 60% รุ่นที่สองออกดอกประมาณต้นเดือนธันวาคม  ปริมาณดอก 30% รุ่นที่ 3 ออกดอกต้นเดือนมกราคม ปริมาณดอก 10% ทำให้มีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมีนาคม

ทุเรียนทะยอยออก 3 รุ่น ต้นทุเรียนติดผลดี ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ

โดยรวมถือว่า ต้นทุเรียนให้ผลผลิตเร็วกว่าปีก่อน ๆ แม้ต้นทุเรียนจะมีผลผลิตทยอยออก 3 รุ่น แต่ได้ผลผลิตคุณภาพดี โดยทุเรียนทะยอยเข้าสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน ไม่กระจุกตัวในช่วงเวลาเดียวกันหมือนทุกปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาค่อนข้างสูง

สภาวะอากาศแปรปรวนในสวนมังคุด

มังคุดเป็นผลไม้ที่ต้องการช่วงแล้งในการชักนำออกดอกยาวนานกว่าทุเรียนประมาณ 20-30 วันขึ้นไป เมื่อมีฝนตกมาเป็นระยะๆ ทำให้ช่วงแล้งในการชักนำการออกดอกของมังคุดไม่มากพอ เมื่อเจอภาวะอากาศร้อนสลับหนาวเย็นเป็นช่วงๆ ส่งผลให้มังคุดออกดอกค่อนข้างล่าช้า

ยกตัวอย่าง ปีการผลิต 2553/2554 มังคุดออกดอกล่าช้ามากในราวเดือนกุมภาพันธ์ จากปกติที่ต้นมังคุดจะออกดอกช่วงเดือนธันวาคม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพของมังคุดเนื่องจากเกษตรกรต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงฤดูฝน ทำให้ผลมังคุดเกิดอาการเนื้อแก้วยางไหล

ผลมังคุดที่มีอาการเนื้อแก้วยางไหลภายในผล
ดอกมังคุดที่ออกผลล่าในสภาพแวดล้อมแปรปรวนทำให้ออกดอกเป็นช่อ ดอกและผลมีขนาดเล็ก

นอกจากนี้ ต้นมังคุดที่อั้นจะออกดอกมาเป็นเวลานาน เมื่อได้รับอากาศที่เหมาะสมจึงออกดอกมาเต็มต้น แต่จะออกดอกเป็นกระจุกเหมือนดอกโป๊ยเซียน และติดผลค่อนข้างมาก ทำให้ผลมีขนาดค่อนข้างเล็ก สภาวะอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้น เกษตรกรบางรายไม่รู้ว่าควรจะจัดการอย่างไร จะให้น้ำต่อไปหรือหยุดให้น้ำ หากให้น้ำมากเกินไป มังคุดแตกใบอ่อนทั้งต้น บางรายให้น้ำเสร็จฝนตก รอบของฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป

แนะวิธีรับมือสภาวะอากาศแปรปรวน

ทั้งนี้ เกษตรกรควรหมั่นสังเกตและจดบันทึกการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในทุกๆ ปี เพื่อเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศว่ามีผลกระทบ ต่อการผลิตทุเรียนอย่างไร ในช่วงไหนบ้าง ถ้าเกิดสภาพอากาศแห้งแล้งแล้วมีฝนตกลงมา ทำให้ทุเรียนแตกใบอ่อน หรือทุเรียนดอกกำลังบาน เกิดมีฝนทำให้ไม่เกิดการผสมเกสร หรือฝนตกในช่วงติดผล ทำให้ผลร่วง ฯลฯ

ผลมังคุดที่ติดเป็นกระจุก จะร่วงเหลือเพียง 1 ผลและมีขนาดเล็ก

ขณะเดียวกันเกษตรกรควรจดบันทึกเกี่ยวกับปัจจัยสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ อุณหภูมิร้อน เย็น ฝนตกมาก ฝนตกน้อย ความชื้นสัมพัทธ์ มีผลกระทบต่อการผลิตทุเรียนอย่างไร ในกรณีที่มีอากาศ หนาวมากเกินไป (ดอกจะไม่บาน) ร้อนมากเกินไป (ดอกอาจร่วง) เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้วางแผนปรับตัวหรือจัดการสวนผลไม้ ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

เกษตรกรชาวสวนทุเรียนและมังคุดควรปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ โดยระลึกเสมอว่า ความเสี่ยงอากาศแปรปรวนมีแนวโน้มเกิดขึ้นเรื่อยๆ ควรวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในอนาคตด้วยความไม่ประมาท

หลังจากการเก็บเกี่ยวให้เตรียมต้นให้พร้อมทันที เร่งตัดแต่งกิ่งและใส่ปุ๋ย เพื่อบำรุงฟื้นฟูความสมบูรณ์ของต้นให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด เร่งให้ต้นทุเรียนแตกใบอ่อน พร้อมสร้างอาหาร ผลิดอกออกผลต่อไป หากเกษตรกรละเลยการเตรียมพร้อมดังกล่าว เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมมาถึงจะสูญเสียโอกาสในการทำให้ต้นไม้ผลิดอกออกผลได้ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นางสาวศิริพร วรกุลดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-3939-7030 , 0-3939-7146