อากาศแห้งแล้งให้ระวังหนอนกออ้อยระบาด

หนอนกอสีชมพู

สภาพอากาศแห้งแล้ง อาจส่งผลกระทบต่ออ้อยปลูกใหม่และอ้อยตอในระยะเก็บเกี่ยวถึงระยะแตกกอ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวไร่อ้อยเฝ้าระวังการระบาดของหนอนกออ้อย มักพบการเข้าทำลายของหนอนกออ้อยอยู่ 3 ชนิด คือ หนอนกอลายจุดเล็ก หนอนกอสีขาวและหนอนกอสีชมพู

หนอนกอลายจุดเล็ก

หนอนกอลายจุดเล็ก ตัวหนอนจะเจาะเข้าไปตรงส่วนโคนระดับผิวดิน และเข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดอ้อยแห้งตาย ผลผลิตอ้อยลดลง 5-40% และยังพบหนอนเข้าทำลายอ้อยในระยะอ้อยย่างปล้อง โดยหนอนจะเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในลำต้นอ้อย ทำให้อ้อยแตกแขนงใหม่ และแตกยอดพุ่ม

ส่วน หนอนกอสีขาว ตัวหนอนจะเจาะไชจากส่วนยอดเข้าไปกัดกินยอดที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ยอดแห้งตายโดยเฉพาะใบที่ยังม้วนอยู่ ส่วนใบยอดอื่นๆ ที่หนอนเข้าทำลายจะมีลักษณะหงิกงอ และมีรูพรุน เมื่ออ้อยมีลำแล้ว หนอนจะเข้าทำลายส่วนที่กำลังเจริญเติบโต ทำให้ไม่สามารถสร้างปล้องให้สูงขึ้นไปได้อีก ตาอ้อยที่อยู่ต่ำกว่าส่วนที่ถูกทำลายจะแตกหน่อขึ้นมาทางด้านข้าง และเกิดอาการอ้อยแตกยอดพุ่ม

หนอนกอสีชมพู

หนอนกอสีชมพู หนอนจะเจาะเข้าไปกัดกินตรงส่วนโคนของหน่ออ้อยระดับผิวดิน เข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดแห้งตาย ถึงแม้ว่าหน่ออ้อยที่ถูกทำลายจะสามารถแตกหน่อใหม่เพื่อชดเชยหน่ออ้อยที่เสียไป แต่หน่ออ้อยที่แตกใหม่จะมีอายุสั้นลง ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของอ้อยลดลง

สำหรับแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาหนอนกออ้อย ให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในแหล่งชลประทาน ควรให้น้ำเพื่อให้อ้อยแตกหน่อชดเชย และปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา อัตรา 30,000 ตัวต่อไร่ต่อครั้ง ให้ปล่อยติดต่อกัน 2-3 ครั้ง ใช้ในช่วงที่พบกลุ่มไข่ของหนอนกออ้อย

รอยทำลายของหนอนกออ้อย
อาการยอดเหี่ยวจากการทำลายของหนอนกออ้อย

เมื่ออ้อยอายุ 1 เดือนไปแล้ว หรืออ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยว 10% ควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงเดลทาเมทริน 3% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 14 วัน กรณีพบการระบาดของหนอนกออ้อยหรืออ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยวมากกว่า 10% ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงอินดอกซาคาร์บ 15% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารลูเฟนนูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นในอัตราส่วน 60 ลิตรต่อไร่

อาการยอดเหี่ยว