สวนมะม่วงให้ระวัง “ด้วงงวงกัดใบมะม่วง”

ช่วงนี้มีอากาศเย็น อุณหภูมิลดต่ำลง มีหมอกในตอนเช้า และมีแดดแรงในตอนกลางวัน กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนมะม่วงให้เฝ้าระวังสังเกตการเข้าทำลายของด้วงงวงกัดใบมะม่วง มักพบการระบาดในระยะที่มะม่วงแตกใบอ่อน

โดยจะพบตัวเต็มวัยเป็นด้วงงวงขนาดเล็ก ก่อนการวางไข่ ด้วงงวงตัวเต็มวัยเพศเมียจะใช้อวัยวะที่อยู่ปลายงวงเจาะที่ด้านข้างของเส้นกลางใบมะม่วง จากนั้นจะวางไข่ตามแกนกลางใบอ่อนประมาณ 2-14 ฟองต่อใบ เมื่อวางไข่เสร็จแล้ว ด้วงงวงกัดใบมะม่วงจะกัดใบอ่อนห่างจากขั้วใบประมาณ 1-2 เซนติเมตรจนเหลือแต่โคนใบไว้บนต้น ภายในระยะเวลา 2-3 วัน ทำให้ใบอ่อนส่วนที่มีไข่ติดอยู่ร่วงหล่นลงบนพื้นดิน

ลักษณะรอยกัดจะเป็นเส้นตรงเหมือนใช้กรรไกรตัด เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนจะเจาะเส้นกลางใบและแทรกตัวเข้าไปกัดกินเนื้อเยื่อใต้ผิวใบ หนอนจะเจริญเติบโตอยู่ภายในใบมะม่วงที่ร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน จากนั้นจะเข้าดักแด้ตามพื้นดินที่มีความชื้นโดยใช้ดินสร้างเป็นรังดักแด้

เกษตรกรควรเก็บใบอ่อนมะม่วงที่ถูกกัดร่วงตามโคนต้นนำไปเผาหรือฝังทำลายทิ้งทันที เพื่อทำลายไข่และหนอนด้วงงวงกัดใบมะม่วง จากนั้น ให้เกษตรกรไถพรวนดินเพื่อจะช่วยลดความเสียหายลงได้

สำหรับในระยะที่มะม่วงแตกใบอ่อน หากพบการเข้าทำลายของด้วงงวงกัดใบมะม่วง เกษตรกรควรพ่นด้วยสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร การใช้สารกำจัดแมลงควบคุมแมลงศัตรูมะม่วงชนิดอื่นๆ มีส่วนช่วยลดการเข้าทำลายด้วงงวงกัดใบมะม่วงด้วย