เกษตรฯ ไขปัญหาแมลงวันผลไม้

กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าสร้างความเข้าใจวิธีและเทคโนโลยีกำจัดแมลงวันผลไม้ที่มีประสิทธิภาพ

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า แมลงวันผลไม้ หรือแมลงวันทอง เป็นศัตรูพืชที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในไม้ผลหลายชนิด เช่น พุทรา มะม่วง ฝรั่ง ชมพู่ กระท้อน ลองกอง เป็นต้น นอกจากนั้น ประเทศคู่ค้าส่งออกของไทยยังถือว่าแมลงวันผลไม้เป็นศัตรูพืชกักกันในการส่งออกด้วย แมลงวันผลไม้จึงเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการส่งออกไม้ผลของประเทศไทย

โดยแมลงวันผลไม้มีวงจรตลอดชีวิตนานกว่า 3 เดือน ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารในธรรมชาติ แมลงวันผลไม้เพศเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ประมาณ 1,200-1,500 ฟอง โดยจะวางไข่ภายใต้ผิวเปลือกของผลไม้ เมื่อไข่ฟักพัฒนาเป็นตัวหนอนก็จะกัดกินเนื้อผลภายใน ระยะหนอนนี้จะเป็นระยะที่ทำลายพืชผลทางการเกษตรได้อย่างมาก ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร

 

วิธีการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น เก็บผลไม้เน่าเสียหรือร่วงหล่นไปฝังกลบให้มิดชิด หรือนำไปทำน้ำหมัก ทำความสะอาดสวนและตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ตัดพืชอาศัยที่เป็นแหล่งอาหารของแมลงวันผลไม้ แขวนกับดักกาวเหนียว ใช้เหยื่อโปรตีนและสารล่อแมลงวันผลไม้เพศผู้ ใช้เทคโนโลยีแมลงเป็นหมันเพื่อควบคุมแมลงวันผลไม้ในธรรมชาติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กรมส่งเสริมการเกษตร โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทยสนับสนุนและสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรเกิดความเข้าใจในวงกว้าง

เนื่องจากเกษตรกรส่วนหนึ่งมีความกังวลว่า การปล่อยแมลงเป็นหมันเข้าไปในสวนผลไม้จะเป็นการเพิ่ม ความเสียหายจากแมลงวันผลไม้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะการปล่อยแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันเข้าไปในสวน เมื่อไปผสมพันธุ์กับแมลงวันผลไม้ที่ไม่เป็นหมันจะทำให้แมลงวันที่ไม่เป็นหมันไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ เป็นการลดจำนวนประชากรของแมลงวันผลไม้ สำหรับรอยเจาะของแมลงวันผลไม้ที่เป็นหมันไม่สามารถสร้างความเสียหายให้กับผลไม้ได้ เนื่องจากไข่ไม่สามารถฟักพัฒนาเป็นตัวหนอนได้ และร่องรอยจะจางหายไปเองเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว

ทั้งนี้ หากเกษตรกรสนใจรายละเอียดเรื่องเทคโนโลยีแมลงเป็นหมัน สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศทอ. หรือศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน หรือสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน เพื่อร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกรและนำเทคโนโลยีการเกษตรต่างๆ ไปใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป