ปรากฏการณ์ ‘ข้าวโพดหลังนา’ รัฐเอื้อเกษตรกร

โครงการข้าวโพดหลังนาที่ภาครัฐรณรงค์ให้ชาวนางดปลูกข้าวนาปรัง แล้วเชิญชวนให้หันมาปลูก “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ต่อจากข้าวนาปีแทนนั้น น่าแปลกใจที่โครงการดีๆ แบบนี้กลับมีบางคนเห็นเป็นเรื่องหนุนนายทุนไปเสีย ทั้งๆ ที่มันมีเหตุผลประกอบหลายประการและทั้งหมดเป็นผลประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศชาติเป็นหลัก

ประการแรก : ลดปริมาณผลผลิตข้าวที่กำลังล้นตลาด เพื่อดึงราคาข้าวให้สูงขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นแนวโน้มราคาข้าว จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ที่ระบุว่าในปี 2562 “ข้าว” จะเป็นสินค้าเกษตรที่มีปัญหาน้อยที่สุด โดยในปี 2562 คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผลผลิตข้าวนาปีเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ-ข้าวเปลือกหอมปทุมธานีในปี 2561 ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะ “ข้าวหอมมะลิ” ทำสถิติราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึงตันละ 18,000 บาท

ประการที่สอง : ลดปริมาณการใช้น้ำ จากภาวะ “แล้ง” ประเทศเราขาดแคลนน้ำอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา รัฐจึงต้องรณรงค์ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทน หวยจึงมาออกที่ “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ที่ใช้น้ำน้อย ใช้เวลาปลูกน้อย และที่สำคัญ มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อชาวนาไทย

ประการที่สาม : รัฐสามารถหักคอกำหนดราคาขั้นต่ำของการรับซื้อข้าวโพดหลังนาได้ โดยบังคับ (หรือจะใช้คำไพเราะว่า ขอความร่วมมือ) ไปยังเอกชนผู้ผลิตอาหารสัตว์ นโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนานี้ ส่งผลให้ “ข้าวโพด” มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบันราคาปรับสูงขึ้นกว่า กก.ละ 9-10 บาท จากราคาขั้นต่ำที่กำหนดไว้ กก.ละ 8.00 บาท และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงกลายเป็นพืชเกษตรอีกชนิดหนึ่งที่มีแนวโน้มราคาดีอย่างต่อเนื่อง ตามข้อมูลของ สศก.

ใครคือลูกไล่กันแน่?

ลองมาดูในฝั่งเอกชนบ้าง … เอาเข้าจริงๆ ประโยชน์ข้อเดียวที่ได้รับ คือมีผลผลิตข้าวโพดที่เพิ่มขึ้น จากที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เคยเพียงพอต่อการใช้ (แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่พออยู่ดี) นำไปสู่การที่ “ไอ้โม่ง” ใช้วิธีลักลอบนำข้าวโพดต่างชาติมาสวมสิทธิเป็นข้าวโพดไทยอยู่เสมอๆ

ส่วนข้อเสียที่ภาคเอกชนจำต้องแบกรับคือต้องยอมให้รัฐและเกษตรกรสูบเลือดสูบเนื้อ รับซื้อข้าวโพดในราคาที่ถูกบังคับขั้นต่ำ 8.00 บาท/ กก. ซึ่งสูงกว่าตลาดโลก แถมยังไม่มีเพดานราคา ไม่รู้จะวิ่งไปถึงเท่าไหร่ กลายเป็นต้นทุนมหาศาลของห่วงโซ่การผลิตอาหาร ที่จะส่งผลถึงความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติและอาจกระทบการส่งออกไปโดยปริยาย ราคาประกันที่ว่าจึงไม่ใช่ราคาในฝันของเกษตรกร แต่เป็นราคาที่เกินฝันไปแล้ว

ด้วยราคาที่สูงขนาดนี้ ทำให้ท่านนายกรัฐมนตรีถึงกับต้องสั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงเพิ่มมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าข้าวโพดตามตะเข็บชายแดนอย่างเข้มงวด เพื่อให้รายได้ตกถึงมือเกษตรกรไทย ไม่ใช่ตกในมือพ่อค้าพืชไร่ที่ลักลอบนำข้าวโพดที่อื่นเข้ามา

ข้อเสียอีกข้อคือ ชาวนามีอาชีพปลูกข้าวเป็นงานหลัก แต่การปลูกข้าวโพดหลังนาเป็นเพียงอาชีพเสริม ทักษะการปลูก การเก็บเกี่ยว คงไม่อาจเทียบเท่าชาวไร่ข้าวโพดตัวจริง จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลกำหนดเป้าหมายข้าวโพดหลังนาไว้ 2 ล้านไร่ จะมีชาวนาเข้าร่วมโครงการไม่ถึงครึ่ง ก็เพราะคนมักจะทำในสิ่งที่ตนเคยชินเป็นหลัก

และด้วยเหตุของการปลูกเพียงเป็นอาชีพเสริมทำให้ผลผลิตที่เกิดขึ้นอาจมีคุณภาพไม่ทัดเทียมชาวไร่ข้าวโพด แต่โครงการนี้ก็ยังสามารถบังคับภาคเอกชนให้รับซื้อได้ แบบนี้พอจะกล่าวได้ไหมว่า รัฐทุบเอกชนเอื้อเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือในการสนองนโยบายที่ดีของรัฐ และยินดีช่วยรับซื้อข้าวโพดในราคาสูงกว่าตลาดโลกของภาคเอกชนที่นับเป็นการเพิ่มรายได้เกษตรกรไทยอย่างชัดเจนนี้ นัยหนึ่งก็เพราะต้องการปริมาณข้าวโพดเพิ่มขึ้นดังกล่าวข้างต้น อีกนัยหนึ่งก็เพื่อช่วยสนับสนุนเชิงวิชาการให้เกษตรกรสามารถเพื่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของห่วงโซ่อุตสาหกรรมด้วย

ภาคเกษตรไทยต้องปรับตัว

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ พูดถึงนโยบายรัฐที่ควรจะสนับสนุนให้เกษตรกรก้าวเดิน สรุปความตอนหนึ่งได้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางเลือกไม่ใช่ทางออกใหญ่ของภาคเกษตรไทย ทางออกใหญ่ของเรายังเป็นเกษตรเชิงพาณิชย์ และประเทศไทยก็มีความสามารถด้านนี้ กระทั่งเป็นประเทศที่ส่งออกด้านการเกษตรอันดับ 10-12 ของโลก

นักวิชาการท่านนี้สนับสนุนการทำเกษตรแปลงใหญ่ที่ต้องนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาจัดการ ไม่ใช่ปล่อยไปตามดินฟ้าอากาศเหมือนสมัยปู่ย่าตายายทำ ทั้งยังยกตัวอย่างว่าแปลงเกษตรสมัยใหม่ แปลงใหญ่ไม่จำเป็นต้องทำในนามบริษัท แต่ครัวเรือนเกษตรก็เป็นเจ้าของแปลงเกษตรขนาด 500-1,000 ไร่ได้… อย่างที่มีคนบอกว่ากฎหมายเช่านา เจ้าของที่ดินเอาเปรียบชาวนา ปัจจุบันกลับด้านกันแล้ว…เจ้าของที่นากลับเป็นฝ่ายกลัว เพราะไม่มีคนเช่าทำนากัน

ที่ยกตัวอย่างมานี้คือนักวิชาการที่มีความรู้จริง ศึกษาวิจัยงานด้านภาคเกษตรมาจริง และไม่ได้ศึกษาเฉพาะในประเทศไทย แต่ท่านศึกษามาแล้วหลายประเทศทั่วโลก หวังว่าตรงนี้น่าจะพอเปิดโลกทัศน์ของบางคนได้บ้าง

“โครงการข้าวโพดหลังนา” เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เข้ามาจัดการ มีการวางแผนการผลิต ใช้การตลาดนำการผลิต เป็นความพยายามของรัฐที่มุ่งแก้ปัญหาผลผลิตข้าวล้นตลาด ราคาข้าวตกต่ำ แก้ปัญหาน้ำแล้ง แก้ปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอ และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร เรียกว่าแก้หลายปัญหาได้ด้วยโครงการเดียว… ใครที่ไม่ได้ช่วยคิดแก้ปัญหาก็อย่าเอาเท้าเข้ามาราน้ำเลย

ดำรง พงษ์ธรรม