เผยแล้ว! สิทธิการขออนุญาต ปลูกกัญชา ให้เฉพาะ “คนสัญชาติไทย” เท่านั้น!

ปลูกกัญชา สัญชาติไทย – เมื่อวันที่ 11 ม.ค. นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปรามปรามยาเสพติด กล่าวถึงความคืบหน้า การนำกัญชาใช้ทางการแพทย์ ว่าขณะนี้รอตัวร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดฯที่มีการเปลี่ยนแปลงตามประมวลยาเสพติดในสาระสำคัญกัญชายังเป็นยาเสพติดที่ผิดกฎหมายส่วนการผ่อนปรนเพื่อให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรือการศึกษาวิจัยได้ สำหรับประเด็นการนำเข้า ส่งออก จำหน่ายครอบครอง อยู่ในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางการแพทย์เภสัชกรเป็นผู้ได้รับอนุญาต

แต่ในกรณีการขออนุญาตปลูกที่เป็นบุคคลจะต้องเป็นการรวมตัวกันเป็นลักษณะสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน หรือวิสาหกิจสังคมที่จดทะเบียนและต้องดำเนินการกับหน่วยงานของรัฐและที่สำคัญผู้ที่จะดำเนินการได้ จะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น

หากดำเนินการในรูปแบบของสหกรณ์ ก็ต้องมีบุคคลที่ต้องมีสัญชาติไทยอย่างน้อย 2 ใน 3  ส่วนการดูแลและจัดการหน่วยงานรัฐจะต้องจัดวางระบบก่อนอนุญาตให้บุคคลและวิสาหกิจชุมชนเข้าไปดำเนินการ

เลขาธิการป.ป.ส.กล่าวอีกว่า ขณะนี้คณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ยังอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดตั้งแต่การคัดสายพันธ์การปลูก การสกัด โดยดูตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางรวมถึงการนำสารสกัดไปใช้ประโยชน์จะดำเนินการอย่างไรให้เป็นไปอย่างถูกต้องในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการศึกษาอยู่

แต่ปปส.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดูในเรื่องการออกแบบโรงเรือน สำหรับการปลูกกัญชาทีเป็นแบบพื้นๆมากที่สุดเพื่อให้คนไทยที่รวมตัวกันในลักษณะวิสาหกิจชุมชนสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงและป้องกันไม่ให้หลุดลอดรั่วไหลออกไปไม่ว่าผลผลิตจะใช้ได้หรือไม่ได้ก็ตามจะถูกดูแลจัดการอย่างไรส่วนเอกชนไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ทั้งสิ้น

นายนิยม กล่าวอีกว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะให้ปลูกในพื้นที่ใดได้บ้าง แต่ถ้าการปลูกภายใต้การควบคุมดูก็จะมีปัญหาน้อยเพราะการปลูกในพื้นที่ปิดจะมีการควบคุมอากาศน้ำดิน ซึ่งมีผลต่อการให้สารTHCเพราะสารตัวนี้จะมีผลต่อการนำไปใช้ทางการแพทย์หากค่าของสารTHCเปลี่ยนแปลงก็ใช้ไม่ได้ และอาจส่งให้ผู้ปลูกกัญชาขาดทุนทั้งนี้ยังไม่ได้มีการสรุปสายพันธ์ที่จะนำมาปลูก แต่ก็มีการศึกษาอยู่บ้าง

นอกจากนี้การใช้ประโยชน์จากพืชกัญชาเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานทั้งตัวโทษที่ยังพืชเสพติดและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หากยึดโยงไปถึงขั้นใช้ในอุตสาหกรรมได้ต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายต่างประเทศและทรัพย์สินทางปัญหาซึ่งค่อนข้างมีปัญหาซับซ้อนดังนั้นจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะหากมีผลเสียกว่าผลดีประชาชนก็จะได้รับผลกระทบมากกว่าโดยระหว่างนี้คณะทำงานฯกำลังร่างกฎกระทรวงคู่ขนานกับการแก้กฎหมายยาเสพติดคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้เร็วๆนี้