“ แอปเปิ้ลเมล่อน” ไม้ผลทำเงินที่น่าปลูก

เมล่อนแอปเปิ้ล คุณภาพแบบนี้ที่ตลาดต้องการ

“แอปเปิ้ลเมล่อน” พืชตระกูลแตง เป็นไม้ผลที่ชอบอากาศร้อน เติบโตได้ดีในสภาพดินทราย แถมให้ผลผลิตที่ดีคุ้มค่ากับการลงทุน ทำให้ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ ตำบลอ่างหิน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี หันมาปลูกแอปเปิ้ลเมล่อนอย่างแพร่หลาย

แอปเปิ้ลเมล่อน เป็นผลไม้ที่ขายง่ายและมีช่องทางตลาดกว้าง เพราะผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ไม่นิยมบริโภคเมล่อนผลใหญ่ แค่ต้องการเมล่อนผลเล็กสำหรับใช้ไหว้พระ ไหว้เจ้า ซึ่งแอปเปิ้ลเมล่อนตอบโจทย์ตลาดในประเด็นดังกล่าวได้อย่างดี เพราะแอปเปิ้ลเมล่อนมีผลขนาดเล็ก น้ำหนักเฉลี่ยลูกละ 400-500 กรัม หรือประมาณ 2-3 ผล/ก.ก.

นอกจากนี้ แอปเปิ้ลเมล่อน ยังมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวและมีความหวาน 12-14 บริกซ์ แอปเปิ้ลเมล่อนมีเนื้อสีเขียวอมขาวรสชาติหวานกรอบ แถมใช้เวลาปลูกดูแลแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 65 วัน หลังหยอดเมล็ด เรียกว่า ให้ผลผลิตไว และให้ผลตอบแทนที่ดี คุ้มค่ากับการลงทุน แถมเป็นผลไม้ที่มากคุณประโยชน์ ครองใจกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกต่างหาก

แอปเปิ้ลเมล่อน ปลูกได้ 2 รูปแบบ

เกษตรกรในจังหวัดราชบุรี ปลูกแอปเปิ้ลเมล่อนใน 2 รูปแบบ คือ 1. ปลูกในระบบโรงเรือน โดยทำค้างเพื่อให้ผลแอปเปิลเมล่อนห้อยลงมาทำให้มีผิวสวยได้ขนาดไม่มีตำหนิ และยังเป็นการป้องกันแมลง ป้องกันฝน

แปลงแอปเปิ้ลเมล่อนที่ปลูกกลางแจ้ง

รูปแบบที่ 2 คือ ปลูกกลางแจ้งนอกโรงเรือน ทำให้มีต้นทุนต่ำแต่มีจุดอ่อนคือ ผลแอปเปิ้ลเมล่อนอยู่ติดดิน เสี่ยงทำให้ผิวผลผลิตไม่ค่อยสวยเหมือนกับการปลูกในโรงเรือน เกษตรกรนิยมวางแผนการผลิตเป็นรุ่นๆ ละ 2-3 ไร่ ทยอยปลูกห่างกันประมาณ 7-10 วัน เพื่อให้มีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดตลอดทั้งปี

การปลูกดูแล

เมล็ดพันธุ์ เป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่สำคัญมาก เกษตรกรนิยมเลือกใช้เมล็ดพันธุ์จากแหล่งผลิตที่ไว้ใจได้ เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่ปลอดเชื้อโรค สามารถนำมาเพาะขยายพันธุ์ได้ทันที หลายรายนิยมเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์แอปเปิ้ลเมล่อน จาก บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีต้นทุนการผลิต ประมาณ 1 บาทกว่า ต่อเมล็ด

การเพาะเมล็ด ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความสำเร็จ หากดูแลจัดการไม่ดีพอก็เสี่ยงกับการสูญเสียผลผลิตทั้งหมดได้ เกษตรกรนิยมเพาะเมล็ดภายในโรงเรือนปลอดเชื้อ หลังจากนำเมล็ดออกจากถุง จะผสมน้ำให้ชุ่มก่อนนำมาหยอดใส่ถาดเพาะเมล็ด โดยใช้วัสดุเพาะกล้าที่ให้ผลดีที่สุด คือ พีทมอสส์ ทำให้เมล็ดพันธุ์มีอัตราการงอกถึง 95 เปอร์เซ็นต์

สำหรับแปลงปลูกกลางแจ้ง ก่อนลงมือปลูก เกษตรกรจะปรับพื้นที่ในลักษณะแปลงยกร่อง รองพื้นดินในหลุมด้วยปุ๋ยคอก ใช้ผ้าพลาสติกคลุมแปลงปลูก ให้ปุ๋ยในระบบน้ำหยด เมื่อต้นกล้าที่เพาะไว้เติบโตได้ขนาดที่ต้องการ จะย้ายต้นกล้ามาปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ โดยขุดหลุมลึก 6-7 เซนติเมตร ปลูกในระยะห่างระหว่างต้น ประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการดูแลจัดการแปลง

แอปเปิ้ลเมล่อนที่รอการเก็บเกี่ยว
ผลผลิตรุ่นใหม่ ที่กำลังผลิบานในแปลง

โดยทั่วไป เกษตรกรจะให้ปุ๋ยตั้งแต่เริ่มปลูก-เก็บเกี่ยว ประมาณ 7-8 ครั้ง ต่อรุ่น โดยให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 เฉลี่ยครั้งละ 5 กรัม/ต้น ประมาณสัปดาห์ละ 1 ครั้ง พร้อมให้น้ำในระบบท่อน้ำหยดควบคู่กันไป การปลูกแอปเปิ้ลเมล่อน ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานช่วยผสมเกสรเหมือนกับเมล่อนสายพันธุ์อื่นๆ เนื่องจากอาศัย ผึ้ง เป็นตัวช่วยผสมเกสรตามธรรมชาติ เมื่อต้นแอปเปิ้ลเมล่อนเริ่มติดผล เกษตรกรจะคัดเลือกผลผลิตที่มีคุณภาพดีเก็บไว้เพียงต้นละ 1 ลูก เท่านั้น ผลที่ไม่สมบูรณ์จะถูกคัดทิ้ง

โรคแมลงศัตรูพืช

การปลูกแอปเปิ้ลเมล่อน มักเจอปัญหาโรคเหี่ยว โดยเชื้อราจะเข้าทางรากต้นพืช ในระยะต้นอ่อนใบเลี้ยงจะเหี่ยว เปลี่ยนเป็นสีเหลือง ร่วง พืชแสดงอาการเหี่ยวเฉาจากส่วนยอดลงมา ส่วนเถาของต้นที่โต จะแสดงอาการใบล่างเหลือง และแสดงอาการหลายอย่าง เช่น ต้นแตก เกิดอาการเน่าที่โคนและซอกใบ เมื่อเกิดอาการเน่า จะพบเชื้อราสีขาวบริเวณรอยแตก ทำให้ต้นพืชแสดงอาการเหี่ยวและตายในที่สุด

แนวทางแก้ไขปัญหาโรคเหี่ยว คือ ถอนต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลายทิ้ง และป้องกันโรคโดยใช้สารจุลินทรีย์ เช่น ไตรโคเดอร์มา นอกจากนี้ วางแผนป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวในแนวทางอื่นๆ เช่น ปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง ของดินปลูกให้เหมาะสมคืออยู่ที่ pH 6.5 พร้อมใส่ปุ๋ยไนเตรทตและไนโตรเจน เพื่อลดความรุนแรงของโรค รวมทั้งใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน

ต้นแอปเปิ้ลเมล่อน ที่เป็นโรคเหี่ยว ทำให้ผลผลิตเสียหาย

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาโรคใบหงิกในแปลงปลูกแอปเปิ้ลเมล่อน เนื่องจากผืนดินแห่งนี้มี “ไส้เดือนฝอยรากปม” ซึ่งอยู่ในกลุ่มพยาธิตัวกลม ไส้เดือนฝอยรากปมจะใช้ปากที่มีลักษณะคล้ายเข็ม แทงเซลล์พืชและปล่อยเอนไซม์ เข้าทำลายและดูดสารอาหารจากพืช เปรียบเสมือนพยาธิพืชนั่นเอง ทำให้ผลผลิตเสียหายและคุณภาพผลผลิตลดลง เกษตรกรมักแก้ไขปัญหาโดยผสมเชื้อไตรโคเดอร์ม่าในระบบน้ำหยดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

นอกจากนี้ ต้องคอยดูแลใส่ใจป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชประเภทอื่นๆ เพราะหากดูแลจัดการไม่เหมาะสม จะทำให้ผลผลิตเสียหายได้ เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพเข้ามาฉีดพ่นเพื่อขับไล่แมลงในแปลงเพาะปลูก ซึ่งปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพดังกล่าว ผลิตจากเศษวัสดุในไร่ คือ ผลแอปเปิ้ลแมล่อนที่ตกเกรด หมักรวมกับสาร พด. ของกรมพัฒนาที่ดิน

ด้านซ้ายคือ เมล่อนตกเกรด ด้านขวาคือ ผลผลิตที่ได้คุณภาพ

สภาวะอากาศแปรปรวน ปลูกดูแลยาก

แอปเปิ้ลแมล่อน เหมือนพืชตระกูลแตงทั่วไป ที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อน โดยช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสำหรับการปลูกอยู่ที่ 25- 30 องศาเซลเซียส ในเวลากลางวัน และ 18-20 องศาเซลเซียส ในเวลากลางคืน ผลผลิตในช่วงฤดูร้อน จะทำให้แอปเปิ้ลเมล่อนเจริญเติบโตได้ไวขึ้น ตั้งแต่ปลูก-เก็บเกี่ยวใช้เวลาเพียง 48-49 วัน เท่านั้น

สภาวะอากาศแปรปรวน นับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของต้นแอปเปิ้ลเมล่อน โดยเฉพาะภาวะอากาศหนาว เพราะผลกระทบจากอากาศหนาวเย็น จะทำให้ต้นแอปเปิ้ลเมล่อนชะงักการเจริญเติบโตได้ตั้งแต่ระยะต้นกล้า การออกดอกติดผลจะล่าช้าอีกต่างหาก ตั้งแต่ปลูก-เก็บเกี่ยว ต้องใช้เวลานานเกือบ 60 วัน

ช่วงฤดูฝน ปลูกดูแลยาก เพราะแปลงปลูกแอปเปิ้ลเมล่อนถูกน้ำฝนบ่อยๆ เสี่ยงเกิดโรคราน้ำค้างระบาดได้ง่ายเพราะต้นแอปเปิ้ลเมล่อนเป็นพืชตระกูลแตงที่มีใบกว้างใหญ่และมีขน เมื่อสัมผัสกับน้ำฝนจะเกิดหยดน้ำค้างบนใบอยู่เสมอ ไม่แห้งง่าย เสี่ยงเกิดเชื้อราน้ำค้างบนใบได้ง่าย ทำให้เกิดอาการใบหงิก สร้างความเสียหายต่อผลผลิตในแปลงปลูกในวงกว้าง

การเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวผลผลิต สังเกตได้จากสีผิวของผลผลิต หากพบว่า มีสีเหลืองอ่อนที่บริเวณขั้วผล แสดงว่า ผลเริ่มสุก สามารถเก็บผลผลิตออกขายได้แล้ว ในราคาขายส่งที่ ก.ก.ละ 40-50 บาท หากใครมีโอกาส ชิมแอปเปิ้ลเมล่อน รับรองว่าจะต้องติดใจในรสชาติที่หวานกรอบสดๆ ของไม้ผลชนิดนี้อย่างแน่นอน