กยท. เล็งชงยุทธศาสตร์ยาง 20 ปี เข้า ครม. ดันรายได้ชาวสวน 1.98 หมื่นบาท/ไร่/ปี

กยท. เล็งชงยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี เข้า ครม. เห็นชอบ หวังดันรายได้ชาวสวนเพิ่มเป็น 1.98 หมื่นบาท/ไร่/ปี

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า เตรียมเสนอยุทธศาสตร์ยางพารา ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในไตรมาส 1 ปีนี้ หลังจากคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) มีมติเห็นชอบกรอบยุทธศาตร์แล้วเมื่อปี 2560 แต่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ต้องการให้นำมาปรับเป้าหมายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

รายละเอียดของยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่แบ่งเป็น ระยะสั้นปีที่ 1-5 ระยะกลาง ปีที่ 6-10 และระยะยาว ปีที่ 11-20 เมื่อยุทธศาสตร์ถูกขับเคลื่อน รายได้ของชาวสวนยางจะเพิ่มขึ้นเป็น 19,800 บาท/ไร่/ปี จากปัจจุบันชาวสวนรายได้ 11,984 บาท/ไร่/ปี เมื่อยุทธศาสตร์ผ่านการเห็นชอบจาก ครม. แล้ว จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพารา เพื่อดำเนินการ ลดพื้นที่ปลูกยางลงจาก 23.3 ล้านไร่ ให้เหลือ 18.4 ล้านไร่, เพิ่มปริมาณผลผลิตยางจาก 224 กิโลกรัม/ไร่/ปี ให้เป็น 360 กิโลกรัม/ไร่/ปี โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางภายในประเทศจาก 13.6% ให้เป็น 35% และเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางจาก 250,000 ล้านบาท ให้เป็น 800,000 ล้านบาท/ปี

“ระยะสั้น การเสนอ ครม. ต้องใช้งบประมาณบูรณาการ เพื่อดูดซับปริมาณยาง และใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น และในระยะกลางและระยะยาว จะต้องมีการขอสนับสนุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพิ่มขึ้นเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตสินค้ากลางน้ำ ปลายน้ำ หรือ สร้างมูลค่าให้กับยางพาราของไทย แต่ต้องดูให้รอบคอบว่า การเข้ามาดำเนินกิจการของต่างชาติ จะเข้าข่ายกินรวบกิจการยางพาราไทยหรือไม่เหมือนล้งผลไม้ที่ผ่านมา”

นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ล่าสุดมีนักลงทุนจากจีนให้ความสนใจเข้ามาซื้อกิจการเกี่ยวกับยางพาราไทยจำนวนมาก แต่ต้องคิดให้รอบคอบ หวั่นซ้ำรอบล้งรวบรวมผลไม้ ที่จีนกินรวบผลไม้ไทย และในส่วนของภาครัฐ และ กยท. จะมีรวบรวมผลิตภัณฑ์ยางพารา ขายให้กับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งจะตั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะสนับสนุนยอดขายและสนับสนุนการใช้ผลผลิตยางพาราไทย ส่งผลให้ราคายางพาราสูงขึ้นได้ในที่สุด

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์