เทคโนโลยี “ปลูกผักระบบโรงงาน” นวัตกรรมการเกษตร ยุค 4.0 ของ เจียไต๋

เทศกาล “เจียไต๋ แฟร์ 2018 FARMNIVAL…ฟาร์มนี้ ว้าว!” ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2561-13 มกราคม 2562 ณ ชนม์เจริญฟาร์ม ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งกิจกรรมงานเจียไต๋ แฟร์ ได้จัดติดต่อกันมาเป็นครั้งที่ 9 แล้ว เน้นโชว์มหัศจรรย์พันธุ์พืช-ดอกไม้ ละลานตา ที่สุดความฟินแห่งปี โดยกำหนดคอนเซ็ปต์งานแบบสนุกๆ เนรมิตฟาร์ม ผัก-ผลไม้ ให้กลายเป็นวันเดอร์แลนด์ดินแดนแสนสนุก ชวนให้ร้องว้าวๆ หลายครั้งกับความอลังการงานแสดงโชว์สายพันธุ์พืชผัก อันดับ 1 ของประเทศไทย ดอกไม้นานาพรรณที่มาอวดความงามพร้อมๆ กัน

โซนกิจกรรมเขาวงกตข้าวโพดนานาสายพันธุ์ มีหอคอยข้าวโพดที่สามารถเห็นทัศนียภาพจากมุมสูงของงาน เมื่อลงมายังจะได้รับประทาน “ข้าวโพดฮอกไกโด” ข้าวโพดหวานอร่อย ที่รับประทานสดได้อย่างปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงข้าวโพดซูพรีม ข้าวโพด 3 สี ข้าวโพดขาวหวาน ข้าวโพดหวานอัญชัน สายพันธุ์ข้าวโพดหวานม่วง 737

อีกจุดที่ต้องแวะชมคือ โรงเรือนปลูกพืชสายพันธุ์แปลก ที่มีตั้งแต่ขนาดเท่ากำปั้นไปถึงขนาดยักษ์ อาทิ ฟักทองขนาดใหญ่มหึมา ฟักทองรูปทรงประหลาด ฟักทอง Mix จานบิน ฟักทองสองสี ซูกินีสีทอง ข้าวโพดหลากสีสัน ซึ่งเจียไต๋ได้รวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชแปลกจากทั่วทุกมุมโลกมาปลูกโชว์ให้เห็นผลผลิตของจริงภายในงานนี้โดยเฉพาะ

อีกจุดที่หลายคนร้องว้าว คือ โซน Smart farm เทคโนโลยีโรงเรือน ร้านค้าต้นกล้าและอุปกรณ์โรงเรือน จุดแสดงความก้าวหน้าการเพาะปลูกในโรงเรือน โดยการใช้เทคโนโลยี ระบบ Smart Watering และระบบ Smart Greenhouse พร้อมให้คำแนะนำจากวิศวกรมืออาชีพบริเวณงาน มหัศจรรย์พรรณไม้และเทคโนโลยีการเพาะปลูกที่ทันสมัย ดึงดูดคนไทยและต่างชาติกว่า 50 ประเทศ มาเปิดหู เปิดตา ได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรตลอดระยะเวลา 22 วัน ของการจัดงาน คาดว่า ผู้เข้าชมงานจำนวนมาก จะได้ไอเดียเด็ดๆ จากนวัตกรรมการเพาะปลูกพืชของเจียไต๋ไปปรับใช้กับการทำการเกษตรของตนเองที่บ้าน

ใช้เทคโนโลยี AR กับธุรกิจเมล็ดพันธุ์

การจัดงานในครั้งนี้ เจียไต๋ ได้ตอกย้ำบทบาทผู้นำด้านเกษตรกรรม ยุค 4.0 โดยนำเสนอเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยและน่าสนใจทั่วบริเวณจัดงาน เริ่มจาก “แอปพลิเคชั่น Chia Tai Fair” แค่ผู้เข้าชมงานโหลดแอปพลิเคชั่น “เจียไต แฟร์” เทคโนโลยี AR จะนำเที่ยวชมงานในรูปแบบ 3 มิติ แค่ยกโทรศัพท์ทุกเครือข่ายส่องไปบนตัวแผนที่ จุดไฮไลต์ต่างๆ เด้งออกมาเป็น 3 มิติ มี “ลุงยิ้ม” ตัวการ์ตูนเป็นไกด์นำทางเสริมความสนุกในการเที่ยวชมงานในครั้งนี้ นักท่องเที่ยวจะไม่พลาดทุกโซนสำคัญในงาน เจียไต๋ แฟร์ เรียกว่าเดินชมงานสนุกเพลิดเพลินแบบไม่รู้เบื่อ

แค่ยกโทรศัพท์ ส่องไปบนตัวแผนที่
จุดไฮไลต์ต่างๆ เด้งออกมาเป็น 3 มิติ

นอกจากนี้ เจียไต๋ ยังนำเทคโนโลยี AR มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ช่วยให้การปลูกผักเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้ว ด้วยไอเดีย “ฉลากพูดได้” ลูกค้าที่ซื้อเมล็ดพันธุ์พืชผักเจียไต๋ซองเล็กกว่า 300 สายพันธุ์ ไปใช้งานพร้อมโหลดแอปพลิเคชั่น “Chia Tai Fun” เมื่อนำโทรศัพท์มือถือทุกระบบไปส่องที่บาร์โคดหน้าซองเมล็ดพันธุ์เจียไต๋ จะมีตัวการ์ตูน “ลุงยิ้ม” เด้งออกมาสอนวิธีปลูกผักแบบ 3 มิติ ที่สดใส เข้าใจง่าย ทำให้การปลูกผักกลายเป็นเรื่องสนุกสำหรับคนทุกเพศทุกวัย สนุกแค่ไหน ต้องลองไปหาซื้อเมล็ดพันธุ์เจียไต๋ซองเล็กมาทดลองเล่นกัน

ซองเมล็ดพันธุ์เจียไต๋ที่ใช้เทคโนโลยี AR สอนปลูกพืช แบบ 3 มิติ

เทคโนโลยี Plant factory

ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกสนใจพัฒนาเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ที่มีมูลค่าสูง และสามารถเพิ่มปริมาณพืชอาหารให้เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีโรงงานผลิตพืชตอบโจทย์ดังกล่าวได้อย่างดี ขณะเดียวกันยังช่วยยกระดับการเพาะปลูกแบบดั้งเดิม สู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นด้านการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) ด้านการผลิตที่เน้นคุณภาพ (Value-Based Product) และด้านการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation) และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly)

โรงเรือนระบบปิด ที่ใช้เทคโนโลยีโรงงานผลิตพืช

เทคโนโลยีโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ที่เจียไต๋นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ เป็นเทคโนโลยีการปลูกพืช ที่ประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี เป็นฟาร์มปลูกพืชผักระบบปิด ที่สามารถปลูกพืชได้จำนวนมาก ในพื้นที่จำกัด โดยปลูกผักบนโต๊ะปลูกที่มี 3  ชั้น ช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เทคโนโลยีโรงงานผลิตพืช สามารถปลูกพืชผักสมุนไพรได้หลากหลายชนิด โรงเรือนปลูกพืชระบบปิดนี้ สามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ความเข้มแสง แร่ธาตุอาหารสำหรับพืช ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่พืชใช้ในการเจริญเติบโตได้อย่างครบถ้วน ภายในโรงเรือนติดตั้งหลอดไฟแอลอีดี (LED) เป็นแหล่งกำเนิดของแสง ซึ่งให้ความร้อนน้อยกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์และประหยัดไฟมากกว่า และใช้ชนิดสีของแสงไฟเป็นตัวกำหนดการเจริญเติบโต ยกตัวอย่าง เช่น ใช้แสงไฟสีน้ำเงินเร่งการเจริญเติบโตช่วงทำใบ แสงไฟสีแดง เร่งการทำดอก เป็นต้น

ภายในโรงเรือนปลูกผัก ที่ใช้เทคโนโลยีโรงงานผลิตพืช

แสงไฟเทียมสำหรับการปลูกพืชระบบโรงงานผลิตพืช คือวัตถุดิบของกระบวนการสังเคราะห์แสง พลังงานจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานเคมีเพื่อให้พืชใช้ในการเจริญเติบโตในโรงงานผลิตพืช แสงไฟเทียมที่ผลิตจากหลอดไฟ เช่น หลอดแอลอีดี หลอดฟลูออเรสเซนต์ สามารถใช้ในการเพาะปลูกพืชได้ ทั้งนี้พบว่า แสงไฟแอลอีดี เข้ากันได้ดีกับตัวรับแสงในพืช เนื่องจากพืชจะนำเฉพาะแสงที่มองเห็นได้ด้วยตา (Visible light wavelength) ไปใช้ในการสังเคราะห์แสงเพื่อผลิตสารอาหาร แร่ธาตุ หรือวิตามินให้เกิดผลิตภาพที่ดีที่สุด

สำหรับแสงไฟสีแดง (625-700 nm) จะเพิ่มปริมาณแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ในกะหล่ำใบแดง เพิ่มปริมาณ สารลูทีน (Lutein) ในผักเคล (Kale) ผักใบสีเขียวเข้มที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสุดยอดของอาหาร หรือ Super Food  นอกจากนี้ ยังช่วยลดปริมาณไนเตรตในผักสลัด แกรนด์แรปิดส์ (Grand Rapids Lettuce) ซึ่งเป็นผักที่มีสารต้านทานอนุมูลอิสระหลายชนิด

แสงไฟสีเขียว (490-550 nm) ลดปริมาณไนเตรตในผักสลัด Baby leaf. ผักสลัดพันธุ์ใหม่ ไซซ์เล็ก กะทัดรัดที่ตลาดให้ความนิยม ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินซี (ascorbic acid) ในผักกาดแก้ว ซึ่งวิตามินซีจัดเป็นสารสำคัญที่มีผลต่อการทำงานหลายระบบของร่างกาย ส่วนแสงไฟสีน้ำเงิน (425-490) เพิ่มเบต้าแคโรทีนในผักเคล (Kale) เพิ่มปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในผักสลัดใบแดง

เทคโนโลยีโรงงานผลิตพืช สามารถเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ คาร์บอนไดออกไซด์ นับเป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์แสงเช่นเดียวกับแสงและน้ำ ดังนั้น การเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในโรงงานผลิตพืชที่ระดับ ประมาณ 1,000 ส่วน ในโรงเรือน จะช่วยเร่งการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณผลผลิตได้

ผักไมโครกรีน… ตลาดนี้น่าจับจอง

ภายในโรงเรือนแห่งนี้ นำเสนอการปลูกผักไมโครกรีน (Micro  Greens) คือ ต้นกล้าต้นอ่อนขนาดเล็ก เพาะจากเมล็ดพืชผักสมุนไพร การปลูกผักไมโครกรีน ทำได้ง่ายเริ่มจากเตรียมเมล็ดพันธุ์พืชผักสมุนไพร มาโรยถาดเพาะปลูกที่เตรียมใช้ พีทมอส เป็นวัสดุปลูก รดน้ำทุกเช้า-เย็น เมื่อต้นพืชเจริญเติบโตจนมีใบสองถึงสามใบ ก็สามารถนำผักไมโครกรีนไปรับประทานได้ ผักไมโครกรีน มีคุณค่าสารอาหารมากกว่าผักทั่วไป 5-40 เท่า ผักไมโครกรีนมีรูปทรงและสีสันสวยงามน่ารับประทาน อายุการเติบโตสั้น ใช้เวลา 7-10 วันก็สามารถเก็บผักนำมารับประทานหรือนำออกขายได้

ผักไมโครกรีน

ผักไมโครกรีน มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่า “ต้นอ่อน” เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ยิ่งกล้ามีอายุมากขึ้น สารอาหารก็จะถูกใช้ไปในการเจริญเติบโตเก็บเกี่ยวในระยะเวลาที่เหมาะสม เมื่อนำไปทำอาหาร ผู้บริโภคจะได้รับคุณค่าทางอาหารสูงไปด้วย พืชผักไมโครกรีนเหมาะสำหรับคนทุกเพศทุกวัยผู้ที่ชอบรับประทานผักอยู่แล้ว การเพิ่มพืชผักไมโครกรีนในอาหารจะยิ่งช่วยให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารเพิ่มมากขึ้น ส่วนผู้ที่ไม่ชอบรับประทานผักแค่ใส่พืชผักไมโครกรีนในอาหารเล็กน้อย ก็ได้รับสารอาหารเทียบเท่ากับรับประทานผักจานใหญ่เช่นกัน

เจียไต๋ นำผักไมโครกรีนมาผลิตเป็นอาหารจำหน่ายในงาน