ที่มา | คิดเป็นเทคโนฯ |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
เผยแพร่ |
ผลไม้ไทย มีคุณภาพดีและมีรสชาติอร่อย เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อทั่วโลก แต่ยากในการดูแลรักษาคุณภาพสินค้า เพราะหลังการเก็บเกี่ยว โดยธรรมชาติพืชผักผลไม้สดยังคงมีการหายใจตามอัตราปกติเหมือนตอนที่ติดอยู่บนลำต้น ซึ่งกระบวนการหายใจของผลไม้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลไม้สูญเสียความสด หากวางพืชผักผลไม้ในพื้นที่ที่มีระดับก๊าซออกซิเจนมาก ยิ่งส่งผลให้ผลผลิตเหี่ยวง่ายได้
เอทิลีน มีผลต่อการสุกของผลไม้
เอทิลีน เป็นตัวการสำคัญที่กระตุ้นให้ผลไม้เกิดการสุก ดังนั้น วิธีการใดก็ตามที่มีผลลดอัตราการสร้างหรือยับยั้งการทำงานของเอทิลีนในพืชย่อมส่งผลให้ชะลอการสุกได้ โดยทั่วไปสภาพที่มีผลต่อการกระตุ้นการสร้างเอทิลีนในพืชได้แก่ อุณหภูมิ ปริมาณออกซิเจน การเกิดบาดแผลหรือชอกช้ำ รวมทั้งการเข้าทำลายของโรคและแมลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าว มีผลส่งเสริมการสร้างเอทิลีน แต่มี 3 แนวทาง ที่สามารถยับยั้งการสร้างเอทิลีนหรือมีผลทำลายเอทิลีน ได้แก่ 1.ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ 2. อุณหภูมิต่ำ 3. การใช้สารดูดซับเอทิลีน โดยการใช้สารดูดซึบเอทิลีนให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด จะต้องใช้ในปริมาณที่มากพอ เพื่อให้การทำลายเอทิลีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ เกษตรกรสามารถชะลอการสุกของผลไม้และยืดอายุการเก็บรักษาทำได้หลายวิธี เช่น การใช้ห้องเก็บรักษาที่สามารถควบคุมอุณหภูมิความชื้น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และออกซิเจน จะทำให้อายุการเก็บรักษายาวนานมาก ในกรณีที่ไม่มีห้องเก็บรักษาผลไม้ ก็อาจดัดแปลงได้ โดยการเก็บผลไม้ในถุงพลาสติกแล้วใส่สารดูดซับเอทิลีนลงไป จากนั้นจึงนำไปเก็บไปในตู้เย็น
ไอเดียเด็ด … ใช้ขี้เถ้าแกลบยืดอายุผลไม้สด
ดร. กิตติ เมืองตุ้ม รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ชื่อว่า “ขี้เถ้าแกลบเสริมฤทธิ์การชะลอการสุกของผลไม้ (Anti Ripening Pack)” ที่ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจสินค้าเกษตรได้อย่างน่าทึ่ง เพราะเทคโนโลยีชนิดนี้ช่วยถนอมความสดของพืชผักผลไม้เอาไว้ให้นานที่สุด จนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค ส่งผลให้ผลงานวิจัยชิ้นนี้ ได้รับรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ปี 2559 รางวัลที่ 1 ในระดับอุตสาหกรรม จัดโดย มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมป์และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช.
จุดประกายแนวคิด
ดร. กิตติ เจ้าของโครงการวิจัยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศครั้งนี้ ได้ร่วมมือกับ คุณเรืองศักดิ์ เตียเอี่ยมดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงสีข้าว ต.ประเสริฐ อุตรดิตถ์ จำกัด ศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์ของเหลือใช้จากขี้เถ้าแกลบของโรงสีข้าว โดยพบว่า การใช้ขี้เถ้าแกลบ เป็นวัสดุตัวกลางในการเสริมสารเสริมฤทธิ์ ที่มีประสิทธิภาพในการชะลอการสุกของผลไม้และลดอุณหภูมิในบรรจุภัณฑ์ได้
การใช้ขี้เถ้าแกลบ เป็นวัสดุตัวกลางในสารเสริมฤทธิ์ ที่มีประสิทธิภาพในการชะลอการสุกของผลไม้ และลดอุณหภูมิในบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้ สารดูดซับเอทิลีน เป็นที่รู้จักกันดี คือด่างทับทิม ที่สามารถทำปฏิกิริยาทางเคมีกับเอทิลีนทำให้เกิดเป็นสารแมงกานีสไดออกไซด์ และเอทิลีนไกลคอล ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็นเอทิลีนได้อีก
ดร. กิตติ ได้ปรับปรุงคุณสมบัติความเป็นรูพรุนของขี้เถ้าแกลบ โดยใช้สาร Glycerol เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจับสารในรูพรุน และการใช้สารที่สามารถกักเก็บได้ในรูพรุนขี้เถ้าแกลบ คือสารเคมีในกลุ่ม KMnO4 และ Propylene glycol เพื่อประโยชน์ในการทำให้ชะลอการสุกของผลไม้ได้ ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า แนวคิดดังกล่าวสามารถชะลอการสุกของกล้วยหอมได้ 2 สัปดาห์ (โดยใช้ผลิตภัณฑ์ขี้เถ้าแกลบ 25 กรัม ต่อกล้วย 1 หวี หรือ 8 ผล)
ผลิตภัณฑ์ขี้เถ้าแกลบ สามารถช่วยชะลอการสุกของทุเรียนได้ 2 สัปดาห์ (โดยใช้ผลิตภัณฑ์ขี้เถ้าแกลบ 150 กรัม ชะลอการสุกของทุเรียน 2 ผล ที่มีน้ำหนักเฉลี่ย ผลละ 2 ก.ก.) และชะลอการสุกของลางสาดได้ 1 สัปดาห์ (ใช้ผลิตภัณฑ์ขี้เถ้าแกลบ 150 กรัม ชะลอการสุกของลางสาด 2 กิโลกรัม)
ผลงานวิจัยชิ้นนี้ ช่วยสร้างผลดีต่อธุรกิจสินค้าเกษตรไทยในวงกว้าง เพราะช่วยชะลอการสุกงอม การสร้างก๊าซเอทิลีน ตลอดจนลดการเปลี่ยนสี กลิ่น และคุณค่าทางอาหารของผลผลิต ทำให้ผลไม้สดสมบูรณ์จนถึงมือผู้บริโภคได้ในปริมาณมากขึ้น ลดปริมาณความเสียหายของสินค้าเกษตรให้ลดลง โดยมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมาก
“ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ มุ่งเจาะตลาดกลุ่มผู้ส่งออกผลไม้ และเกษตรกร รวมทั้งวางแผนกระจายสินค้าตัวนี้ลงสู่ตลาดค้าส่ง ค้าปลีก ตามห้างและร้านค้าปลีกทั่วไป เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคผลไม้ ที่ต้องการเก็บผลไม้ไว้ได้นานโดยไม่ใส่ตู้เย็น” ดร. กิตติ กล่าว
สำหรับสารชะลอการสุกของผลไม้ชนิดนี้ ใช้งานง่ายมาก ดร. กิตติ ให้คำแนะนำว่า หากต้องการชะลอการสุกของผลไม้ในระยะเวลา 1 สัปดาห์ ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ขี้เถ้าแกลบ จำนวน 3 ซอง ต่อผลไม้ น้ำหนัก 100 กรัม (30 ซอง ต่อผลไม้ 1 กิโลกรัม) โดยนำสารชะลอการสุกไปใส่ไว้ร่วมกับผลไม้ก่อนบรรจุในภาชนะ หรือกล่องกระดาษ จะสามารถยืดอายุผลไม้ไปได้ประมาณ 1 สัปาดห์ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ขี้เถ้าแกลบ จำนวน 1 ซอง สามารถใช้ได้กับผลไม้ประเภทต่างๆ ได้แก่ กล้วย 2 หวี กีวี 3 ผล น้อยหน่า 1 ผล มะม่วง 1 ผล หากใช้ในปริมาณ 1 แพ็ก จำนวน 30 ซอง จะสามารถใช้กับทุเรียน 1 ผล และผลไม้อื่นๆ ในปริมาณน้ำหนัก 1 กิโลกรัม
ผลงานวิจัยชิ้นนี้ ถือว่าสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขี้เถ้าแกลบได้มากถึง 50 เท่า เมื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 15 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม ราคาจำหน่าย 150 บาท ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม (แบบแพ็ก) ราคาจำหน่ายปลีก 25 บาท ต่อ 1 กล่อง (จำนวน 30 ซอง ปริมาณ 2 กรัม)
หากใครสนใจอยากใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลงานวิจัยชิ้นนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ดร. กิตติ เมืองตุ้ม รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เบอร์ โทรศัพท์ 088-834-4434
เผยแพร่ออนไลน์ล่าสุด เมื่อวันพฤหัสที่ 17 มกราคม พ.ศ.2562