อย่าหวั่นอหิวาต์แอฟริกาในหมู… ไม่ติดต่อคน : รัฐพล ศรีเจริญ

อหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) โรคนี้เริ่มคุ้นหูคนไทย หลังจากจีนพบการแพร่ระบาดของโรคนี้ครั้งแรกในมณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 กระทั่งพบหมูติดเชื้อในจีนกว่า 20 มณฑล ในปัจจุบัน ทำให้มีหมูที่ถูกทำลายเพื่อกำจัดการแพร่กระจายของเชื้อแล้วไม่ต่ำกว่า 6 แสนตัว

เรื่องนี้กลายเป็นความหวั่นวิตกต่อทุกประเทศทั่วโลก แม้ว่าโรคนี้จะเกิดเฉพาะในหมู ทั้งในหมูป่าและหมูบ้าน แต่เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสแอสฟรา (Asfravirus) เชื้อสามารถติดต่อจากหมูตัวหนึ่งสู่ตัวอื่นๆ ได้ จากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของหมูที่ติดเชื้อ การหายใจเอาเชื้อเข้าไป การกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน ไปจนถึงการถูกเห็บที่มีเชื้อกัด

ที่สำคัญโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือวิธีการรักษาเฉพาะ ทั้งยังสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรืออยู่ในซากหมูได้นานหลายเดือน หมูที่ติดเชื้อจะมีอาการป่วย 100% อัตราการตาย 30-100% ถ้าเกิดในลูกหมูอัตราการตายจะสูง 80-100% ความเสียหายที่มากขนาดนี้ ทำให้ทุกประเทศต่างป้องกันไม่ให้โรคนี้เข้าสู่ประเทศได้อย่างเด็ดขาด

อันที่จริงโรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ เพราะพบการระบาดมาตั้งแต่ ปี 1960 ในพื้นที่ของแอฟริกาใต้ เขตตอนใต้ทะเลทรายซาฮาร่า (Sub-Saharan Africa) หากแต่การแพร่ระบาดของโรคจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศ กระทั่งขยับจากทวีปหนึ่งสู่อีกทวีป ที่เกิดการปนเปื้อนของเนื้อหมูจากประเทศที่เกิดโรคไปยังประเทศอื่นๆ ด้วยหลากหลายวิธีการ ทั้งจากหมูป่าที่ข้ามผ่านเขตรอยต่อของประเทศ การนำเศษอาหารที่มีเนื้อหมูปนเปื้อนเชื้อโรคไปเลี้ยงหมูหลังบ้าน การลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มาจากหมูที่ติดโรค ฯลฯ ทำให้โรคนี้แพร่กระจาย และก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูในประเทศนั้นๆ เป็นอย่างมาก ปัจจุบัน รายงานขององค์การสุขภาพสัตว์โลกพบหมูที่เป็นโรคนี้ใน 16 ประเทศ เป็นทวีปยุโรป 11 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ และทวีปเอเชีย 1 ประเทศ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ไต้หวันที่เป็นประเทศแรกในแถบนี้ที่มีการวางมาตรการก่อนใคร โดยออกประกาศเข้มเพื่อป้องกันโรคนี้อย่างจริงจัง เด็ดขาด ล่าสุดประกาศห้ามนำเนื้อสัตว์ทุกชนิด โดยเฉพาะหมูหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของสัตว์และเนื้อหมูเข้าประเทศ ถ้าพบการฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน

ส่วน เวียดนาม ที่มีพรมแดนห่างจากจีนเพียง 150 กิโลเมตร ทางกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรเวียดนาม ได้ป้องกันอย่างถึงที่สุดเพื่อไม่ให้โรคนี้ติดสู่หมูในประเทศที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม และความมั่นคงด้านอาหาร ทางการเวียดนามจึงดำเนินการควบคุมอย่างเข้มงวดกับการขนส่งหมูและผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูที่มาจากจีน

และห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่มาจากประเทศที่มีรายงานการติดเชื้อ อาทิ โปแลนด์ ฮังการี และยังป้องกันการลักลอบค้าหมูที่ไม่รู้แหล่งที่มา ซึ่งการลักลอบมักเกิดขึ้นตามจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับจีน และทางการเวียดนามยังฝึกซ้อมป้องกันการแพร่ระบาดของโรค หากเกิดการระบาดขึ้นในประเทศด้วย

ขณะที่กระทรวงการค้าระหว่างประเทศของเมียนมา มีคำสั่งระงับการนำเข้าหมูแช่แข็ง และเนื้อหมูแช่แข็งชั่วคราว จากการระบาดของ ASF ในประเทศจีน ส่วนกัมพูชามีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้าน

พร้อมขอความร่วมมือผู้เลี้ยงสัตว์และสมาคมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อป้องกันโรค ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเข้าและออก ห้ามการซื้อและการขายเนื้อหมูที่ไม่มีแหล่งที่มา

สําหรับประเทศไทย กรมปศุสัตว์ ย้ำหลายครั้งว่า “อย่ากังวล!! เพราะโรคนี้เกิดเฉพาะในหมู ไม่ติดต่อคนหรือสัตว์ชนิดอื่น” โดยที่ผ่านมากรมได้ร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา ด่านศุลกากร รวมถึงภาคมหาวิทยาลัยทั้งจุฬาฯ และมหิดล ในการเร่งสกัดโรคนี้ พร้อมตั้ง 50 ด่าน ทั่วประเทศ เพื่อตรวจเข้มนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาไทยพร้อมเข้มงวดกับการฆ่าเชื้อที่อาจจะแฝงมากับยานพาหนะของนักท่องเที่ยว จากเดิมที่ใช้คลอรีนผสมน้ำยาฆ่าเชื้อ เปลี่ยนเป็นยาฆ่าเชื้อแบบโฟมที่สามารถฆ่าเชื้อในอากาศได้นานกว่า 30 นาที

ล่าสุดเพื่อ “ปิดประตูเสี่ยง” และยกระดับการป้องกันให้แน่นหนาขึ้น กรมปศุสัตว์ ได้ประสานความร่วมมือไปยังภาคส่วนต่างๆ ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเตรียมออกประกาศห้ามนักท่องเที่ยวนำเข้าหรือพกพาเนื้อสัตว์ และสินค้าที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะจากหมู ไม่ให้เข้ามาในไทยอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค หากออกประกาศเตือนแล้วแต่ยังมีการลักลอบ กรมก็อาจจะต้องนำโมเดลการป้องกันของไต้หวันมาดำเนินการ

ในส่วนของพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ พื้นที่ชายแดนภาคเหนือ ในเขตด่านชายแดนที่มีความเสี่ยงสูงมาก จากกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีนที่นิยมนำผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อหมู อย่างเช่น ไส้กรอก และกุนเชียง เข้ามาประกอบกันเองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

ซึ่งรูปแบบการลักลอบเข้ามาเปลี่ยนไปจากที่เคยแพ็กใส่กล่องโฟมก็เปลี่ยนมาซุกซ่อนใส่กระเป๋าเสื้อผ้าหลบเลี่ยงการตรวจยึด ทำให้เจ้าหน้าที่ประจำด่านต้องเปลี่ยนรูปแบบการตรวจจากใช้สายตาเฝ้าระวัง มาเป็นใช้สุนัขดมกลิ่น และใช้เครื่องเอกซเรย์ช่วยตรวจค้น

ควบคู่กับการเข้มงวดกับพื้นที่การเลี้ยงหมู โดยเฉพาะภาคเหนือในกลุ่มผู้เลี้ยงหมูหลังบ้าน ที่อาจนำเศษอาหารที่นักท่องเที่ยวกินเหลือไปเลี้ยงหมูต่อ ถือเป็นความเสี่ยงกับการเกิดระบาดของโรคนี้ได้ง่าย ซึ่งหลายประเทศที่พบการระบาดของโรคก็มักเกิดจากสาเหตุนี้เป็นหลัก และให้ความรู้เกษตรกรผู้เลี้ยงทั่วประเทศ เพื่อสร้างกำแพงป้องกันโรคในทุกมิติ

ส่วนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ ย้ำว่าเชื้อนี้เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อโรคในหมู ไม่มีการติดต่อสู่คน อย่างไรก็ตาม กรณีไส้กรอกซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อหมู ทาง อย. ต้องดูแล โดยมีประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์จะต้องไม่พบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ฉลากต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าจะต้องระบุชื่อประเทศผู้ผลิตด้วย

เรื่องโรคที่กำลังเป็นที่กังวลของทั้งโลก กูรูด้านเกษตรปศุสัตว์ ดร.กานต์ สุขสุแพทย์ บอกไว้ว่า ไม่กังวลว่าจะมีการติดต่อสู่คน เพราะเชื้อนี้ไม่มีอันตรายใดๆ ต่อมนุษย์ แต่เป็นห่วงถึงผลกระทบต่อการเลี้ยงหมูในประเทศ เพราะหากไทยมีระบบป้องกันที่หละหลวม อาทิ ยังคงนำเข้าเครื่องในและชิ้นส่วนหมูจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายและบริโภค ย่อมเป็นช่องโหว่ในการรับเชื้อ ASF จากประเทศจีนเข้ามาได้โดยง่าย

วันนี้โรคยังไม่ระบาดมาถึงประเทศไทย ยิ่งต้องเข้มงวดกับการป้องกันอย่างดีที่สุด เพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงหมู และกระทบความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในการบริโภคเนื้อหมู ส่วนเราๆ ท่านๆ ในฐานะผู้บริโภคก็อย่าวิตกกังวลจนเกินไป โรคนี้เกิดขึ้นเฉพาะหมู ไม่ได้ติดต่อคน และทุกฝ่ายก็เน้นย้ำการป้องกันไม่ให้โรคนี้เข้ามาสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

รัฐพล ศรีเจริญ
[email protected]