เครื่องผ่าปลากะตัก ช่วยชุมชน

ปลากะตัก เป็นปลาผิวน้ำขนาดเล็ก อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง มีชื่อเรียกหลายชื่อตามท้องถิ่นที่แตกต่างกันไป อาทิ ไส้ตัน ปลาหัวอ่อน ปลาจิ้งจั๊ง ปลามะลิ ปลายู่เกี้ย ปลาเก๋ย ปลากล้วย ชาวประมงนิยมใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการทำน้ำปลาชั้นดี บูดู และปลาป่น นอกจากนี้ ปลากะตัก ยังนิยมนำมาแปรรูปเป็นปลาตากแห้ง หรือเป็นที่รู้จักในนามของปลาไส้ตันตากแห้ง หรือปลาฉิ้งฉ้าง สามารถจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะเห็นว่าช่วงเวลา 2-3 ปี มานี้ ความต้องการปลากะตักตากแห้งของต่างชาติที่เข้ามากว้านซื้อปลากะตักของไทยสูงกว่าความต้องการในประเทศสูง 5-10 เท่าตัว

ทั้งนี้ แม้ความต้องการผลิตภัณฑ์ปลากะตักตากแห้งมีจำนวนมากขึ้น แต่ชาวบ้านผู้ผลิตปลาไส้ตันตากแห้ง กลับประสบปัญหาผลิตได้ไม่ทันกับความต้องการของตลาด ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลิตได้ล่าช้า คือ กรรมวิธีการผลิต ที่ต้องใช้แรงงานและเวลา เนื่องจากก่อนได้ปลากะตักตากแห้งสำเร็จรูป ผู้ผลิตจะต้องนำปลากะตักไปต้ม และตากแห้ง จากนั้นก็ต้องเด็ดหัวและผ่าเอาก้างออก กรรมวิธีดังกล่าวมานี้ล้วนแต่ใช้แรงงานคน ซึ่งทำได้ช้าไม่ทันกับความต้องการ อีกทั้งมือที่เด็ดหัวปลาและฉีกเอาก้างออก เมื่อต้องทำในปริมาณมากๆ ก็ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้

ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เข้าไปรับฟังปัญหาของชาวบ้าน และเกิดแรงบันดาล ร่วมกันคิดประดิษฐ์เครื่องผ่าปลากะตักขึ้นมาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว จนสามารถนำไปช่วยทุ่นแรงของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี

นักศึกษาเจ้าของผลงาน เปิดเผยว่า เครื่องผ่าปลากะตักที่พวกตนคิดค้นขึ้นมานั้น ก็สามารถนำไปให้ชาวบ้านผู้ประกอบอาชีพทำปลากะตักตากแห้งใช้อย่างได้ผลและเป็นที่น่าพอใจ

พวกเขายังได้เล่าถึงผลงานอันน่าภูมิใจนี้ให้ฟังว่า ได้ออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับกระบวนการแปรรูปปลากะตัก เพื่อลดการใช้แรงงานคน ในกระบวนการเด็ดหัวปลา และผ่าซีกเอาก้างปลาออก การทำงานของเครื่องคือ เมื่อป้อนปลากะตักลงเครื่อง ผ่านลูกกลิ้งทรงกระบอกเข้าสู่ใบมีด เพื่อผ่าปลากะตักให้แยกเป็น 2 ซีก โดยมีลมเป่าทำให้ปลาที่ผ่าได้ตกสู่ตะแกรงคัดแยก ระหว่างเศษไส้ ก้าง และหัวปลา ออกจากตัวปลา

ส่วนปลาที่ไม่ได้ถูกผ่าจะมีการลำเลียงผ่านสกรูลำเลียงเพื่อนำกลับไปผ่าซ้ำ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดอาศัยแรงงานคน คือใส่ปลาลงเครื่องและควบคุมเครื่องเพียงหนึ่งคนเท่านั้น ไม่ได้สิ้นเปลืองแรงงาน ซึ่งตามปกติแล้วหากจ้างแรงงาน ต้องเสียค่าแรงงาน กิโลกรัมละ 2 บาท และได้ปริมาณเพียง วันละ 10 กิโลกรัม แต่เมื่อใช้เครื่องผ่าปลากะตัก จะสามารถทำงานได้ 2.5 กิโลกรัม ต่อชั่วโมง เลยทีเดียว

ผู้ที่สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่  www.rmutt.ac.th