“จั๋ง” ไม้ประดับฟองอากาศ ผลิตมากที่เมืองกุกกุฎนคร

หลายคนมักจะเข้าใจกันว่า อากาศในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศนั้นมีความสะอาดและปลอดภัย แต่หลายคนคงยังไม่ทราบกันว่า ในห้องปรับอากาศที่แสนเย็นสบาย หรือห้องต่างๆ ที่ปิดทึบนั้นมีมลภาวะมากกว่าสิ่งแวดล้อมภายนอกหลายเท่า

การปลูกต้นไม้ไว้ในห้อง หรือในอาคารถือเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยทำให้สภาพอากาศในห้องดีขึ้นได้เพราะต้นไม้จะเป็นตัวช่วยดูดซับสารมลพิษและจุลินทรีย์ภายในห้องได้

ด้วยความหลากหลายของต้นไม้ที่มีคุณสมบัติสามารถช่วยปรับสภาพอากาศภายในห้องให้ดีขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงประชาชนทั่วไปนิยมนำมาปลูกประดับตกแต่งเพิ่มความสวยงามภายในสถานที่ทำงาน อาคารบ้านเรือน และสวนย่อมกันเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบัน ต้นไม้ที่สามารถนำมาปลูกประดับตกแต่งภายในห้องและตามอาคารสถานที่ต่างๆ ในบ้านเรานั้นมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่สามารถหาชื้อได้ตามร้านจำหน่ายต้นไม้ทั่วๆ ไป ซึ่งต้นไม้แต่ละชนิดที่นำมาปลูกประดับตกแต่งนั้นจะมีความแตกต่างกันทั้งเรื่องของพรรณไม้ ขนาดของลำต้น สีสันของดอก ใบและที่สำคัญคือ การนำไปใช้งาน

จั๋ง เป็นไม้ประดับชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาปลูกประดับตกแต่งภายในและภายนอกอาคาร เพราะด้วยความสวยงาม ทนทาน ขนาดของต้นไม่ใหญ่มากและมีความสามารถในการช่วยปรับสภาพอากาศ ช่วยดูดไอระเหยของสารเคมีต่างๆ ได้ดีเท่าต้นหมากเหลือง ทำให้ต้นจั๋งได้รับความนิยมนำมาปลูกประดับตามอาคารสถานที่ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันแหล่งผลิตต้นจั๋งในบ้านเรานั้นมีให้เห็นอยู่ทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะชุมชนหมู่บ้านแคร่ ตำบลบ้านเป้า อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

หมู่บ้านแคร่ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลบ้านเป้า อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีชื่อเสียงและความชำนาญในเรื่องการเพาะขยายพันธุ์ต้นจั๋งที่มีคุณภาพเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ต้องการของตลาดในจังหวัดและต่างจังหวัด ซึ่งในแต่ละปีนั้นสามารถทำรายได้ให้กับชุมชนได้มากกว่ารายได้จากการปลูกพืชหลักที่ทำอยู่

รับซื้อจำหน่ายเป็นไม้ประดับ

สร้างรายได้เป็นเท่าตัว

จั๋ง เดิมทีเป็นพืชที่คนในอำเภอลองจังหวัดแพร่นำยอดอ่อนมาปรุงเป็นอาหารรับประทาน ซึ่งจะมีรสชาติขมเล็กน้อยคล้ายกับหวาย ในขณะที่คนในชุมชนมองว่าต้นจั๋งเป็นพืชที่นำมาปรุงเป็นอาหารได้นั้น คุณศรีรัตน์ วงค์สุนะ ได้มองเห็นว่าต้นจั๋งนั้นสามารถนำมาปลูกใส่กระถางและนำมาประดับตกแต่งเพิ่มความสวยงามตามอาคารได้อีกทางหนึ่ง

คุณศรีรัตน์ วงค์สุนะ เป็นคนลำปาง มีอาชีพขับรถออกขายของตามต่างจังหวัด ทำให้ได้พบเห็นต้นไม้หลากหลายชนิด ซึ่งรวมถึงต้นจั๋งไม้ประดับสารพัดประโยชน์ชนิดนี้

“ผมมองว่า ต้นจั๋ง เป็นต้นไม้ที่สามารถขุดใส่กระถาง แล้วนำไปขายเป็นไม้ประดับให้กับโรงแรมหรือว่าบ้านจัดสรรได้ แต่นั้นก็เป็นเพียงความคิดที่ยังไม่รู้ว่าจะได้ทำหรือเปล่า เพราะตอนนั้นยังไม่รู้ว่าตลาดมันเป็นอย่างไร ส่งขายที่ไหน ราคาเท่าไร มีคนต้องการหรือเปล่า และที่สำคัญเทคนิควิธีการปลูก ขุด ห่อ ดูแลรักษา ก็ยังไม่มี ในตอนนั้นทำได้แค่เพียงหยิบสมุดขึ้นมาจดบันทึกไว้ว่า เจอต้นไม้แปลกๆ ที่บ้านแม่ป๋าน อำเภอลอง จังหวัดแพร่”

หลังจากออกขายของตามต่างจังหวัดมาหลายวัน คุณศรีรัตน์ ก็กลับมาพักผ่อนอยู่ที่บ้านจนวันหนึ่งได้ผ่านไปแถวๆ บ้านน้ำโท้ง ซึ่งเป็นตลาดแถวๆ หนองกระทิง ก็ได้เห็นต้นจั๋งอยู่บนรถปิกอัพคันหนึ่ง จึงจอดรถ และลงไปถามเจ้าของรถ จนได้คำตอบว่า จะเอาไปส่งให้เถ้าแก่ที่สวนเนิร์สเซอรี่ในตัวจังหวัดลำปาง

“ตัดสินใจขับรถตามไปส่งของที่สวนและได้เห็นว่าที่นี้เขามีต้นไม้พักไว้เพื่อรอส่งขายเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นแหล่งรับชื้อที่ใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง จึงเดินไปถามเจ้าของรถปิกอัพอีกครั้งว่า รับชื้อมาต้นละเท่าไร และเถ้าแก่เขารับชื้อต้นละเท่าไร เขาก็บอกว่ารับมาจากชาวบ้าน โดยซื้อเหมายกเป็นสวน ซึ่งราคาก็แล้วแต่จะตกลง ส่วนราคาที่เถ้าแก่เขารับชื้อนั้น จะอยู่ที่ต้นละ 10 บาท” คุณศรีรัตน์ กล่าว

สอบถามราคารับชื้อและราคาขายเป็นที่เรียบร้อย เช้าวันรุ่งขึ้นคุณศรีรัตน์จึงชวน คุณอนัน ปีบ้านใหม่ อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและ คุณผิน มณีวรรณ ออกหาชื้อต้นจั๋งเพื่อนำมาส่งขายให้กับเถ้าแก่ในตัวจังหวัดลำปาง

“ผม คุณอนัน และคุณผิน ตระเวนหาชื้อต้นจั๋งได้ทั้งหมด 230 ลำ นำไปส่งขายให้กับเถ้าแก่ ซึ่งครั้งแรกที่ไปส่งยังไม่เป็นที่พอใจของเถ้าแก่ เพราะสินค้าที่เราเอาไปส่งนั้นเรายังขุดไม่เป็น ห่อตุ้มถุงไม่เป็น ขนส่งก็ยังไม่เป็น ทำให้สินค้าเกิดความเสียหาย ใบแตก ขุดขึ้นมาก็ไม่รู้ว่าจะตายหรือเปล่า แต่เถ้าแก่ก็ใจดีรับชื้อของไว้ทั้งหมด แต่มีเงื่อนไขยังไม่จ่ายเงิน เพราะต้องขอดูอาการของต้นไม้ก่อนเจ็ดวัน”

“หลังจากครบกำหนดเจ็ดวัน ผมก็มารับเงิน ซึ่งตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าจะได้เงินเท่าไร รับมาก็เอามานับได้ทั้งหมด 2,340 บาท นั้นก็หมายความว่าต้นไม้ที่นำมาส่งไม่มีต้นไหนที่ตาย หลังจากนั้นมาผมก็ทำการค้ากับเถ้าแก่ไปพร้อมๆ กับศึกษาวิธีการขุดและห่อตุ้มถุงรวมถึงกระบวนการขนส่งจนชำนาญจากสวนเนิร์สเซอรี่” คุณศรีรัตน์ กล่าว

คุณศรีรัตน์ คุณอนัน และคุณผิน ออกตระเวนหาซื้อต้นจั๋งในเขตภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง ทั้ง แพร่ น่าน เชียงราย เชียงใหม่ ไปถึงแม่จัน แม่สาย จนแหล่งรับชื้อเริ่มน้อยลงทำให้ราคารับชื้อเริ่มสูงขึ้นจากเดิมเป็นลำละ 5 บาท แต่ช่วงนั้นคุณศรีรัตน์และเพื่อนๆ ก็ยังออกหารับซื้อและนำมาส่งขายให้กับเถ้าแก่เหมือนเดิม

เป็นช่วงเศรษฐกิจไม่ค่อยดี แต่คุณศรีรัตน์และเพื่อนๆ ก็ยังออกหาซื้อต้นจั๋งไปขายให้กับเถ้าแก่เหมือนเดิม ซึ่งเถ้าแก่เองก็เห็นใจ ขึ้นราคาให้เป็นลำละ 15 บาท จนราคาสูงขึ้นถึงลำละ 60 บาท แต่เถ้าแก่ก็ยังรับซื้อ คุณศรีรัตน์และเพื่อนๆ เห็นว่าราคาดี จึงเอามาปลูกเองที่หมู่บ้านพร้อมกับแนะนำส่งเสริมให้กับชาวบ้านปลูกและก็รับชื้อไปขายต่ออีกทีหนึ่ง”

ส่งเสริมปลูกในพื้นที่

ตลาดดีเป็นที่น่าพอใจ

ด้วยราคาที่สูงขึ้น แต่แหล่งรับชื้อเริ่มน้อยลง ทำให้คุณศรีรัตน์และเพื่อนๆ ได้นำมาปลูกเองในหมู่บ้านโดยเริ่มปลูกในพื้นที่ของคุณผินเป็นที่แรก ซึ่งขณะนั้นเองก็มีชาวบ้านหลายคนให้ความสนใจแบ่งพื้นที่มาปลูก

“นำมาปลูกในพื้นที่พร้อมกับส่งเสริมให้ชาวบ้านในตำบลซึ่งส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่ทำการเกษตร ปลูกถั่วลิสง ถั่วเหลือง ทำนา ซึ่งช่วงแรกที่เข้าไปส่งเสริมนั้น จะแนะนำวิธีการปลูกลงพื้นดินกลางแจ้ง โดยระยะห่างระหว่างต้นและแถวจะอยู่ประมาณ 1×1 เมตร ซึ่งการปลูกด้วยวิธีนี้จะช่วยทำให้แตกหน่อเพิ่มขึ้นและจากนั้นสามเดือนก่อนที่จะขุดขายก็จะคลุมด้วยซาแรนพร้อมกับใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 เล็กน้อย เพื่อช่วยทำให้ใบเขียว สวย มันวาว เป็นที่ต้องการของตลาดยิ่งขึ้น”

“ส่วนการดูแลรักษานั้นจะไม่ค่อยมี เพราะจั๋งเป็นพืชที่ไม่ค่อยมีโรคและแมลง ใช้พื้นที่ในการผลิตก็น้อย ทำให้ไม่ต้องดูแลมาก แต่พื้นที่ที่ใช้ปลูกนั้นจะต้องเป็นดินร่วนซุยน้ำสามารถผ่านได้ดี” คุณศรีรัตน์ กล่าว

หลายคนหันมาปลูกต้นจั๋งเสริมจนปัจจุบันมีพื้นที่การผลิตทั้งตำบลมากถึง 700 ไร่ ซึ่งประกอบไปด้วยหมู่บ้านแคร่ บ้านใหม่ และบ้านหัวทุ่ง แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนพื้นที่ที่ใช้ในการผลิตพืชผลทางการเกษตรเดิมนั้นก็ยังมีปริมาณที่น้อยกว่า เพราะพื้นที่ที่ใช้ปลูกต้นจั๋งนั้นใช้ไม่มาก สามารถปลูกตามพื้นที่ว่างๆ บริเวณหลังบ้านหรือตามหัวไร่ปลายนาได้ แต่ถ้าหากต้องการผลิตให้ได้ปริมาณที่มากๆ ก็ใช้พื้นที่เพียงไม่กี่ไร่ก็สามารถผลิตได้

จากการขยายพื้นที่ปลูกทำให้ปริมาณต้นจั๋งมีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อตลาดรับชื้อเดิม ไม่สามารถรับซื้อได้หมด หลายคนหาตลาดเองโดยการนำสินค้าส่งเข้าไปขายในกรุงเทพฯ บางรายก็เข้าไปขายเองที่ตลาดนัดจตุจักร ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

“สำหรับตลาดรับซื้อนั้น จะอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก โดยเฉพาะที่ ราบ 11 จะมีคนมารอรับซื้อและก็จะไปกระจายขายต่อตามจังหวัดต่างๆ และอีกที่หนึ่งคือ ตลาดนัดจตุจักร ซึ่งส่วนใหญ่จะนำมาขายส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่มีร้านประจำอยู่ บางครั้งก็มานั่งขายเอง ทำให้การขนส่งสินค้าในแต่ละครั้งต้องใช้รถในการขนส่งมากถึง 30 คัน” คุณศรีรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

ปัจจุบัน ชาวบ้านตำบลบ้านเป้า อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ได้จัดตั้งกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับรวบรวมสินค้าที่มีทั้งต้นจั๋ง ลีลาวดี ปาล์ม หมากเหลือง ฯลฯ ไว้จำหน่าย ท่านใดที่สนใจก็สามารถติดต่อสอบถามไปได้ที่ 08-1998-3885 (คุณบุญส่ง อินคำเชื้อ) 08-1724-9202 (คุณสมัย ก๋าจารี) 08-7181-0091 (คุณวร จันทร์ปัน)