ผลิตไข่มุกจากหอยมุกน้ำจืด อัญมณีจากสิ่งมีชีวิต

หอยมุกน้ำจืดที่ผ่านการผ่าตัดปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ

ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี เป็นอีกหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ นับเป็นภารกิจหลักที่สำคัญที่กรมประมงได้มอบหมายให้รับผิดชอบ  นอกจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรีจะมีหน้าที่ผลิตสัตว์น้ำแล้ว อีกหนึ่งบทบาทที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรีรับผิดชอบ นั้นก็คือ การศึกษา ทดลอง วิจัยสัตว์น้ำจืดของไทย ซึ่งรวมไปถึงการผลิตหอยมุกน้ำจืดที่ทำการศึกษาอยู่ในขณะนี้

เจ้าหน้าที่ศึกษาเพาะขยายพันธุ์หอยมุกน้ำจืด ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี เล่าให้ฟังว่า หอยมุกน้ำจืด จัดเป็นหอยประเภทสองฝา มีขนาดใหญ่ เปลือกหนา และภายในมีความแวววาวของชั้นมุก ซึ่งนอกจากจะมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศทางน้ำแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์อีกหลายด้าน เช่น การนำเนื้อมาใช้เป็นอาหารของคนและสัตว์ การนำเปลือกมาทำเป็นเครื่องประดับ เครื่องใช้ เครื่องเรือนประดับมุก นอกจากนี้ ยังนำมาใช้ในการผลิตไข่มุกน้ำจืด เพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอัญมณี เครื่องสำอางและยา

หอยมุกชนิด C.hamberlainia

ประเทศไทยได้มีการนำเปลือกหอยมุกน้ำจืดมาใช้ประโยชน์เป็นเวลานานและยังมีรายงานว่า ได้มีการรวบรวมเปลือกหอยมุกน้ำจืด ชนิด Chamberlainia hainesiana จาก ประเทศไทย ส่งไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อนำไปใช้ทำเป็นแกนสำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงไข่มุกเป็นจำนวนมากจนเกรงว่าจะสูญพันธุ์

ในปี 2528 ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี จึงได้เริ่มรวบรวมหอยมุกน้ำจืดที่พบในจังหวัดกาญจนบุรี มาทำการศึกษาเพื่อเพาะขยายพันธุ์เพื่อทดแทนทรัพยากรที่ถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีที่ผ่านมา การเพาะพันธุ์หอยมุกน้ำจืดประสบผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2535 โดยสามารถเพาะพันธุ์หอยชนิด C. hainesiana ได้

ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี สามารถเพาะพันธุ์หอยมุกน้ำจืด H. (L.) myersiana ได้ อีกชนิดหนึ่งซึ่งหอยทั้งสองชนิดสามารถเจริญเติบโตจนได้ขนาดที่นำมาเลี้ยงและผลิตไข่มุกน้ำจืดได้แล้ว และส่วนหนึ่งของหอยที่เพาะพันธุ์ได้มีการปล่อยกลับคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อคงความสมดุลให้ระบบนิเวศต่อไป

กระชังเลี้ยงหอยมุกน้ำจืด

ชีวิวิทยาการสืบพันธุ์

การเพาะพันธุ์หอยมุกน้ำจืด 

Advertisement

หอยมุกน้ำจืด มีชีววิทยาการสืบพันธุ์และวงจรชีวิตเช่นเดียวกับหอยสองฝาน้ำจืดทั่วไป โดยมีการสืบพันธุ์แบบแยกเพศ ในฤดูผสมพันธุ์หอยเพศเมียจะได้รับเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ที่เข้ามาทางท่อน้ำเข้า ไข่จะได้รับการปฏิสนธิและถูกเก็บรักษาไว้ในเหงือก ซึ่งพองออกเป็นที่เก็บไข่ ซึ่งเรียกว่า brood chambers หรือ marsupia

ไข่หอยที่ได้รับการปฏิสนธิและเก็บรักษาไว้ใน marsupia นี้ จะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปร่างจนกลายเป็นตัวอ่อน มีลักษณะเป็นฝา 2 ฝา ขยับฝาปิดเปิดได้ และมีเส้นใยยาวสำหรับยึดเกาะปลาซึ่งจะทำหน้าที่เป็น host ให้ตัวอ่อนเกาะอาศัย โดยการสร้าง cyst ล้อมรอบ จากนั้น encysted glochidia จะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปร่างต่อไปกลายเป็นตัวอ่อนระยะหนึ่งจึงจะหลุดจาก host ลงมาอาศัยในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยดำรงชีวิตหากินแบบอิสระและเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยต่อไป

Advertisement
หอยมุกน้ำจืดที่ผ่านการผ่าตัดปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ

หอยมุกน้ำจืดชนิด H. (L.) myersiana ขนาดที่เล็กที่สุดที่พบในแม่น้ำแควน้อย จ.กาญจนบุรี มีความเปลือก 7.92 เซนติเมตร น้ำหนัก 26 กรัม ส่วนหอยมุกน้ำจืดชนิด C. hainesiana ที่ได้จากการเพาะพันธุ์ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรีนั้นมีขนาดความยาวเปลือก 15.12 เซนติเมตร น้ำหนัก 390 กรัม

การเกิด marsupia ของหอยทั้งสองชนิดดังกล่าว สามารถตรวจพบได้เฉพาะเหงือกชั้นนอกของทั้งสองข้าง แต่หอยมุกน้ำจืดชนิด Hyriopsis (L.) desowitzi ทั้งเหงือกชั้นในและนอกสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็น marsupia เพื่อเก็บรักษาไข่ที่จะได้รับปฏิสนธิแล้วได้

ฤดูสืบพันธุ์ของหอยมุกน้ำจืดในประเทศไทยทั้งชนิด C. hainesiana และ H. (L.) myersiana จะมีช่วงใกล้เคียง คือ ระหว่าง กันยายน-มีนาคม และพบว่า ไข่หอย C. hainesiana และ H. (L.) myersiana มีระยะฟักไข่อยู่ระหว่าง 6-10 วัน และ 5-9 วัน ตามลำดับ ซึ่งขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ

ปลานิล

ปลาที่เป็นที่อยู่อาศัย (host)

หอยมุกชนิด h.desowitzi

การเพาะพันธุ์หอยมุกน้ำจืดของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี ได้เลือกใช้ปลานิล เป็น host แก่หอยมุกน้ำจืดทั้ง 2 ชนิด เนื่องจากมีความทนทานและเป็นชนิดปลาที่หาได้ง่ายจากโรงเพาะฟัก อย่างไรก็ตามพบว่าปลานิลที่เคยนำมาใช้ในการให้ตัวอ่อนเข้าเกาะอาศัยครั้งหนึ่งแล้ว ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้งในระยะเวลาห่างกัน 2 เดือน เนื่องจากปริมาณกลูโคสที่น้อยลงใน serum ซึ่งเป็นเหตุให้ลูกหอยระยะแรกที่เข้าเกาะอาศัยปลานิลตัวเดียวกันเป็นครั้งที่ 2 ไม่สามารถพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะ ต่อไปได้

การเพาะเลี้ยงไข่มุกน้ำจืดในประเทศไทย

ไข่มุกเป็นอัญมณีจากสิ่งมีชีวิต  ปัจจุบันการเพาะเลี้ยงไข่มุกน้ำจืดยังไม่แพร่หลายไปสู่ภาคเอกชน ปัญหาและอุปสรรคที่มี  ได้แก่ ตลาด ส่วนใหญ่ไข่มุกน้ำจืดจะใช้ประโยชน์หลักในการทำยาและเครื่องสำอาง มีบางส่วนที่ใช้ทำเป็นเครื่องประดับ โดยราคาขึ้นกับคุณภาพและความสวยงามของไข่มุก

ถึงแม้ว่าตลาดของผู้บริโภคยังอยู่ในวงแคบเนื่องจากมีราคาแพงและยังไม่เป็นที่ยอมรับทั่วไป แต่ในประเทศจีนได้มีการศึกษาว่า ไข่มุก มี amino acids 17 ชนิด และ mineral elements 8 ชนิด ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์จีน ว่ามีสรรพคุณในการทำให้ผิวพรรณสวยงาม บำรุงประสาทตา ช่วยให้หลับสนิท และหายอ่อนเพลีย ผงไข่มุกได้รับการขึ้นทะเบียนยาในหนังสือ “Pharmacopoeia of the Peoples Republic of China” ฉบับปี 1995 ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ทางการแพทย์เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการมากที่สุดในจีน

หอยมุกชนิด h.myersiana

ดังนั้นศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรีจึงได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อเป็นการรับรองความปลอดภัยของผู้บริโภค และเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับไข่มุกน้ำจืดที่ผลิตได้ในประเทศไทย นอกเหนือจากการขายเป็นเครื่องประดับแต่เพียงอย่างเดียว

พันธุ์หอยมุกปัจจุบัน ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี เป็นหน่วยงานเดียวที่มีการเพาะพันธุ์และเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดให้มีขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี จึงจะนำมาผ่าตัดฝังเนื้อเยื่อได้ งานวิจัยเกี่ยวกับการเพิ่มผลผลิตและอัตรารอดตายของลูกหอย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไป เนื่องจากมีอัตราการตายสูงในช่วง 2-3 สัปดาห์ หลังหลุดจากปลาที่เป็น host

นอกจากนี้ยังได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ ในการผลิตไข่มุกน้ำจืดจากหอยกาบน้ำจืดชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะชนิดที่อาศัยในแหล่งน้ำนิ่งและสามารถเลี้ยงในบ่อดินได้และเพื่อลด ข้อจำกัดของสถานที่ที่ใช้ในการเลี้ยงหอยรับเนื้อเยื่อ เนื่องจากหอยมุกทั้ง 3 ชนิด ที่ใช้ผลิตมุกอยู่ในขณะนี้อาศัยและเจริญเติบโตได้ดีเฉพาะในแหล่งน้ำไหล นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาสภาพแหล่งน้ำที่มีความเหมาะสมกับการเลี้ยงหอยมุกแต่ ละชนิดเพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรแหล่งน้ำที่มีอยู่มากในประเทศให้เต็มศักยภาพ รวมทั้งการเพาะพันธุ์หอยมุกที่มีคุณภาพดี เนื่องจากจะมีผลต่อคุณภาพของไข่มุกที่เกิดขึ้น

ไข่มุกจากการเพาะเลี้ยง

เทคนิคการผ่าตัดปลูกถ่ายเนื้อเยื่อคุณภาพ ของไข่มุกขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของหอยมุกที่นำมาใช้เทคนิคการผ่าตัดสภาพแหล่งเลี้ยงและ การจัดการ แต่ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการผ่าตัดปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ ซึ่งต้องอาศัยเทคนิคความชำนาญและความอดทนในการฝึกฝน ซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีบุคลากรดังกล่าวอยู่เลย

หากมีผู้สนใจประกอบธุรกิจการเพาะเลี้ยงไข่มุกน้ำจืด สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลการเพาะเลี้ยงไปได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี โทร. 034-611-144