เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ยิ้มออก ราคาไข่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ผลผลิตไม่ล้นตลาดแล้ว

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและผู้ส่งออกไข่ไก่ ออกประกาศขยับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 2.60 บาท มีผลวันที่ 18 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป ส่งสัญญาณสภาวะปริมาณผลผลิตไข่ไก่ที่ล้นตลาด เริ่มเข้าสู่สมดุล หลังจากภาคเอกชนผู้นำเข้าไก่ไข่พันธุ์รายใหญ่ 16 บริษัท ให้ความร่วมมือลดจำนวนแม่พันธุ์ ลดจำนวนแม่ไก่ยืนกรง และผลักดันการส่งออกไข่ไก่ไปจำหน่ายต่างประเทศ ตามแผนปฏิบัติการ “PS Support” ของกรมปศุสัตว์

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ เร่งแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำอย่างยั่งยืน ซึ่งไข่ไก่เป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่มีปริมาณผลผลิตจำนวนมากเกินความต้องการของตลาดในประเทศ ทำให้ราคาตกต่ำ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ขาดทุนสะสม โดยให้กรมปศุสัตว์เป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนจัดทำโครงการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ปี 2561 เน้นการสำรวจข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำอย่างรอบด้าน

ทั้งด้านปริมาณการผลิต โครงสร้างราคา รวมถึงปริมาณความต้องการบริโภคของตลาดในประเทศ การแปรรูปและการส่งออก แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์วางแผนร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด จนนำมาสู่การขับเคลื่อนในภาคปฏิบัติ ภายใต้แผนปฏิบัติการ “PS Support” โดยมาตรการล่าสุดเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น ด้วยกิจกรรมการรวบรวมไข่ไก่สดส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ 65 ล้านฟอง ควบคู่ไปกับกิจกรรมการลดจำนวนแม่ไก่ไข่ยืนกรง 1,000,000 ตัว และมาตรการแก้ปัญหาระยะยาวเพื่อความยั่งยืนด้วยกิจกรรมการลดแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) อายุ 25-60 สัปดาห์ จำนวน 100,000 ตัว

ซึ่งทั้ง 3 กิจกรรมดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนผู้นำเข้าไก่ไข่พันธุ์ทั้ง 16 บริษัทอย่างดีเยี่ยม ผลการดำเนินการทั้ง 3 กิจกรรมแล้วเสร็จเมื่อสิ้นเดือนธ.ค. 2561 ส่งผลให้ปัจจุบันปริมาณผลผลิตไข่ไก่เริ่มเข้าสู่สภาวะสมดุลกับความต้องการบริโภคของตลาดภายในประเทศ ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มจึงเริ่มปรับตัวสูงขึ้นและมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นได้อีกเนื่องจากกิจกรรมส่งออกไข่ไก่ไปจำหน่ายต่างประเทศยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดฮ่องกงและสิงคโปร์

“การแก้ปัญหาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาด ทำให้ราคาไข่ไก่ตกต่ำ โดยใช้แผนปฏิบัติการ “PS Support” ของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ นั้น มั่นใจว่าเป็นการแก้ไขในแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่สามารถขายไข่ไก่ได้ในราคาที่มีความพึงพอใจ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดอาศัยความมีส่วนร่วมของภาคเอกชนรายใหญ่ที่ให้ความเอื้ออาทรสู่ภาคเกษตรกรรายย่อย โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรมีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน”

ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวถึงสถานการณ์ไข่ไก่ในขณะนี้ ว่า กรมฯ ได้ดำเนินมาตรการเพื่อดึงผลผลิตส่วนเกินออกจากระบบและเพิ่มการบริโภคภายในประเทศเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงไก่ไข่โดยเร่งด่วน โดยใช้มาตรการดึงผลผลิตออกจากระบบ ซึ่งได้ร่วมกับ 3 สมาคม คือสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้า และส่งออกไข่ไก่ สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ และสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ ร่วมกันผลักดันส่งออกไข่ไก่จำนวน 200 ตู้ ประมาณ 60 ล้านฟอง โดยมอบผู้ส่งออกที่มีศักยภาพดำเนินการรับภาระค่าใช้จ่ายในการส่งออกเอง จำนวน 100 ตู้ ประมาณ 30 ล้านฟอง และอีก 100 ตู้ ประมาณ 30 ล้านฟอง ซึ่งกรมฯ สนับสนุนค่าบริหารจัดการส่งออกตู้ละ 150,000 บาท รวมวงเงิน 15 ล้านบาท ระยะเวลาส่งออกตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. – 15 มี.ค. 2562

นอกจากนี้ กรมการค้าภายในได้ดำเนินมาตรการเพิ่มการบริโภคในประเทศ โดยเชื่อมโยงผู้ประกอบการ/เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่นำผลผลิตมาจำหน่ายผ่านงาน “มหกรรมธงฟ้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค” ที่จัดขึ้นตั้งแต่เดือนพ.ย. 2561 ต่อเนื่องถึงปี 2562 ซึ่งในปี 2562 มีแผนการจัดงานมหกรรมธงฟ้าฯ (ม.ค. – มี.ค. 2562) ในพื้นที่ 16 จังหวัด ซึ่งสามารถระบายผลผลิตไข่ไก่ผ่านช่องทางดังกล่าวได้ประมาณ 3 ล้านฟอง และจำหน่ายไข่ไก่ผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ กว่า 70,000 แห่ง เพื่อระบายผลผลิตส่วนเกินในระบบและลดภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งสามารถระบายผลผลิตไข่ไก่ผ่านช่องทางดังกล่าวได้ประมาณ 1.5 ล้านฟอง