แดงสยาม ขมิ้นชันพันธุ์ดี เมืองศรีวิชัย ปลูกง่าย แมลงรบกวนน้อย

ชื่อสามัญ…ขมิ้นชัน (Turmaric)

ชื่อวิทยาศาสตร์Curcuma longa L.

วงศ์…Zingiberaceae

ขมิ้นแป้งแต่งละลายชโลมทา ให้ผ่องผิวสุนทราเจริญวัย…

หาฤกษ์โกนผมไฟต้องตามวัน …” (เครดิต : หนังสือย้อนรอยสยาม…)

เมื่อเอ่ยถึง ขมิ้น น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เพราะขมิ้นเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมาแต่โบราณ พิธีกรรมแห่งการเกิดก็มีขมิ้นมาเกี่ยวข้องด้วย การอาบน้ำของคนไทยในสมัยโบราณที่ยังไม่มีสบู่ใช้ ใช้ผ้าถูเอาไคลออก ก็ใช้ “ขมิ้นผง” ทาให้ทั่วตัว ถ้าเป็นเด็กๆ ที่โกนผมก็จะทาขมิ้นที่หัวด้วย แล้วใช้ส้มมะขามเปียกทาทับลงไปอีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้รสเปรี้ยวของมะขามกัดสีของขมิ้นที่จับหนาอยู่ตามผิวหนังให้จางลง สักพักจึงอาบนํ้าล้างส้มมะขามให้หมด จึงเป็นที่มาของสำนวน “หัวยังไม่สิ้นกลิ่นขมิ้น”…“ปากยังไม่สิ้นกลิ่นนํ้านม” ซึ่งมีไว้เรียกเด็กที่แสดงความอวดดีอวดรู้เกินวัย ส่วน คำว่า “ขมิ้นกับปูน” ก็มีที่มาจากขมิ้นซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด ส่วนปูนมีฤทธิ์เป็นด่าง เมื่อนำมาผสมกันจะเกิดปฏิกิริยาเปลี่ยนส่วนผสมนั้นเป็นสีแดง ซึ่งก็คือ ปูนแดง ที่ใช้กินกับหมากนั่นเอง

ขมิ้นชัน เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี จัดอยู่ในวงศ์ขิง มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สูง 30-90 เซนติเมตร

เหง้าอยู่ใต้ดินมีรูปทรงกระบอก มีแขนงแตกออกด้านข้าง 2 ด้าน ตรงกันข้าม เนื้อในของเหง้ามีสีเหลืองเข้มจัด มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว

ใบ เป็นใบเดี่ยว แทงออกมาจากเหง้า รูปใบหอก กว้าง 12-15 เซนติเมตร ยาว 30-40 เซนติเมตร

ดอก เป็นช่อ แทรกขึ้นมาระหว่างก้านใบ กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ใบประดับสีเขียวอ่อน หรือสีนวล บานครั้งละ 3-4 ดอก

ผล เป็นรูปกลม มี 3 พู

ขมิ้นชันมีชื่ออื่นๆ ได้แก่ ขมิ้นแกง ขมิ้นหยวก ขมิ้นหัว (เชียงใหม่) ขี้มิ้น หมิ้น (ใต้) ตายอ (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร) สะยอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ขมิ้นชัน นอกจากใช้รักษาบาดแผลที่เกิดจากการใช้มีดโกนโกนผมไฟให้เด็กแล้ว ยังใช้ทาตัวเพื่อรักษาโรคผิวหนังผื่นคันอีกด้วย นอกจากนั้น หัวสดยังตำคั้นเอาน้ำย้อมจีวรพระให้เป็นสีเหลือง ส่วนชาวอินเดียนิยมเอาหัวไปตากแห้งบดเป็นผงผสมเครื่องเทศปรุงอาหารเป็นสีเหลืองมีกลิ่นหอมน่ารับประทานยิ่ง ส่วนคนชาติพันธุ์อื่นๆ ก็มีการผูกข้อมือด้วยด้ายที่ย้อมสีเหลืองด้วยขมิ้น แล้วให้ศีลให้พรเพื่อให้อายุมั่นขวัญยืน

คนสมัยก่อนถือกันว่าคนที่มีผิวเหลืองเป็นนวลใยเป็นผู้ดีมีตระกูล ในหนังสือวรรณคดีของไทยเกือบทุกเรื่องจะปรากฏการพรรณนาถึงผิวของพระเอกนางเอกว่าขาวเหลืองละเอียดดั่งทองทา และสีที่จะมาประเทืองผิวให้เหลืองนั้นคนโบราณเขาใช้ขมิ้นนี่เอง คุณทวดของผู้เขียนเองเคยเล่าให้ฟังว่า ตอนเด็กๆ ได้เข้าไปอยู่ในวังเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (สมัยรัชกาลที่ 4) พอเป็นสาวเต็มตัวได้ออกจากวัง และติดการทาตัวด้วยขมิ้นทุกครั้งที่อาบน้ำ ตามแบบอย่างของคนในวังจนวันสุดท้ายของชีวิต

ขมิ้นชัน ถูกนำมาใช้ในพระราชพิธีการสรงน้ำพระบรมศพ หรือพระศพ ซึ่งได้กล่าวถึง…“ผอบทองคำลงยาใส่ “น้ำขมิ้น” และน้ำพระสุคนธ์ อย่างละสิ่ง เพื่อชะล้างให้สะอาดหมดจด แล้วตำ “ขมิ้นชันสด” กับผิวมะกรูดมาขัดสีอีกทีให้ทั่วร่างกาย ธรรมเนียมปฏิบัตินี้โบราณราชประเพณีได้สืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงยุคปัจจุบัน โดยได้มีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมแก่กาลสมัย

นอกจากนี้ “ขมิ้น” ได้รวมอยู่ในเครื่องราชบรรณาการตามประเพณีบ้านเมืองสมัยโบราณ ซึ่งปรากฏในพงศาวดารว่า เดิมทีพวกละว้าขึ้นอยู่กับเชียงใหม่ ถึงปีก็ต้องนำ “หัวขมิ้น” ไปถวายต่อพระหัตถ์พระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งพระองค์จะรับหัวขมิ้นมาเคี้ยวอยู่ครู่หนึ่ง จึงถ่มกากลงกับพื้นดิน แล้วตรัสกับพวกละว้าว่า “ถ้าแผ่นดินยังปลูกขมิ้นอยู่ตราบใด เราจะทะนุบำรุงพวกละว้าให้อยู่เย็นเป็นสุขอยู่ตราบนั้น”

ในปี พ.ศ. 2545 รศ.ดร. วิเชียร กีรตินิจการ อดีตอาจารย์ภาควิชาพืชไร่นา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซี่งเป็นอาจารย์ของผู้เขียนสมัยเรียนปริญญาโท ได้ทำการวิจัยจำแนกสายพันธุ์ขมิ้นชันโดยการถอดรหัส ดีเอ็นเอ ด้วยเทคโนโลยีการใช้เครื่องหมาย ดีเอ็นเอ ชนิด Microsatellite Marker ในการตรวจสอบระดับเบสของขมิ้นชันที่รวบรวมพันธุ์จากแหล่งต่างๆ ในไทยกว่า 2,000 ตัวอย่าง

กระบวนการจำแนกสายพันธุ์ด้วยเครื่องหมาย ดีเอ็นเอ หรือ SSR (Simple Sequence Repeat) ซึ่งเป็น ดีเอ็นเอ เครื่องหมายชนิดหนึ่ง ที่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์พืชจากการศึกษาส่วนของ ดีเอ็นเอ ที่เป็น Microsatellite ผลจากการทดลองครั้งนี้สามารถจำแนกสายพันธุ์ขมิ้นชันได้ จำนวน 34 สายพันธุ์ และพบขมิ้นชันที่มีลักษณะดี 14 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ขมิ้นชันที่ “บ้านเขาวง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี” เป็นสายพันธุ์ที่ดีที่สุด ให้ผลผลิตถึง 6.2 ตัน ต่อไร่ และมีปริมาณ “สารเคอร์คูมิน” สูง 10-12 เปอร์เซ็นต์

รศ.ดร. วิเชียร กีรตินิจการ เล่าให้ฟังว่า ขมิ้นชันทั่วไปจะมี “เคอร์คิวมินอยด์” อยู่ระดับ 4-5 เท่านั้น จึงได้ตั้งชื่อพันธุ์ใหม่ว่า “แดงสยาม” นอกจากนั้น ยังมีส้มปรารถนา และเหลืองนนทรี ที่ให้สารเคอร์คูมินในระดับที่น่าพอใจ

 

สารเคอร์คิวมิน คืออะไร??

ขมิ้นชัน (Curcuma longa L.) ในเหง้าของมันจะมีสารสำคัญในการออกฤทธิ์ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มน้ำมันหอมระเหย (volatilc oil) และกลุ่มสารสีเหลืองส้ม ที่เรียกว่า เคอร์คิวมินอยด์ (curcuminoids) ซึ่งประกอบด้วยสารหลัก 3 ตัว คือ curcumin, demethoxycurcumin และ bisdemethoxy curcumin ดังนั้น เคอร์คิวมิน คือสารสำคัญในกลุ่ม เคอร์คิวมินอยด์

แดงสยาม เป็นขมิ้นชันที่พบว่ามีปริมาณสารเคอร์คิวมินสูงกว่าขมิ้นชันสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งเริ่มแรกเดิมทีนั้นชาวบ้านในแถบ ตำบลเขาวง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ปลูกขมิ้นชันไว้รับประทานเองอยู่แล้ว และจำหน่ายเป็นรายได้เสริมในช่วงเริ่มปลูกยางพารา หรือปาล์มน้ำมันใหม่ๆ เพราะหลังจากโค่นต้นยางเก่าที่หมดสภาพทิ้งไป จะเป็นช่วงที่เกษตรกรไม่มีรายได้ การปลูกขมิ้นแซมในสวนเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ และมีรายได้ระหว่างรอการเติบโตของยางพาราหรือปาล์ม

ปัจจุบัน ขมิ้นชัน พันธุ์ “แดงสยาม” จาก ตำบลเขาวง มีชื่อเสียง และเป็นที่ต้องการของตลาด จึงมีการปลูกอย่างแพร่หลาย และได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขมิ้นชันปลอดสารพิษตำบลเขาวง โดยมีสมาชิกกลุ่ม ประมาณ 20 คน เพาะปลูก และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบยาสมุนไพรและเครื่องสำอาง

ซึ่งจากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า สารเคอร์คิวมินมีฤทธิ์ช่วยป้องกันโรคมะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก และอัลไซเมอร์ ส่งผลให้ผู้คนหันมาบริโภคขมิ้นชันทั้งในรูปของอาหาร และอาหารเสริมอย่างมากมาย และไทยซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่คุ้นเคยกับขมิ้นชัน และมักใช้เป็นเครื่องเทศเพื่อปรุงอาหารมาแต่โบราณ แต่ปริมาณการปลูกและการส่งออกกลับอยู่ในระดับที่น้อยมาก

รศ.ดร. วิเชียร กีรตินิจการ ได้บอกถึงปัญหาหลักของ ขมิ้นชันไทย คือความไม่สม่ำเสมอของสารเคอร์คูมิน ซึ่งอาจเกิดจากสภาพแวดล้อม และพันธุกรรม ที่ผ่านมานั้นยังไม่สามารถแยกสายพันธุ์ขมิ้นชันไทยได้เลย เพราะสายพันธุ์มีความคล้ายกันจนแยกไม่ออก จึงมีปัญหาการปะปนของสายพันธุ์ซึ่งยากแก่การผ่านมาตรฐานการส่งออก โครงการวิจัยนี้กำลังเร่งดำเนินการขยายพันธุ์ขมิ้นชัน สายพันธุ์ “แดงสยาม” เพื่อให้มีปริมาณมากพอที่จะให้เกษตรกรปลูก

และมีการทดสอบความคงตัวของพันธุ์ และศึกษาว่าสายพันธุ์ชนิดใดเหมาะกับพื้นที่ใด ณ แปลงทดลองศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ สถานีพืชไร่สุวรรณวาจกกสิกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา นอกจากนั้น ได้ศึกษาสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่มีต่อผลผลิตสารเคอร์คูมิน โดยจะแนะนำและส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกขมิ้นชันให้ได้ผลผลิตอย่างมีคุณภาพต่อไป

นอกจากสรรพคุณทางสมุนไพรแล้ว ยังมีประโยชน์อีกหลายอย่างที่หลายคนยังไม่รู้ ยกตัวอย่าง เช่น ในงานทาง ศิลปะ เทคนิคของจิตรกรรมฝาผนังไทย ใช้ “ขมิ้น” เพื่อทดสอบว่าผนังปูนล้างได้ที่แล้วหรือยัง ทำโดยใช้ “ผงขมิ้น” มาแตะดูหากยังไม่ได้ผงขมิ้นจะเป็นสีแดง ก็ต้องล้างต่อไปอีกจนกระทั่งทดสอบด้วยผงขมิ้นแล้วไม่เปลี่ยนสี ในหลักทางวิทยาศาสตร์นั้นการใช้ผงขมิ้นแตะผนัง และดูการเปลี่ยนสีของขมิ้น เพราะในขมิ้นมีสารที่เรียกว่า “เคอร์คิวมิน” ซึ่งทำให้ขมิ้นเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อสัมผัสกับด่าง แต่ถ้าสัมผัสกับสิ่งที่ไม่เป็นด่าง ขมิ้นจะไม่เปลี่ยนสี (เครดิต : เอกสารทางประวัติศาสตร์ศิลปะ ศ. เฟื้อ หริพิทักษ์)

การปลูกขมิ้นชันเป็นความคิดที่น่าสนใจ เพราะขมิ้นชันมีตลาดที่หลายคนมองข้าม โดยเฉพาะตลาดสปา นวดแผนไทย โยคะ ความงาม และสุขภาพ ขมิ้นชันเป็นพืชปลูกง่าย สามารถปลูกขึ้นได้ทุกภาคของประเทศไทย เติบโตได้ดีในที่ดอน ไม่ชอบน้ำท่วมขัง ปัญหาของโรคแมลงรบกวนน้อย อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 9-10 เดือน เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกขมิ้นชันเป็นพืชสวนครัวหลังบ้านในปริมาณไม่มากนัก

การปลูก : ขมิ้นชันชอบแสงแดดจัด และมีความชื้นสูง ชอบดินร่วนซุย มีการระบายน้ำดี ไม่ชอบน้ำขัง

วิธีปลูก : ใช้เหง้า หรือหัว อายุ 10-12 เดือน ทำพันธุ์ ถ้าเป็นเหง้าควรยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร หรือมีตา 6-7 ตา ปลูกลงแปลง กลบดินหนาประมาณ 5-10 เซนติเมตร ขมิ้นจะใช้เวลาในการงอกประมาณ 30-70 วัน หลังปลูก ควรรดน้ำทุกวัน หลังจากนั้นเมื่อขมิ้นมีอายุได้ 9-10 เดือน จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวได้

ฤดูกาลปลูก : ควรเริ่มปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม

ฤดูการเก็บเกี่ยว : จะเก็บเกี่ยวหัวขมิ้นในช่วงฤดูหนาว หรือประมาณปลายเดือนธันวาคมถึงมกราคม ซึ่งช่วงนี้หัวขมิ้นชันจะแห้งสนิท

นอกจากนี้ โครงการวิจัยการศึกษาการเจริญเติบโต และผลผลิตของขมิ้น ของสถานีวิจัยปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ได้แนะนำเกษตรกรให้ทำ “ขมิ้นแห้ง” ด้วยการตากแห้งด้วย “ตู้อบแสงอาทิตย์” โดยมีวิธีการทำ ดังนี้

  1. นำหัวขมิ้นชันสด 5 กิโลกรัม ล้างด้วยน้ำให้สะอาด ตัดแต่งรากออกให้หมด
  2. ต้มแง่งขมิ้นในน้ำเดือดเป็นเวลา 30 นาที
  3. ฝานเป็นชิ้นบางๆ นำไปตากแดดในตู้อบแสงอาทิตย์ที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองได้
  4. นำขมิ้นที่ผ่านการอบแห้งแล้วไปบดเป็นผงต่อไป

หมายเหตุ : หัวขมิ้นชันสด 5 กิโลกรัม จะได้ขมิ้นแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม จะได้ปริมาณเคอร์คิวมิน 5.48 เปอร์เซ็นต์

การต้มขมิ้นชันกับน้ำเดือดจะทำให้ประหยัดเวลาในการทำแห้งมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับวิธีการฝานสดแล้วตากแห้งกับแสงแดด

ขมิ้นแห้งใช้สำหรับทำยารักษาโรค การแต่งสี และแต่งกลิ่นผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด

สรรพคุณของขมิ้นชัน และการนำไปใช้ประโยชน์นั้นยังมีอีกมาก ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแค่บางส่วนยังไม่หมดเลยทีเดียว โอกาสหน้าจะขอเล่าให้ฟังใหม่ แต่มีเรื่องหนึ่งหากไม่กล่าวถึงก็คงไม่ได้ เพราะผู้เขียนเป็นคนใต้จะคุ้นเคยกับขมิ้นเป็นพิเศษ นั่นก็คือ เรื่องของ “แกงเหลืองใต้” ที่ใช้ขมิ้นเป็นส่วนผสมในเครื่องแกง ไม่ว่าจะเป็นแกงเหลืองปลากะพงยอดมะพร้าว แกงเหลืองปลากระบอกยอดมะพร้าว แกงเหลืองหน่อไม้ดองปลาสวาย แกงเหลืองมะละกอปลากะพง ฯลฯ ที่ยกมาเป็นตัวอย่างเพียงไม่กี่หม้อเท่านั้น

ผู้เขียนเริ่มน้ำลายสอแล้ว ขออนุญาตจบก่อนเท่านี้…ขอกล่าว คำว่า..หรอยจังฮู้

เอกสารอ้างอิง

นนทพร อยู่มั่งมี และธัชชัย ยอดพิชัย. 2551. ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย. บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), กรุงเทพฯ. 494 น.

วิศนุ ทรัพย์สุวรรณ. 2558. ย้อนรอยสยาม. สำนักพิมพ์เพชรประกาย, กรุงเทพฯ. 256 หน้า

องอาจ หาญชาญเลิศ ฉลองชัย แบบประเสริฐ ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา. 2545. การศึกษาการเจริญเติบโตและผลผลิตของขมิ้น : สถานีวิจัยปากช่อง เอกสารเผยแพร่โครงการวิจัย การวิจัยและพัฒนาพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ สถาบันวิจัยและพัฒนา แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (แหล่งที่มา http://oknation.nationtv.tv/blog/horti-asia/2012/10/16/entry-1X วันที่ 10 ธันวาคม 2561)

กรีนคลีนิค. 2561. สารสกัดขมิ้นชัน (Curcuminoids). (แหล่งที่มา http://www.greenclinic.in.th/curcuminoids.html วันที่ 10 ธันวาคม 2561)

…………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2564