ป่าคลองวังหีบ

เสียงของน้ำที่ไหลผ่านก้อนหินในแต่ละวันแต่ละจุดของคลองวังหีบไม่เคยเหมือนกันสักวัน เพียงแต่คุณจะมีโอกาสได้นั่งนิ่งๆ รับฟังเสียงน้ำพึมพำรำพันนั้นหรือไม่ เท่านั้นเอง

ถ้าคุณเกิดในป่าในภูเขา ได้เห็นสีเขียวๆ ของต้นไม้จนชินตา เห็นสายน้ำใสๆ ไหลรินอยู่ทุกเวลา คุณก็คงมองมันแบบธรรมดาๆ แค่ระลึกรู้ในคุณค่าว่ามันคือบ้านคือครัวคือห้องนั่งเล่น คือลานกีฬาที่อยากมาออกกำลังกายเมื่อใดก็ได้ อย่างอิสรเสรี

แต่สำหรับคนที่อยู่ห่างไกลธรรมชาติแบบนี้ สัมผัสแรกที่ได้รู้จักป่าและสายน้ำแห่งนี้ มันเกิดความรู้สึกหลายอย่างถาโถม ป่าคลองวังหีบเป็นได้ทั้งศาสนสถานที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงสภาวะธรรมที่มีสันติสุขในใจ เป็นโรงพยาบาลที่เยียวยาได้ทั้งกายและใจ ด้วยการได้ดื่มน้ำอาบน้ำและมีอาหารสะอาดบริโภค มีสมุนไพรสำคัญหลายชนิดให้ใช้รักษาโรค เป็นโรงเรียนนอกห้องเรียนที่ให้ความรู้แก่คนสนใจอย่างไม่มีวันจบหลักสูตร ทั้งการฝึกทักษะการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายในป่า หรือจะทำกิจกรรมผจญภัยที่ตื่นเต้นแบบสร้างสรรค์

แต่…เรื่องราวดีๆ เหล่านั้น กลับถูกมองข้ามไปโดยรัฐ ที่ต้องการใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อสร้างเขื่อน และพยายามบิดเบือนให้สังคมมองว่าคนส่วนน้อยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นความจริงตามนั้น จนน่าสงสัยว่า น้ำจากเขื่อนที่สร้าง จะส่งไปใช้ ณ ที่ใด ในอนาคต

ดังนั้น ระหว่างรัฐกับประชาชน จึงมีเขื่อนเป็นชนวนของการสู้รบตลอดมา

รอยเท้าเสือไฟ

ชุมชนวังหีบ ตำบลนาหลวงเสน อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็กำลังมีเรื่องพิพาทต่อกันอย่างเข้มข้นทุกวินาที เขื่อนวังหีบที่จะสร้างกั้นคลองวังหีบ สันเขื่อนเป็นเขื่อนดิน โดยกรมชลประทานระบุในวัตถุประสงค์ของการสร้างเขื่อนว่า

Advertisement

เพื่อป้องกันน้ำท่วมเมืองทุ่งสง เพื่อเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปา เมืองทุ่งสง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร   เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว

แต่ผลการศึกษาของ “คณะทำงานการบริการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่อำเภอทุ่งสงและลุ่มน้ำวังหีบ จังหวัดนครศรีธรรมราช” ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 410/2561 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 ได้สรุปว่า เขื่อนนี้ไม่สมควรสร้าง เพราะประชาชนในลุ่มน้ำวังหีบใช้น้ำประปาภูเขา น้ำบาดาล และผิวดิน เป็นน้ำอุปโภคบริโภค ไม่มีการขาดแคลนน้ำ

Advertisement
หุบเขาวังหีบ

การประปาภูมิภาคสาขาทุ่งสง มีความต้องการน้ำดิบ ปีละประมาณ 8 ล้านลูกบาศก์ลิตร (ซึ่งใช้น้ำจากคลองท่าแพ ที่มีปริมาณปีละ 41 ล้านลูกบาศก์ลิตร) ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำจากคลองวังหีบ น้ำจากกลุ่มน้ำวังหีบไม่ได้ไหลผ่านทุ่งสง แต่ผ่านไปฝั่งวัดคงคาเจริญ (วัดจอด) ดังนั้น น้ำท่วมเมืองทุ่งสง จึงเกิดจากน้ำคลองท่าเลา คลองท่าโหลน คลองเปิก และคลองโยง (ที่มารวมเป็นคลองท่าแพ)

ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัจจุบัน การทำการเกษตรได้เปลี่ยนจากการทำนามาเป็นสวนยางและปาล์มเป็นส่วนใหญ่ การใช้น้ำเพื่อการเกษตรจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป การท่องเที่ยวในปัจจุบัน ช่วงฤดูร้อนเดือนเมษายน คนมาอาบน้ำในคลองวังหีบไม่ต่ำกว่าวันละพันคน โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเข้ามา และชุมชนได้จัดการดูแลความสะดวกปลอดภัยได้อย่างดีเยี่ยมอยู่แล้ว

หลวงเสน ผู้ก่อตั้งชุมชน

แม้กรมชลประทานได้รับรายงานผลการศึกษาของคณะทำงานการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมแล้ว แต่กลับเพิกเฉย ซ้ำยังดันทุรังเดินหน้าโครงการเขื่อนวังหีบต่อไป โดยวันที่ 18 ธันวาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้สร้างเขื่อนวังหีบต่อไป ในปีงบประมาณ 2562-2566 โดยมีงบประมาณ 2,300 ล้านบาท

ดังนั้น วัตถุประสงค์ของกรมชลประทานในการสร้างเขื่อนวังหีบจึงบิดเบือน เพราะไม่ได้ตอบสนองผลประโยชน์ของคนทุ่งสงแต่อย่างใด และในการก่อสร้างเขื่อนดินในพื้นที่ภูเขาหินผุ จึงเป็นความเสี่ยงต่อการพังของเขื่อน ในเวลานั้นหากเกิดขึ้นจริงๆ มวลน้ำจำนวนมหาศาลก็จะทะลักมาท่วมบ่าเมืองทุ่งสง ที่บอกว่าป้องกันน้ำท่วมจึงเป็นเท็จ

สายน้ำคลองวังหีบ รวมถึงระบบนิเวศทั้งหมดทั้งมวล ซึ่งได้เป็นทุกสิ่งอย่างของผู้คน ทั้งแหล่งกำเนิดปัจจัยสี่ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงแหล่งเรียนรู้และการ  สันทนาการเชิงสร้างสรรค์ ที่เคยได้จากสายธารและผืนป่านี้มิกลับตาลปัตรเป็นตรงข้ามราวพลิกฝ่ามือละหรือ

จากการสร้างชีวิตคงกลายเป็นมหันตภัยที่น่าสลดใจ แล้วใครจะรับผิดชอบ