สกว. จับมือ รพ.จุฬาฯ โชว์รถพาร์กินสัน ไม้เท้าเลเซอร์สำหรับผู้ป่วยเดินติดขัด

สกว.จับมือศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน รพ.จุฬาฯ โชว์รถพาร์กินสันพร้อมอุปกรณ์อัจฉริยะสำหรับประเมินความสามารถในการขับขี่ของผู้ป่วย และไม้เท้าเลเซอร์รุ่นล่าสุดสำหรับผู้มีปัญหาเดินติดขัด หวังขยายผลในภาคเอกชนและขึ้นบัญชีนวัตกรรมให้ รพ.รัฐจัดซื้อแก่ผู้ป่วยได้ในราคาถูก

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดกิจกรรมสื่อสัญจร “ความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และไม้เท้าเลเซอร์ (รุ่นใหม่) สำหรับผู้สูงอายุที่เดินติดขัด” ณ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ ตึก สธ. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยมี ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ และ ดร.พญ.อรอนงค์ โพธิ์แก้ววรางกูล อาจารย์ประจำ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและสาธิตการใช้งานไม้เท้าเลเซอร์และรถพาร์กินสันติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะในการประเมินการขับขี่รถยนต์

เครื่องวิเคราะห์การสั่น

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า คณะผู้วิจัยได้พัฒนาไม้เท้าเลเซอร์ช่วยเดินอย่างต่อเนื่องร่วมกับผู้ใช้งานตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและสภากาชาดไทย ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 8 ซึ่งผู้ป่วยสามารถบีบที่หัวไม้เท้าให้มีแสงเลเซอร์ออกมาเพื่อเป็นตัวกระตุ้นสายตาให้เริ่มเดินหรือก้าวเท้าต่อไปได้ และใช้ได้ทั้งในที่ร่มและนอกอาคาร มีน้ำหนักเบาเพียง 450 กรัม ใช้แหล่งพลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียมชนิดก้อน 1 ก้อน ชาร์จไฟฟ้าหรือเครื่องสำรองไฟได้ รวมถึงออกแบบฐานให้กว้างขึ้น ไม้เท้าตั้งได้อย่างมั่นคง และมีความโค้งในส่วนล่างสำหรับผู้มีปัญหาข้อเข่าให้ก้าวเดินได้สะดวก ทั้งนี้ การออกแบบไม้เท้าเลเซอร์ช่วยเดินในระดับอุตสาหกรรมจะเป็นภาพสามมิติ และได้มีการวาดภาพการประกอบไม้เท้าเลเซอร์ช่วยเดินบนโปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการผลิตในโรงงาน และมีแผนงานในการขึ้นทะเบียนมาตรฐานอาหารและยาสำหรับการผลิตไม้เท้าเลเซอร์ด้วย

“งานวิจัยนี้ได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้วและอยู่ในระดับพร้อมถ่ายทอด ซึ่งเราต้องการผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมาพัฒนาต่อยอดร่วมกันก่อนผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยจะวางแผนหาเครือข่ายทั่วประเทศผ่านสภากาชาดไทย ปัจจุบันมีผู้ป่วยกว่า 1 แสนรายทั่วประเทศ ร้อยละ 80 อยู่ในต่างจังหวัด และมีปัญหาการเข้าถึงการรักษา ไม้เท้าเลเซอร์นี้จะเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีปัญหาการเดินติดขัดลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ หกล้ม อันนำไปสู่การบาดเจ็บที่รุนแรงต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ลดสภาวะพึ่งพาคนในครอบครัว สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”

ด้าน พญ.อรอนงค์ กล่าวว่า ในระยะแรกนักวิจัยได้ศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการขับขี่รถยนต์ของผู้ป่วยกับอาสาสมัครปกติ โดยประเมินอัตราการตอบสนองด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดอัตราการตอบสนองแบบสามมิติ แล้วนำข้อมูลทั่วไปและค่าที่ตรวจได้จากอุปกรณ์ทั้งหมดมาวิเคราะห์ทางสถิติ โดยผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยจะมีเวลาการตอบสนองที่ช้าลงกว่ากลุ่มอาสาสมัครปกติอย่างชัดเจน และมีโอกาสเกิดความผิดพลาดมากกว่า ต่อมาในระยะที่ 2 นักวิจัยได้ศึกษาการตรวจสอบประสิทธิภาพการขับขี่รถยนต์บนท้องถนนจริง โดยประเมินจากรถยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะสำหรับประเมินการขับขี่หรือรถยนต์พาร์กินสัน ประกอบด้วย กล้องวิดีโอ ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการขับรถ ความเร็วของรถ ระยะเวลาในการเหยียบคันเร่ง ระยะเวลาในการเหยียบเบรก การตรวจการเคลื่อนไหวของพวงมาลัย การประเมินตำแหน่งของรถด้วยระบบ GPS และการประเมินระยะห่างของตัวรถกับสิ่งกีดขวาง เป็นต้น โดยจะทดสอบที่สนามฝึกขับขี่ที่เป็นมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบกด้วยวิธีการเดียวกับการทดสอบเพื่อการขอรับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมีระยะเวลาในการเหยียบเบรกมากกว่า และแรงกดเท้าขณะเหยียบเบรกเบากว่าอาสาสมัครปกติอย่างชัดเจน ขณะที่การประเมินท่าทางการขับขี่ตามระเบียบการขอรับใบขับขี่ พบว่าผู้ป่วยมีจำนวนครั้งของความพยายามในการถอยหลังเข้าซองมากกว่าอาสาสมัครปกติอย่างชัดเจน

อุปกรณ์ตรวจจับวัตถุหน้ารถ

“จากการวิจัยของทีมงานที่ได้ทำการทดสอบการขับขี่ที่ใช้ข้อกำหนดตามมาตรฐานการสอบภาคปฏิบัติของกรมขนส่งทางบก พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 10 และผู้ป่วยพาร์กินสันร้อยละ 70 สอบตกภาคปฏิบัติ โดยผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีความสามารถในการขับขี่รถยนต์ที่ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งด้านการควบคุมการขับขี่รถ และด้านการตัดสินใจระหว่างการขับรถ ทำให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิภาพในการขับขี่ที่ลดลงในสถานการณ์การขับขี่ในชีวิตจริง งานวิจัยของเราจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยประเมินความพร้อมในการขับขี่รถยนต์ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่อาศัยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ระดับสูงมาช่วยในการวิเคราะห์ โดยทีมงานผู้วิจัยมุ่งหวังให้ผลงานชิ้นนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนขับขี่รถยนต์อย่างปลอดภัย และอาจจะนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินความพร้อมในการขับขี่รถยนต์สำหรับกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มผู้สูงวัยที่อาจจะมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนน เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวผู้ขับขี่และผู้ร่วมใช้รถใช้ถนน โดยอุปกรณ์ของเรามีความน่าเชื่อถือสูง และเป็นแห่งเดียวของประเทศไทยที่มีระบบอัจฉริยะในการตรวจวัดหรือคัดกรองการขับขี่รถยนต์ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน”

ขณะที่ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการด้านเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม สกว. และผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม ระบุว่า สกว.สนับสนุนให้มีการผลักดันให้เกิดผลกระทบจากงานวิจัยดังเช่นนวัตกรรมสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน เพื่อสร้าง “นวัตกร” และเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการทำวิจัยร่วมกับเครือข่ายวิจัยนานาชาติ ให้เกิดการพัฒนาอย่างเข้มแข็งและก้าวกระโดด รวมถึงหวังให้เกิดการขยายผลในภาคเอกชนที่สนใจทำธุรกิจเพื่อสังคม หรือเข้าบัญชีนวัตกรรมเพื่อให้โรงพยาบาลรัฐสามารถจัดซื้ออุปกรณ์อย่างไม้เท้าเลเซอร์ได้ในราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศ