สหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด เปิดจุดรับซื้อข้าวโพดหลังนาจากเกษตรกร ได้ราคาดีกำไรเฉลี่ย 5,000 บาท ต่อไร่

โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งหวังจะใช้เป็นโมเดลในการปฏิรูปภาคการเกษตร โดยการสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกข้าวเป็นการปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรสมาชิกมีรายได้จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่สูงขึ้น ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชทางเลือกที่ใช้น้ำน้อยและแนวโน้ม ตลาดในประเทศยังมีความต้องการสูง โครงการนี้จึงเป็นการประสานความร่วมมือ 5 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทานและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ พร้อมกับมาตรการจูงใจเกษตรกร ทั้งการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปลงทุนซื้อหาปัจจัยการผลิตและเตรียมพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด การประกันภัยผลผลิตเพื่อป้องกันความเสี่ยงหากได้พื้นที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ และประสานกับบริษัทเอกชนที่เป็นสมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์เข้ามารับซื้อข้าวโพดผ่านสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเป็นตัวกลางในการรวบรวมผลผลิตข้าวโพดทั้งหมดจากสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ

จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่นำร่องของโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนา และเลือกพื้นที่อำเภอพรหมพิรามเป็นเป้าหมายแรก โดยมีสหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด รับเป็นแม่งาน เชิญชวนสมาชิกสหกรณ์ให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังและหันมาปลูกข้าวโพด มีสมาชิกสหกรณ์เข้าร่วมโครงการนำร่อง 83 ราย พื้นที่ 1,181 ไร่ ซึ่งมีทั้งพื้นที่เขตชลประทานและบางพื้นที่ใช้น้ำบาดาล เกษตรกรเริ่มลงมือปลูกข้าวโพดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งสหกรณ์ได้ ช่วยดูแลสมาชิกตั้งแต่การสนับสนุนเงินทุนเพื่อปลูกข้าวโพด โดยขอกู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวน 5 ล้านบาท เพื่อนำมาให้สมาชิกกู้ยืมรายละ 3,000 บาท ต่อไร่ คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 พร้อมทั้งจัดหาปัจจัยการผลิต ทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ดูแลสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว การรวบรวมผลผลิต และจัดหาตลาดมารับซื้อ ซึ่งขณะนี้ผลผลิตข้าวโพดในพื้นที่นำร่องเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว สหกรณ์จึงเปิดจุดรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกในพื้นที่โครงการแล้ว จำนวน 13 ราย ได้ปริมาณผลผลิต 74.43 ตัน ซึ่งผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 1,200-1,500 กิโลกรัม และในบางพื้นที่ได้ผลผลิตสูงถึง 2,000 กิโลกรัม ซึ่งสหกรณ์กำหนดราคารับซื้อข้าวโพดความชื้นเฉลี่ย 30% ในราคากิโลกรัมละ  7 บาท และคาดว่า     ผลผลิตในพื้นที่นำร่องจะเก็บเกี่ยวได้หมดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

นายผิน ถือแก้ว ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาสหกรณ์ยังไม่เคยทำธุรกิจรวบรวมข้าวโพด เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก และปลูกข้าวปีละ 2 รอบ แต่รายได้ยังไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากผลผลิตข้าวต่อไร่เฉลี่ยอยู่ที่ 800 กิโลกรัม ต้นทุนการปลูกข้าวประมาณไร่ละ 4,500 บาท ขณะที่ราคาข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 6,000 บาท เท่านั้น สหกรณ์จึงต้องหาอาชีพอื่นมาเป็นทางเลือกให้กับสมาชิก จนกระทั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ทางสหกรณ์จึงยินดีที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ และพยายามชี้แจงทำความเข้าใจกับสมาชิกเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและหันมาปลูกข้าวโพดทดแทนการทำนาปรัง ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ดีกว่า และเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 3,280 บาท/ไร่ เกษตรกรจะมีกำไรจากการปลูกข้าวโพดไร่ละประมาณ 5,000 บาท

สหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด เป็นสหกรณ์ที่มีความพร้อมในด้านอุปกรณ์การตลาด ทั้งโกดัง ฉาง ลานตาก ที่จะรองรับผลผลิตข้าวโพดจากเกษตรกรในพื้นที่นำร่อง ซึ่งข้าวโพดที่รับซื้อจากสมาชิกจะนำมาอบลดความชื้น และแยกสิ่งเจือปน เพื่อให้ได้ข้าวโพดที่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ และจะนำข้าวโพดที่ปรับสภาพลดความชื้นแล้วส่งขายให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ของบริษัท ซีพี ที่ตั้งอยู่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งถือว่ามีความสะดวกและประหยัดค่าขนส่ง ขณะนี้ทางโรงงานผลิตอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดความชื้น 14.5% ราคาเฉลี่ย 9 บาท/กิโลกรัม ซึ่งจากการประเมินผลจากการดำเนินโครงการนี้ สมาชิกส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในรายได้ที่ดีกว่าการทำนาเพียงอย่างเดียว และเห็นถึงประโยชน์ของการปลูกข้าวโพดทดแทนการทำนาปรัง และได้วางแผนที่จะปลูกในปีต่อๆ ไป ซึ่งสหกรณ์ได้ตั้งเป้าที่จะขยายการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดให้สมาชิกมาเข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมทั้งอำเภอพรหมพิรามและอาจจะเชื่อมโยงกับสหกรณ์ในอำเภอใกล้เคียงเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก และจะรับซื้อผลผลิตจากสหกรณ์ข้างเคียงเพื่อนำมาปรับปรุงคุณภาพส่งจำหน่ายให้กับทางโรงงานอาหารสัตว์ต่อไป

ด้าน นายทองอยู่ ดีคำ ซึ่งเป็น 1 ในสมาชิกสหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดในพื้นที่นำร่อง เล่าถึงสาเหตุที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดในครั้งนี้ว่า แต่เดิมยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก ปีที่ผ่านมาได้ปลูกข้าวในพื้นที่ 15 ไร่ แต่ต้องประสบปัญหาขาดทุนกว่า 30,000 บาท เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ต่ำ และต้องใช้เงินลงทุนปลูกข้าวไร่ละเกือบ 5,000 บาท จึงได้หันมาทดลองปลูกข้าวโพดแทนการทำนาปรัง และมีความเชื่อมั่นในโครงการนี้เพราะส่วนราชการได้เข้ามาให้คำแนะนำและมีมาตรการจูงใจให้เข้าร่วมโครงการจนเกิดความมั่นใจ ขณะเดียวกันทางสหกรณ์ก็ได้เข้ามา  ส่งเสริมและรับประกันว่าจะรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด จึงตัดสินใจปรับพื้นที่นา 20 ไร่ ให้กลายเป็นไร่ข้าวโพด เริ่มลงมือปลูกตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 ซึ่งจากการทดลองปลูกข้าวโพดครั้งแรก พบว่าข้าวโพดมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าข้าว และใช้น้ำน้อยกว่า การดูแลแปลงข้าวโพดง่ายกว่าการปลูกข้าว หากทำตามคำแนะนำของเกษตรอำเภอและคอยระวังเรื่องแมลงศัตรูพืช จะทำให้ข้าวโพดมีความสมบูรณ์และให้ผลผลิตดี เฉลี่ยผลผลิตต่อไร่ 1,200-1,500 กิโลกรัม

ขณะนี้นายทองอยู่ได้ทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตแปลงแรก จำนวน 7 ไร่ ส่งขายให้กับสหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในมาตรฐานการชั่งน้ำหนัก การวัดความชื้นและการกำหนดราคารับซื้อที่เป็นธรรม ซึ่งผลผลิตข้าวโพด 7 ไร่ ที่รวบรวมส่งขายให้สหกรณ์ได้ปริมาณ 8,860  กิโลกรัม หรือเฉลี่ย 1,200 กิโลกรัม ต่อไร่ สหกรณ์รับซื้อข้าวโพดความชื้นเฉลี่ย 30% ในราคา 7 บาท/กิโลกรัม ทำให้มีรายได้รวม 62,020  บาท เมื่อหักต้นทุนแล้ว คาดว่าจะมีกำไรเหลือประมาณ 34,000 บาท และหากเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งหมดครบ 20 ไร่ จะมีกำไรจากการปลูกข้าวโพดภายในระยะเวลา 4 เดือน เป็นเงินเกือบ 100,000 บาท ซึ่งนายทองอยู่ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงโครงการนี้ว่าเป็นโครงการที่ดีที่ช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจที่จะหันมาปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา และอยากให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สานต่อโครงการนี้ในปีต่อๆ ไป