เปิดห้องเรียนประวัติศาสตร์ กลางสายหมอก ‘ภูชี้เดือน’ น้องเล็ก ตระกูล ‘ภูชี้’

แม่น้ำโขงมองจากช่องผาชาด ฝั่งตรงข้ามคือแขวงบ่อแก้ว

ปลายปีช่วงเวลาดีๆ อย่างนี้ ถนนทุกสายแทบจะมุ่งสู่เมืองเหนือ พาตัวเองไปสัมผัสลมหนาว ไปอยู่กลางสายหมอก ไปตามล่าหาแม่คะนิ้ง

“เชียงราย” เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ต้องรับศึกหนักโดยเฉพาะในห้วงเวลาเช่นนี้ นอกจากความสวยสดงดงามของสีสันไม้ดอกที่แข่งกันบานสะพรั่งอวดโฉม รวมทั้งป่าทั้งป่าที่เริ่มจะกลายเป็นสีชมพูด้วยดอกนางพญาเสือโคร่ง

ที่อำเภอเวียงแก่น หน่วยจัดการต้นน้ำหงาว-งาว สถานที่ซึ่งดอกนางพญาเสือโคร่งพร้อมใจกันสยายกลีบสีชมพูหวานในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ยังมีทะเลหมอกให้นักท่องเที่ยวได้เก็บภาพมาอวดกันแบบไม่มีใครยอมใคร

นอกจาก “ดอยผาตั้ง”, “ภูชี้ฟ้า”, “ภูชี้ดาว” ล่าสุดสถานที่ท่องเที่ยวน้องใหม่ในตระกูล “ภูชี้” เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา…

“ภูชี้เดือน” เริ่มจะเนื้อหอม มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนไปเก็บภาพก่อนใคร ด้วยจุดเด่นของทัศนียภาพที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ภูชี้ฟ้าในช่วงวัน ไม่มีหมอก แต่ยังมีเมฆบางๆ

“ภูชี้เดือน” โดยสถานะและที่ตั้งถือว่าเป็นภูแฝดกับ “ภูชี้ดาว” เพราะแม้ทางขึ้นจะอยู่แยกจากกัน คือภูชี้ดาว ทางขึ้นจะอยู่ที่บ้านร่มโพธิ์เงิน ส่วนภูชี้เดือน อยู่ทางบ้านร่มฟ้าหลวง (ต.ปอ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย) แต่จากภูชี้ดาวมีเส้นทางเดินเชื่อมต่อไปยังภูชี้เดือนได้เช่นกัน โดยระยะทางห่างกันราว 800 เมตร

เราวางแผนไว้ตีห้าเศษล้อหมุน เพื่อไปชมพระอาทิตย์ขึ้น อาศัยที่เป็นคนในพื้นที่และชำนาญเส้นทาง ด้วยพาหนะโฟร์วีลค่อยๆ ไต่ภู จากหมู่บ้านร่มฟ้าหลวง ระยะทางประมาณ 3 กม. บางจุดเป็นโค้งหักศอก

เจ้าบ้าน พ.ต.ท.กิตติคุณ ช่างเขียน ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนอาชีวศึกษาเชียงราย-พะเยา เล่าให้ฟังระหว่างพาขึ้นไปยังลานชมวิวด้านบน พร้อมกับชี้ระหว่างทางว่า “ตรงนี้ตอนปี 2507 เป็นเส้นทางที่ไทยกับสหประชาชาติตอนข้ามไปช่วยลาวรบกับคอมมิวนิสต์ ใช้รถถังวิ่งผ่านเส้นนี้ ครั้งนั้นพื้นที่บริเวณยังเป็นสีแดงจัด”

 

…กระทั่งมาจอด ณ ลานชมวิว ซึ่งจุดนี้เป็นลานกว้างสามารถกางเต็นท์พักค้างได้ แต่ต้องนำอุปกรณ์มาเอง มีห้องน้ำห้องท่าให้ใช้บริการ รวมทั้งเริ่มมีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งแผงให้บริการบะหมี่ถ้วย กาแฟเครื่องดื่มร้อนๆ

แต่ถ้าต้องการเห็นทะเลหมอกชัดๆ ต้องเดินเท้าขึ้นไปอีก 100 เมตร ท่ามกลางไอหมอกที่โอบล้อมด้านบนของยอดภูยังมีหลุมหลบภัยให้เห็นอยู่ 2 จุด เป็นหลักฐานที่ทิ้งรอยไว้ว่าบนนี้เมื่อก่อนเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญในสงครามปฏิวัติดอยยาวดอยผาหม่น และเป็นเส้นทางที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ข้ามฟากมาจากลาว

โดยมี “สันเขา” เป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างไทย-ลาว ผลพวงจากการทำแผนที่ปันแดนของฝรั่งเศส ฉะนั้นฐานบังเกอร์เก่าคอมมิวนิสต์ ปี พ.ศ.2510-2524 ณ ตรงจุดที่มีป้าย “จุดชมทะเลหมอกภูชี้เดือน” ซึ่งกำกับว่า สูง 1,742 เมตรจากระดับน้ำทะเล บริเวณนี้ตามพิกัดคือ พื้นที่ของประเทศลาว

ถ้าหมุนเข็มนาฬิกาทวนกลับไปเมื่อ 50-60 ปีก่อน ณ จุดที่เรากำลังยืนชื่นชมทัศนียภาพท่ามกลางสายหมอก เฝ้ารอเก็บภาพแสงแรกของวันที่จะปรากฏขึ้นตรงหน้า ณ เหลี่ยมเขาจุดใดจุดหนึ่ง ที่ตรงนี้คือที่ที่ทหารไทยเฝ้าระวังการรุกคืบของกองกำลังฝ่ายตรงข้ามในวันที่พื้นที่แถบนี้ยังเป็นสีแดงจัด

จุดชมวิวบ้านร่มโพธิ์เงิน บ้านร่มฟ้าหลวง ระหว่างดอยยาวและดอยผาตั้งผาหม่น ห่างจากภูชี้เดือน 4 กม.

อดีตฐานปฏิบัติการสีแดง

บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1020 จาก อ.เทิง สู่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ฟากฝั่งซ้ายมือมองเห็นดอยหลวงโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ในเขต อ.เชียงแสน ส่วนขวามือ ถนนเลียบไหล่เขา ติดขอบทางคือ “ดอยยาว” ตรงสันดอยถัดไปขนานกับดอยยาว คือ “ดอยผาหม่น” สันเขาตรงนี้ถือเป็นเส้นแบ่งแดนระหว่างไทย-ลาว

ดอยยาว ดอยผาหม่น เป็นสันดอยทอดตัวจาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย สู่ จ.พะเยาและน่าน เชื่อมโยงกับสันดอยอื่นไปจนถึง จ.เพชรบูรณ์ พิษณุโลก โดยมีทิวเขาติดต่อกัน พื้นที่เหล่านี้เป็นเขตปฏิบัติงานปฏิวัติของกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ท.ป.ท.) ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) สามารถเดินทางข้ามไปมาตามตะเข็บชายแดนได้สะดวกและยังใช้ประเทศลาวเป็นแหล่งพักพิงได้

สำหรับ “ภูชี้เดือน” เป็นเพียงหนึ่งในพื้นที่ปฏิบัติการ พื้นที่แถบนี้นับแต่ดอยผาตั้ง ภูชี้ดาว และภูชี้ฟ้า ล้วนอยู่บนพื้นที่ที่มีการสู้รบกันมายาวนาน เมื่อครั้งมีการขยายพื้นที่ของลัทธิคอมมิวนิสต์

ครูใหญ่โรงเรียน ตชด.อาชีวศึกษาเชียงราย-พะเยา เล่าว่า เมื่อก่อนที่นี่เป็นพื้นที่ที่ทหารไทยอยู่ ประมาณปี 2506-2507 ทางลาวคุกรุ่นมากเพราะการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาตั้งแต่ พ.ศ.2480 หลังปฏิวัติประชาชนจีน ลัทธิคาร์ลมาร์กซ์จากรัสเซียเข้ามาจีน จีนหลังจากปฏิวัติสำเร็จ วางแผนจะแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยลุกลามมาที่เวียดนาม ที่ลาว ครั้งนั้นที่ลาวมีการรบสู้ แบ่งกันเป็นลาวขวา-ลาวซ้าย ทางอเมริกาเกรงว่าจะเข้ามาที่เอเชีย เพราะตนเองมีผลประโยชน์ที่เอเชีย จึงส่งกำลังเข้ามารบ ตอนนั้นผมยังเด็กๆ เครื่องบินจะขึ้นมากันพรึบพรับ

“ตรงนี้เดิมที (ก่อนปี 2517/2518) ยังไม่มีจีนฮ่อที่ผาตั้ง จะเป็นชาวเขาเผ่าม้งทำมาหากิน เมื่อก่อนไม่มีรถ ชาวบ้านก็จะเดินไปบ้านหงาว ซึ่งเป็นหมู่บ้านใหญ่ เอาวัวเอาควายลงไปขาย”

“ตอนยังไม่เป็นคอมฯ เราก็อยู่สุขสบาย แต่ตอนหลังสู้ไม่ไหวก็ถอยลงมา ตชด.เข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการที่บ้านห้วยคุ ปี 2508 แล้วสร้างโรงเรียน ตชด.ขึ้นสอนเด็กในปี 2509 แต่ตั้งได้แค่ 2 ปี ต้องยุบเลิกไป ชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่อยากเป็น ผกค.หรือลงมาอยู่ที่บ้านกิ่วกาญจน์ ที่ห่วงทำกินและทรัพย์สินวัวควายก็กลายเป็น ผกค.หนีเข้าป่าต่อสู้กับรัฐบาล

“สถานการณ์ปี 2511 ต้องบอกว่ารุนแรงมาก ผกค.ตีฐาน ตชด.และโรงเรียน ตชด.แตก ครู ตชด.พลีชีพ 2 นาย และ ตชด.ที่ยิงต่อสู้ ผกค.เสียชีวิตอีก 15 นาย รวมทั้งหมด 17 นาย จนกระทั่ง 2511-2512 เสียงปืนแตกที่นครพนม ผกค.ก็พรึบเต็มพื้นที่”

พ.ต.ท.กิตติคุณเล่าให้ฟัง และว่า “พ่อเล่ากั๋ว” ชาวม้ง ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานชมรมยาสมุนไพรพื้นบ้าน และเป็นแกนนำเกษตรกรที่ปลูกกาแฟอินทรีย์รักษ์ป่าที่ภูชี้ฟ้า-ผาตั้ง ไม่ได้เป็น ผกค. แต่ก็พยายามชักจูงให้คนในป่าหนีออกมาอยู่ในหมู่บ้าน จนปี 2517/2518 แกไปทำงานกับเจ้านายผม คือ พ.ต.ท.ซ้อน ผ่องฉวี เป็นรอง ผกก.ตชด.เขต 5 ทำงานในทางลับเพื่อให้ ผกค.มอบตัว จนกระทั่งนโยบาย 66/23 ออกมาตอนที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี พ่อเล่ากั๋วก็เร่งพาพี่น้องชาวบ้านออกมามอบตัวใน ปี 2525 แล้วย้ายหมู่บ้านลงมาอยู่ข้างล่างใกล้ถนนยุทธศาสตร์ติดลำน้ำงาวและลำน้ำหงาว

ฐานบังเกอร์บนยอดภูชี้เดือน

ท่องเที่ยว 4.0 ขึ้นภูดูทะเลหมอก

เราเดินๆ ยืนๆ รอเวลาพระอาทิตย์แย้มหน้าออกมาทักทาย กระทั่ง 7 โมงเศษ ก็จำต้องล่าถอย เพราะบริเวณโดยรอบยังคงอ้อยยิ่งไปด้วยไอหมอกหนา เนื่องจากเมื่อคืนมีฝนปรอย ทำให้เช้านี้พระอาทิตย์ยังคงหลบหน้าอยู่หลังก้อนเมฆ  ไม่เป็นไร คราวหน้ายังมี…

ทั้งหมดพากันเดินลง นั่งรถย้อนกลับไปเบื้องล่าง ผ่านทางแยกซึ่งจุดนี้สามารถเดินเท้าไป “ภูชี้ดาว” แฝดผู้พี่ที่ขึ้นทำเนียบแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการชมทะเลหมอกไปเรียบร้อยแล้ว  แน่นอนว่า ในยามนี้ อากาศอย่างนี้ แม้จะบุกขึ้นไปสิ่งที่เห็นก็คงไม่ต่างจากบนภูชี้เดือน

ทว่า ระหว่างทางกลับฐานทัพที่ภูชี้ฟ้า ทะเลหมอกเป็นเวิ้งกว้างริมผาข้างทางก็ปะทะสายตาเข้าอย่างจัง ที่นี่เป็นจุดชมวิวอีกแห่ง ที่ปลอบใจนักท่องเที่ยวที่พลาดหวังจากภูชี้เดือนได้เป็นอย่างดี

ระหว่างทางขึ้นภูชี้เดือน ปลูกกาแฟอินทรีย์ นอกจากป้องกันการตัดไม้แล้ว ยังเป็นรายได้ให้ชาวบ้าน
เนิน 102 ดอยผาตั้ง อยู่ในพื้นที่ของลาว
บริการขี่ม้าเที่ยวเนิน102
ช่องผาขาด ดอยผาตั้ง