เผยแพร่ |
---|
ในอดีตจังหวัดชุมพรเคยประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ เกิดพายุไต้ฝุ่นเกย์ ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย ภาครัฐและส่วนราชการของจังหวัดชุมพรจึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟ ซึ่งเป็นพืชที่ให้ผลผลิตเร็วเพื่อให้เกษตรกรสามารถฟื้นตัวได้เร็วที่สุด ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกกาแฟกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เวลาต่อมาผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ เหลือประมาณกิโลกรัมละ 8-25 บาท
จนเมื่อปี 2540 เกษตรกรจึงร่วมกันก่อตั้งสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟจังหวัดชุมพร จำกัด ขึ้น เพื่อดูแลจัดการผลผลิตและสร้างอำนาจการต่อรองทางการตลาด โดยดำเนินการภายใต้หลักการและวิธีการของสหกรณ์
คุณปิยะ หนูสุด ผู้จัดการสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟจังหวัดชุมพร จำกัด เล่าว่า ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิกกว่า 700 ราย ดำเนินธุรกิจหลักคือ การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิก และธุรกิจแปรรูป โดยที่ผ่านมาการดำเนินงานของสหกรณ์เน้นความเป็นอยู่และความมั่นคงในการประกอบอาชีพของสมาชิกเป็นสำคัญ โดยมีการส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้ปุ๋ย ซึ่งสหกรณ์จะมีเครื่องผสมปุ๋ยสั่งตัดบริการให้สมาชิก
นอกจากนี้ ยังให้ความรู้เกี่ยวกับการตัดแต่งกิ่ง การทำสาวกาแฟ การเสียบยอด ตลอดจนพาไปศึกษาดูงานตามแปลงในสถานที่ต่างๆ ที่ประสบผลสำเร็จ เพื่อให้สมาชิกนำองค์ความรู้มาต่อยอดในแปลงของตนเองต่อไป
สำหรับการรวบรวมผลผลิตกาแฟจากสมาชิกนั้น แต่ละปีสหกรณ์จะมีเงินทุนในการรวบรวมเมล็ดกาแฟปีละประมาณ 50 ล้านบาท โดยสหกรณ์จะได้รับสนับสนุนเงินทุนในการรวบรวมผลผลิตจากกรมส่งเสริมสหกรณ์อย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้ได้เงินสนับสนุนจำนวน 40 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี รวมถึงได้รับสนับสนุนโกดังรวบรวมและสต๊อกกาแฟ และเครื่องชั่งน้ำหนักขนาด 60 ตัน ตลอดจนสนับสนุนเงินทุนในการปรับปรุงร้านกาแฟให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น
ซึ่งในปีนี้สหกรณ์ตั้งเป้ารวบรวมผลผลิตที่ 1,000 ตัน โดยสหกรณ์จะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดกิโลกรัมละ 10 บาท ส่วนสมาชิกที่ผลิตกาแฟได้สวย เมล็ดใหญ่ มีคุณภาพ จะบวกเพิ่มให้อีกกิโลกรัมละ 5 บาท และในกรณีที่สมาชิกบางรายไม่รับเงินสด แต่เปลี่ยนเป็นการถือหุ้นแทน สหกรณ์จะบวกเพิ่มให้อีกกิโลกรัมละ 10 บาท ในส่วนของผลผลิตที่รวบรวมมานั้น บางส่วนสหกรณ์จะขายให้กับพ่อค้า โรงคั่ว และบริษัทใหญ่ๆ บางส่วนจะเก็บไว้แปรรูปเอง
ซึ่งปัจจุบันสหกรณ์มีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กาแฟสาร กาแฟคั่ว-บด drip coffee กาแฟ 3 in 1 แบรนด์ “กาแฟชุมพร” และกาแฟ 3 in 1 แบรนด์ “กาแฟสหกรณ์” ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของค่านิยมในการดื่มกาแฟของผู้บริโภค โดยล่าสุดกำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา นั่นคือ กาแฟเรดโทน ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุอาหารต่างๆ ซึ่งในอนาคตยังมีแผนพัฒนากาแฟในรูปแบบขวดอีกด้วย
ทั้งนี้ ตลาดจำหน่ายกาแฟของสหกรณ์มีหลากหลาย เช่น ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย ร้านค้าเอกชนทั่วไปและตามห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นในจังหวัดชุมพรอีก 14 สาขา
ด้าน คุณสุพัตรา เงินทอง สมาชิกสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟจังหวัดชุมพร จำกัด บอกว่า เธอเป็นสมาชิกสหกรณ์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งและทำธุรกรรมกับสหกรณ์เรื่อยมา ทั้งการกู้ยืมเงินไปลงทุนในแปลง เช่น การซื้อปุ๋ยและยา ซึ่งสหกรณ์จะเป็นตัวกลางในการแบ่งปันประสบการณ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องของการปลูกกาแฟที่มีคุณภาพ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการคัดพันธุ์กาแฟ วิธีการปลูก การดูแลรักษา และการใส่ปุ๋ย เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในการลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งยังเป็นตลาดรองรับผลผลิตที่ให้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป
“ตั้งแต่เป็นสมาชิกสหกรณ์ได้ประโยชน์จากสหกรณ์เยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องเงินทุน ไม่เคยต้องกังวลเลย เพราะสามารถกู้ยืมจากสหกรณ์ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีเงินคืนสหกรณ์ เพราะหากเรารู้จักบริหารเงินทุนที่ได้มา พร้อมกับนำคำแนะนำดีๆ ของสหกรณ์มาปรับใช้ กับการทำแปลงกาแฟของเรา คำว่าขาดทุนแทบไม่มี นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้เรามีความเชื่อมั่นและรักในสหกรณ์มาก” คุณสุพัตรา กล่าว
ด้วยความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ของกาแฟชุมพร ทั้งในเรื่องของรสชาติและกลิ่นหอม ประกอบกับการเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนการผลิตของสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟจังหวัดชุมพร จำกัด ทำให้กาแฟโรบัสต้าของชุมพรขึ้นชื่อว่าเป็นกาแฟที่ดีที่สุดในประเทศไทย นอกเหนือจากนั้น การดำเนินงานที่ผ่านมาของสหกรณ์ยังเป็นที่ประจักษ์ในความสำเร็จจนกลายเป็นสหกรณ์ต้นแบบของจังหวัด เป็น 1 สหกรณ์ 1 อำเภอของจังหวัดในฐานะของสหกรณ์พิเศษ และเป็นอีก 1 สหกรณ์ที่เป็นศูนย์เรียนรู้การสหกรณ์ไทยอีกด้วย