พบสาร 1-MCP ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาและการขายกล้วยไข่เพื่อการส่งออก

กล้วยไข่ เป็นผลไม้ที่มีระยะเวลาการเก็บรักษาค่อนข้างสั้น เมื่อตัดออกจากเครือยังเป็นสีเขียว วางจำหน่ายไม่กี่วันก็จะเหลืองสุกและขั้วหวีจะเน่าตามมา กล้วยไข่เป็นผลไม้ที่มีการส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเช่นเดียวกับผลไม้ประเภทอื่น ๆ ซึ่งจะต้องมีระยะเวลาในการเดินทางและระยะเวลาในการวางจำหน่ายอยู่ในร้านประมาณ 15 วัน

คุณจารุวรรณ บางแวก ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การส่งออกกล้วยไข่ไปจำหน่ายต่างประเทศพบว่ามีปัญหาเรื่องการส่งออก คือ ขั้นตอนของการบ่มและการวางจำหน่าย มีปริมาณการสูญเสียมากที่สุดประมาณ 64 % สาเหตุการสูญเสียที่สำคัญคือ โรคขั้วหวีเน่า60 % ที่มีสาเหตุจากการทำลายของเชื้อรา ทำให้ผลผลิตส่วนหนึ่งเกิดการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้อายุการวางจำหน่ายสั้นลงที่ปลายทาง และเมื่อเกิดโรคขั้วหวีเน่าก็จะทำให้ขายไม่ได้

การสูญเสียของผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยวสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยในตัวของผลิตผลเอง ได้แก่ การหายใจ การคายน้ำซึ่งทำให้ผลิตผลเกิดการสูญเสียน้ำหนัก และปัจจัยภายนอกได้แก่ การทำลายของโรคและแมลง การเกิดบาดแผลอันเนื่องมาจากของมีคมเวลาเก็บเกี่ยว รวมไปถึงภาชนะบรรจุ และการขนส่ง

คุณจารุวรรณ อธิบายว่า การสุกของผลไม้เกิดจากเอทธิลีนซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นเป็นตัวเร่งให้เกิดการสุกของผลไม้ ถ้าเราจะยับยั้งให้เกิดการสุกช้าลง ก็ต้องยับยั้งให้เกิดเอทธิลีนลดลง เพราะเมื่อกล้วยไข่สุกก็จะเกิดโรคขั้วหวีเน่าตามมา

ส่วนการป้องกันไม่ให้เกิดขั้วหวีเน่า เกษตรกรจึงจำเป็นต้องพยายามหาทางป้องกันมิให้เกิดเชื้อราเข้ามาทำลายตั้งแต่ในสวน โดยเฉพาะในฤดูฝนจะเกิดเชื้อราสูงมาก เกษตรกรใช้สารที่เป็นส่วนประกอบของคาร์เบนดาซิมฉีดพ่นในแปลงกล้วยไข่ในปริมาณมาก เพื่อป้องกันมิให้เกิดเชื้อรา ซึ่งจะมีผลทำให้สารตกค้างมาถึงเวลาเก็บเกี่ยวด้วย ถ้าเกษตรกรใช้ในอัตราตามที่กำหนดก็จะไม่มีปัญหาในเรื่องของสารตกค้าง

การศึกษาวิจัยนี้เพื่อหาสาเหตุของการสูญเสียของกล้วยไข่หลังการเก็บเกี่ยวตลอดถึงการจำหน่ายที่ตลาดปลายทาง และหาวิธีการเหมาะสมในการยืดอายุการเก็บรักษากล้วยไข่ และหาชนิดของสารเคมีในการควบคุมโรคขั้วหวีเน่าของกล้วยไข่ทดแทนการใช้สารคาร์เบนดาซิม

Advertisement

“เราจะต้องศึกษาวิจัยตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การขนส่ง จนกระทั่งการวางจำหน่าย นอกจากจะได้คุณภาพที่ดีแล้ว การยืดอายุการเก็บรักษากล้วยไข่ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้สามารถขนส่งและวางจำหน่ายได้นานมากขึ้น”

พบการใช้ 1-MCP ชะลอการสุกของกล้วยไข่

Advertisement

ผู้เชี่ยวชาญจารุวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำสาร 1-MCP (1-methyleyclopropene) มาใช้ในการชะลอกระบวนการสุกของผลิตผลเกษตรหลายชนิดโดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค มีความเป็นพิษต่ำมาก ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม สาร 1-MCP สามารถลดการเกิดเอทธิลีน ซึ่งเป็นตัวเร่งให้ผลไม่สุกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากการศึกษาวิจัยทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวไปจนถึงการวางจำหน่าย พบว่า การใช้ 1-MCP ยืดอายุการเก็บรักษากล้วยไข่ด้วยความเข้มข้น 1000 ppb รวมกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 14 องศาเซลเซียส สามารถเก็บรักษากล้วยไข่ได้นาน 21 วัน

เมื่อนำกล้วยไข่มาบ่มด้วยสารเร่งการสุก ผลกล้วยไข่จะสุกหลังการบ่มประมาณ 11-13 วัน เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใช้สาร ใช้เวลาหลังการบ่มได้นานเพียง 7 วัน สามารถสรุปได้ว่า สาร 1-MPC สามารถชะลอการสุกของกล้วยไข่ได้ ทำให้ยืดอายุการวางจำหน่ายได้นานขึ้น

โรคขั้วหวีเน่าปัญหาสำคัญการส่งออกกล้วยไข่

คุณจารุวรรณ กล่าวต่อไปว่า เกษตรกรยังขาดความรู้เรื่องการใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราควบคุมโรคขั้วหวีเน่าของกล้วยไข่ในการคัดบรรจุ โดยนำสารคาร์เบนดาซิมที่ใช้ฉีดพ่นป้องกันกำจัดเชื้อราในแปลงกล้วยมาใช้ในการจุ่มล้างหวีกล้วยไข่ในการคัดบรรจุอีกด้วย จึงทำให้ตรวจพบมีปริมาณสารคาร์เบนดาซิมตกค้างในกล้วยไข่ที่ส่งออกไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเกินค่าปริมาณสารตกค้างสูงสุด 0.1 มก./กก.

ประกอบกับกรมวิชาการเกษตรได้รับรายงานจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี ว่า พบสารคาร์เบนดาซิมตกค้างในกล้วยไข่ที่ส่งออกไปในปริมาณสูงกว่า 100 ppm ขอให้กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร ทำการศึกษาวิจัยทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องสารคาร์เบนดาซิมตกค้างในกล้วยไข่ที่จะส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

จึงได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของสารเคมี 4 ชนิด คือ อิมาซาลิล โปรคลอราช ไดฟิโคนาโซล และโปแตสเซียมชอร์เบต พบว่า สารโปคลอราช 250 มก./ลิตร มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรคขั้วหวีเน่าหลังการเก็บเกี่ยว สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ดีไม่แตกต่างจากการใช้สารคาร์เบนดาซิม และ เบโนบิลได้อย่างดี

อย่างไรก็ตามการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับการดูแลในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวและระหว่างการเก็บเกี่ยว ถ้าเกษตรกรมีการปฏิบัติที่ดีมีการปนเปื้อนของเชื้อราที่เป็นสาเหตุน้อย ก็จะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดี อาจไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีหรือใช้ในอัตราความเข้มข้นต่ำ ก็สามารถลดการเกิดโรคและความรุนแรงของขั้วหวีเน่าของกล้วยไข่ได้อยากจะเตือนเกษตรกรที่ปลูกกล้วยไข่ว่าการจัดการในแปลงปลูกกล้วยไข่เป็นสิ่งสำคัญและไม่ควรพ่นสารเคมีในอัตราที่สูงเกินไป เพราะจะทำให้มีสารตกค้างในผลกล้วย ผู้เชี่ยวชาญกล่าวย้ำในที่สุด

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวพืชสวน กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-29406363 ต่อ 1813 และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี โทร. 0-3939-7134