สวน 100 ไร่ทำได้คนเดียว

ระหว่างวันที่ 14-16 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา มีงานพืชสวนก้าวหน้าครั้งที่ 15 (hortex 2018) ณ ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ในงานมีนิทรรศการ การจำหน่ายผลผลิต ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร งานแสดงความก้าวหน้าทางด้านเครื่องจักรกลการเกษตร รวมทั้งงานสัมมนาวิชาการ

งานสัมมนาที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ “สวน 100 ไร่ทำได้คนเดียว” วิทยากรประกอบด้วยชาวสวนชั้นนำของจังหวัดจันทบุรีได้แก่ คุณชนันท์ เขียวพันธุ์ คุณสุเทพ นพพันธ์ คุณภานุศักดิ์ สายพานิชและอาจารย์ปราโมช ร่วมสุข ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันทุเรียนไทย และเป็นประธานการจัดงานพืชสวนก้าวหน้า ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินงานสัมมนาครั้งนี้

จากซ้ายไปขวา อาจารย์ปราโมช ร่วมสุข คุณสุเทพ นพพันธ์ คุณภาณุศักดิ์ สายพานิช และคุณชนันท์ เขียวพันธ์

งานสัมมาสวน 100 ไร่ทำได้คนเดียว เป็นการพูดถึงทุเรียน เนื่องจากที่ผ่านมา ทุเรียนราคาดี คนหันมาปลูกกันมาก

คุณชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า เนื่องจากทุเรียนราคาดี เกษตรกรส่วนหนึ่งที่ก้าวหน้ามากๆ ไม่ได้พูดถึงเงินล้าน แต่พูดถึงรายได้จากการทำสวนระดับ 10 ล้านกันแล้ว หัวข้อสัมมนา “สวน 100 ไร่ทำได้คนเดียว” ไม่ได้หมายความว่า สวนที่มีอยู่จำนวนมาก มีคนเก่งทำสวน 100 ไร่ได้เพียงคนเดียว แต่หัวข้อสัมมนา อยากจะสื่อให้เห็นว่าสวน 100 ไร่ อาจจะมากกว่านี้น้อยกว่านี้ สามารถจัดการให้มีประสิทธิภาพได้

 

ใช้แรงงานประจำ 2 คน
จ้างแรงงานนอกช่วยบางช่วง

คุณชนันท์ เขียวพันธุ์ เจ้าของสวนทุเรียนรายใหญ่ บอกว่า 100 ไร่ทำได้คนเดียวหรือไม่ คือมันก็ได้ แต่บางอย่างเราไม่สามารถทำได้คนเดียว ในสวนของผม มีคนงานประจำอยู่ 2 คน ถ้าเราทำงานไม่ทันก็จะจ้างคนนอกเข้ามาทำงาน ถามว่าทำได้ไหมมันก็ได้ ก็เคยเจอปัญหามาก่อน ผมจะเล่าให้ฟังว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งคนงานที่สวนกลับบ้านกันหมดเลย ผมก็ไม่รู้จะจัดการยังไงก็เลยคิดในตอนนั้นว่าเรากำลังขาดแคลนแรงงาน ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้เราคงไปไม่รอดแน่ๆ

และพอดีช่วงนั้นผมก็ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งเขาเขียนถึงประเทศออสเตรเลีย เขาก็เขียนว่า ถ้าเราใช้แรงงานจากข้างนอกแล้วให้ค่าแรงพันกว่าบาทต่อวันเราจะไหวไหม ก็เลยเกิดความคิดอยากจะลองทำขึ้นมา หลังจากนั้นก็เริ่มทำจริงๆ จังๆ ก็เลยคิดว่ามันก็ทำได้ แต่เป็นบางอย่างเท่านั้นเอง

100 ไร่ทำได้คนเดียวคือมันก็คงต้องฝืนทำ คือที่ผมเคยประสบปัญหาเมื่อตอนนั้น คือแรงงานมันลาออก ปัญหาต่างๆ ก็ตามมา เช่น ให้น้ำก็ไม่ได้ ตัดหญ้าก็ไม่ได้ พ่นยาก็ไม่ได้ ผมก็อยู่สวนคนเดียวด้วย แต่ตอนนี้แม้ผมจะอายุมาก งานที่ผมกล่าวถึงเมื่อสักครู่ผมก็สามารถทำคนเดียวได้ แต่ผมจะสามารถอยู่ได้ประมาณ 2 เดือน

ซึ่ง 2 เดือนนี้คิดว่ามันคงทำได้ ก็ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันนี้ 9,800 ต้น ถ้าเกิดว่าเราให้น้ำคนเดียวผมคิดว่าไม่สามารถทำได้ แต่ผมสามารถให้น้ำได้แค่วันเดียวจบ ใน 1,800 ต้น ส่วนการตัดหญ้านั้นผมก็จะใช้รถตัด เมื่อก่อนนี้ผมก็ใช้เครื่องสะพายตัด 7 เครื่อง ตัดกว่าจะหมดสวนก็ 7 วันของเสียหายมากมาย ท่อแตกบ้างท่อหักอะไรอีก ปัญหาก็เยอะ และต้องมานั่งเอาใจคนงานทั้ง 7 คน ก็คงไม่ได้แน่

รถตัดแต่งกิ่ง

“มาใช้รถตัด ที่ผมใช้อยู่มันก็เป็นระบบเซ็นเซอร์ที่จะต้องมีการพัฒนาอีกเยอะ ทีแรกมันก็ดีแต่พอมาถึงช่วงหลังๆ ก็มีเสื่อมลงไปบ้าง มันก็ต้องมีการพัฒนาให้ดีกว่านี้อีกต่อไป มาถึงการโยงกิ่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากและถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ว่าเราไม่โยงแล้วจะทำให้กิ่งแข็ง มันไม่รับน้ำหนักลูก เราไม่โยงไม่อะไรนี่ กลัวไม่เร่งน้ำหนักลูก คือเราไม่โยงเราก็ต้องตัดปลายกิ่งเพื่อให้ลูกออกดอกทางโคนกิ่งได้ แต่ที่ผมจะทำนี้ก็คือมันเป็นปัญหาใหญ่ในเรื่องการโยง เพราะพอถึงหน้าโยงเมื่อไร แรงงานโยง หรือแรงงานนอกก็จะแย่งกัน จนทำให้ขึ้นราคา

คือผมก็เคยบอกกับลูกน้องว่าปีหน้าเราต้องรีบตัดแต่งกิ่ง ก็บอกไปว่าผมจะเอา 20 กิ่ง ต่อต้น แต่ 20 กิ่ง ผมรู้สึกว่ามันยังไม่ได้ดั่งใจ ตอนนี้เราไม่รู้ว่ามันจะมากหรือว่ามันน้อย ก็เลยต้องเสี่ยงเพราะว่าถ้ามันอยู่ครบตลอดนั้นก็ไม่มีปัญหา เกิดมีราสีชมพูกินเข้าไปตายไป 3 กิ่ง จาก 15 กิ่ง ก็เหลือ 12 กิ่ง แต่ถ้าปีหน้าถ้ารู้สึกว่าได้ผลจริงก็อยากจะเอา 20 กิ่ง ถึงแม้ว่ามันอาจจะเสี่ยงหน่อย แต่บางสวนผมเอาไว้ ต้น 50-60 ลูก ซึ่งเรื่องนี้ มันต้องคุยกันอีกนาน

ต่อมาประเด็นเรื่องของการพ่นยา ธรรมดาผมก็จะพ่นเองแต่ปีนี้ผมก็ไม่ได้พ่นเองทุกรอบ ก็จะให้ลูกน้องพ่นสัก 3 รอบ แล้วผมก็พ่นสัก 1 รอบเป็นตัวอย่างแนวทางให้ลูกน้องได้ดู สำหรับเครื่องพ่นยาที่ใช้อยู่ตอนนี้ก็ยังไม่ถูกใจผมสักเท่าไร แต่ก็มีเครื่องพ่นยาที่ผมถูกใจแต่ขาดอยู่นิดเดียวคือที่องศา และเราก็มาถึงจุดนี้แล้ว เราก็จะต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ในสวนของผมก็มีแรงงานคนไทยแค่ 2 คน เพราะส่วนใหญ่ก็มีแรงงานจากเขมร แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจในการใช้เครื่องไม้เครื่องมือจนทำให้เกิดความเสียหาย ก็เลยเลือกที่จะใช้แรงงานไทยมากกว่า” คุณชนันท์ กล่าว

 

ปลูก 220 ไร่
ผลผลิต 300 ตัน เป็นราดำ 50 ตัน

คุณสุเทพ นพพันธ์ เจ้าของสวนทุเรียน นวลทองจันท์ บอกว่า ทุเรียนเป็นพืชที่ใช้แรงงานสูงซึ่งตอนนี้ก็พยายามจะลดแรงงาน ก็เลยคิดว่า 100 ไร่ทำได้คนเดียว ผมคิดว่ายังทำไม่ได้แต่ถ้าสั่งคนเดียวผมว่าได้ ตอนนี้คือ 220 ไร่ของผม ใช้แรงงานทั้งหมด 14 คน ก็พยายามจะลดแรงงานให้เหลือครึ่งหนึ่ง จะพอไหวไหม และถ้าไม่มีแรงงานเหมือนปี 2558 อย่างมังคุดต้องทิ้งเลย เพราะว่าเราไม่ได้เก็บเกี่ยว เงินก็ไม่ไหลเข้ากระเป๋า

ผมว่าในอนาคต 9-10 ปีข้างหน้าผมก็ว่ายังไม่ได้ แต่ถ้าเกินกว่านั้นก็อาจจะต้องใช้คำพูดเหล่านี้ที่ว่า 100 ไร่ทำคนเดียวได้ เดี๋ยวนี้การใช้เครื่องจักร ก็ต้องมีการปูพื้นฐานเพราะตอนนี้เรามารักษาของเก่า ส่วนของใหม่นี้เราไม่ได้บูรณาการให้มัน ตอนนี้สวนที่เป็นต้นแบบก็ยังไม่มี

100 ไร่จะใช้เครื่องจักรจะใช้คนๆ เดียวไม่ได้ และที่ผมไปดูงานที่ออสเตรเลียมา พืชของเขาจะไม่เหมือนบ้านเรา ของเขาจะเป็นมะคาเดเมียนัท ซึ่งหล่นแล้วก็เก็บได้เลย ของเรามันต้องเก็บผลสดเก็บผลสุก ฉะนั้น ต้องวางแผนให้ดี เพราะสิบปีข้างหน้ามันต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ ซึ่งตอนนี้ที่ระบบแปลงก็ยังเถียงกันไม่จบเรื่องการยืนระยะห่างเท่าไรจึงจะเหมาะสม

“ส่วนในเรื่องของเครื่องจักรกลบางอย่างอาจจะเสื่อมสภาพเร็ว เพราะว่าเวลาอยู่ในบ้านความชื้นอะไรมันก็น้อย แต่พอเข้าไปในสวน ด้วยความชื้นและฝนตก ทำให้ระบบของมันก็จะสะดุดจนทำให้สั่งการไม่ถูก คือเรื่องนี้ผมก็คิดมานานแล้ว คือการลดขนาดความสูงของต้นลงมา จากที่โยงกิ่งเล็กก็หันไปโยงกิ่งที่ใหญ่เท่านั้น ผมก็จะคิดต่อยอดจากชาวสวนรุ่นก่อนๆ คือเราโยงกิ่งใหญ่ การตัดแต่งทรงพุ่ม

ตอนนี้ความเป็นไปได้มันจะได้ขนาดไหนแต่ความคิดคือ คิดแล้วเพราะว่าเราก็ประสบปัญหา ทุเรียนมันออกพร้อมกันโยงอะไรพร้อมกันหมด จนทำให้เกิดปัญหาการแย่งแรงงาน ทำให้ชาวสวนแย่งแรงงานกันเอง ในอนาคตถ้าเราลดขั้นตอนการโยงได้ ก็อาจจะลดทั้งคนงานและค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังคิด แต่ในอนาคตข้างหน้าจะได้หรือไม่ได้ต้องมาดูที่แปลงของผม เพราะตอนนี้ผมกำลังทำอยู่ สำหรับผม ความสูงต้น 6 เมตร ไว้ 15 กิ่ง ต่อต้น ก็ไม่มีที่ว่างแล้ว เพราะว่าเราลองมาเฉลี่ยดูความสูง 6 เมตร ถ้ามันเกินมันก็อาจจะไม่มีที่ว่างสำหรับกิ่ง ผมก็เลยเอาแค่ 15 กิ่ง ก็ประมาณกิ่งละ 5 ลูก โดยเฉลี่ยก็ลูกละ 3 กิโลกรัม”

รถพ่นสารกำจัดศัตรูพืช

“ผมว่าด้วยสรีระของต้นไม้ที่สูง 6 เมตร ผมว่ามากที่สุดก็ 15 กิ่ง และมาถึงเรื่องการฉีดสารให้ออกดอก ที่ว่าฉีดตรงไหนออกตรงนั้น ซึ่งในตอนนี้ที่เราบังคับให้มันออกดอกมันก็ออกได้ แต่เราไม่สามารถบังคับให้มันอยู่ในที่สิ่งที่เราต้องการได้…

ปีที่แล้วผมก็พยายามทุกอย่างเพื่อให้มันดีขึ้นทั้งการทดลองต่างๆ เช่น ผสมยาเอง ผสมยาเกินก็ไม่ได้ผล สรุปแล้วมีราดำ 50 กว่าตัน ในทุเรียน 300 กว่าตัน ก็เห็นได้ว่าระบบการฉีดของผมไม่ดี ก็อยากจะให้พัฒนาเครื่องจักรให้ดีให้มันเสียหายน้อยที่สุด และถ้าหากมองไปถึงเทคโนโลยีเครื่องพ่นยาที่มีทั้งระบบเซ็นเซอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงถึงขั้นตรวจจับแมลงได้ เราก็ต้องกลับมาคิดใหม่ว่าเราอยู่ได้ไหม ทุเรียนราคาเท่าไรและเราก็คิดว่าเราลงทุนในส่วนของตรงนี้แล้วคุ้มไหม” คุณสุเทพ กล่าว

คุณสุเทพ กล่าวว่า แรงงานฝีมือดีตอนแต่งลูกต้องมี แล้วถ้าทุเรียนราคาสูงๆ ก็ต้องรักษาผลผลิตไว้ เราจะปล่อยให้เสียหายไม่ได้ สมมุติวันนี้ต้องการทุเรียน 3 ตู้ เราก็ต้องใช้แรงงาน 50 คน คือจะบอกว่าอาจจะไม่ต้องฝีมือก็ได้ แต่ต้องขยัน และนี่ก็เป็นแรงงานที่ต้องใช้ในช่วงนั้นเพื่อให้มันผ่านตรงนี้ไป ก็เคยประสบมาแล้วเมื่อปี 2558 แต่ทุเรียนไม่ค่อยมีปัญหา เราจัดการล่วงหน้าได้หลักที่ห่วงก็คือเวลาเราดูแลแรงงานไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างด้าว แน่นอนจะต้องให้ความเสมอภาคกัน คิดถึงใจเขาใจเรา

 

เครื่องจักร
ช่วยลดเวลาการทำงานได้มาก

ภานุศักดิ์ สายพานิช ประธานกลุ่มทุเรียนเอ็กโซติค บอกว่า สำหรับสวน 100 ไร่ทำคนเดียว ก็คิดว่าจะต้องวางแผน ระบบงานตรงนี้หรืองานประจำผมคิดว่าสามารถใช้คนงานแค่คนเดียว ดูแล 100 ไร่ได้ แต่ว่างานบางอย่าง เช่น งานที่จะต้องไปตัดแต่งดอก ตัดแต่งลูกหรือว่างานโยง งานเหล่านี้ เราก็จำเป็นที่จะต้องใช้แรงงานจากข้างนอกเข้ามาช่วย มาถึงงานประจำก็อย่างเช่น งานให้น้ำ ถ้าเราวางระบบให้ดี เราก็จะสามารถใช้แรงงานแค่คนเดียว 100 ไร่ก็ทำได้

ถ้าเกิดว่าเราจะแยกเราจะเริ่มจากการทำแปลงใหม่กับแปลงเก่า ถ้าเราเริ่มจากแปลงใหม่ ผมก็จะเว้นระยะห่างของต้นประมาณ 10 เมตร เพราะว่าเป็นระยะที่เครื่องจักรสามารถเข้าไปทำงานได้อย่างสะดวก อาจจะใช้เครื่องจักรในการตัดแต่งกิ่ง และความสูงระยะ 6 เมตรก็เป็นระยะที่เครื่องแอร์บัสหรือแอร์เชีย เข้าไปทำงานได้ค่อนข้างละเอียด ก็ไม่ค่อยมีพวกหนอน พวกแมลง

ถ้าเกิดเราคุมระยะไว้ได้ขนาดนี้ คนงานจะขึ้นไปทำงานก็สะดวก ผู้หญิงก็ขึ้นได้ ความสูง 6 เมตรนี้ เราจะตัดแต่งให้มีกิ่ง 15-20 กิ่ง ต่อต้น แล้วเราสามารถไว้ผลผลิตได้เยอะไม่ค่อยน้อยกว่าต้นใหญ่สักเท่าไร แต่ว่ามันจะรวดเร็วกว่า ประหยัดค่าแรงงานขึ้นเยอะ เนื่องจากว่าเนื้องานก็จะน้อยลง

“ส่วนการตัดหญ้าเราสามารถใช้เครื่องจักรหรือรถตัดหญ้า มันก็จะทำงานง่ายใช้เวลาตัด 100 ไร่ ใช้คนๆ เดียวก็ประมาณ 1-2 วันก็เสร็จ แต่บางคนก็อาจจจะกังวลว่ารถตัดหญ้าถ้าวิ่งเข้าไปในแปลง ย่ำโคนมันอาจจะทำลายระบบรากไหม ตอบเลยว่าจริงๆ มันก็มีบ้าง แต่ถ้าเรากังวลเราก็สามารถใช้เศษวัสดุพืช พวกฟาง หญ้ามาคลุมไว้ พวกหญ้าในโคนมันก็จะไม่ค่อยขึ้นรวมถึงเลี้ยงใบข้างนอกให้มันทึบเข้าไว้ แดดก็จะไม่ค่อยลงอันนี้เราก็ไม่ค่อยจะมีปัญหาเท่าไร ก็มีโอกาสเป็นไปได้ตอนแรกก็มีเริ่มทำไปแล้ว

อย่างเช่นการใช้โดรนที่จะใช้ จีพีเอส (GPS) ให้วิ่งไปเป็นแถว ทั้งนี้ทั้งนั้นการปรับปรุงในส่วนของตรงนี้ก็ขึ้นอยู่ในช่วงที่จะต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ แล้วระบบเซ็นเซอร์ต่างๆ ก็อาจจะมีการพัฒนามากขึ้น ความเสียหายที่เกิดจากการใช้งานก็อาจจะค่อยๆ ลดลง ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกสักระยะหนึ่ง ผมก็เห็นด้วยกับทั้งสองท่าน ที่ให้มีการโยงกิ่งใหญ่แล้วมีการโยงตั้งแต่ช่วงนี้เลย ก่อนที่ลูกจะใหญ่

แต่ในที่นี้เราจะต้องใช้ปัจจัยในการผลิตที่มีกระบวนการผลิตที่ดี พอที่จะให้ดอกทุเรียนออกมากิ่งใหญ่ไม่ใช่ออกปลายๆ แต่เราต้องมีความรู้ในการทำปัจจัยต่างๆ ให้มันเหมาะสมและสามารถทำได้ คือตอนนี้ก็มีการใช้ฮอร์โมนบางชนิดที่ใช้ไปแล้ว เราก็ไม่รู้ว่ามันจะเข้าลึกไปที่โคนกิ่งแค่ไหน และถ้าถามว่ามันจะได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม ก็ต้องบอกเลยว่ามันก็คงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมก็เห็นด้วย” คุณภาณุศักดิ์ กล่าว

คนฟังล้นห้องประชุม

“ผมเห็นด้วยกับท่านที่ใช้แอร์บัสที่จะทำให้การเก็บงานได้ดีขึ้น ซึ่งถ้าสมมุติว่าเป็นแปลงเก่า เราก็จะต้องสำรวจแปลงเก่าว่าเส้นทางไหนที่เราจะพ่นได้ทั่วถึง เสร็จแล้วเราก็สำรวจดูว่าตรงไหนมันเป็นจุดที่น้ำจะไปขัง หลังจากนั้น ก็ทำให้มันวิ่งไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าเกิดว่าเราให้มันวิ่งไปทางใหม่ตลอด ระบบรากก็จะเสียหายไปด้วย และระบบนี้ที่ว่าแน่นอนมันก็จะได้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า ซึ่งตัวอย่างของผม 100 ไร่ ผมก็จะใช้เวลาฉีดโดยใช้แอร์บัส ผมก็ใช้เวลาฉีดทั้งไร่ ก็ประมาณ 8 ชั่วโมง ถ้าเราจัดการให้เป็นระบบ จะทำให้ประหยัดแรงงาน ประหยัดเวลาได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตถ้าหากมีเทคโนโลยีพ่นยาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นก็คิดว่าดี แต่ด้วยราคาและประสิทธิภาพ ความละเอียดต่างๆ หรือแม้กระทั่งการเก็บงานที่อาจจะมีค่าใช้จ่าย…แพงแค่ไหนก็ต้องดูอีกต่อไป ในส่วนของการโยงนั้น จำเป็นจะต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้แรงงานไม่มีฝีมือในการโยงกิ่งอาจจะทำกิ่งหัก ซึ่งอันนี้จะทำให้เกิดความเสียหายมาก” คุณภาณุศักดิ์ ให้ความเห็น

ด้านนักพัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่เข้าร่วมสัมมนา ให้ความเห็นว่า ถ้าชาวสวนต้องการให้รถตัดหญ้าที่มีระบบเซ็นเซอร์ที่มันดีกว่านี้ จริงๆ มันก็ทำได้ เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาปัญหานี้ก็เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเกิดจากคนรุ่นใหม่ที่ไม่ทำงานกสิกรรม ปล่อยให้คนที่มีอายุมากทำ รัฐบาลญี่ปุ่นใส่งบประมาณให้กับบริษัทเพื่อพัฒนาเครื่องบินพ่นยาขึ้นมา ก็เลยได้เฮลิคอปเตอร์พ่นยา

ก็พิสูจน์ได้เลยว่า ความคิดต่างๆ เหล่านี้มันเกิดขึ้นมาแล้ว 2-3 ปีที่ผ่านมาก็มีบริษัทในประเทศอเมริกา ประเทศจีน ประเทศอิตาลี ก็พัฒนาโดรนพ่นยาขนาดใหญ่แต่มีปัญหาเดียวที่ยังติดขัดอยู่นั้นก็คือปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ที่บินได้ไม่เกิน 15 นาที บริษัท 2-3 บริษัท ในประเทศอเมริกาก็ได้พัฒนา โดรนที่เป็นเครื่องยนต์

ปัจจุบันนี้โดรนพ่นยาที่สามารถรับน้ำหนักก็มีตั้งแต่ 10 กิโลกรัม 20 กิโลกรัม จนถึง 100 กิโลกรัม และด้วยสภาพของโดรนที่สามารถพ่นยาเสร็จ 100 ไร่ ภายใน 1 วัน ก็เลยคิดว่า ราคาเครื่องก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับชาวสวน ทีนี้การใช้โดรนพ่นยาในสวนผลไม้ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากๆ และจันทบุรีภาคตะวันออก น่าจะเป็นที่แรกๆ ในโลกที่นำมาใช้กับทุเรียน แล้วก็เข้าใจคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยอยากทำงานลำบาก

นอกจากนี้ ก็ยังมีคำถามเข้ามาอีกว่า แล้วโอกาสที่เครื่องบินหรือโดรนจะตกมีมากน้อยแค่ไหน ก็ตอบไปว่ามันก็มีโอกาสเสมอเพราะอะไรที่มันอยู่บนฟ้ามันย่อมมีโอกาสตก และต่อให้มันตกขึ้นมามันก็ไม่ได้เสียหายอะไรมากมาย เนื่องจากการบินของเราบินค่อนข้างที่จะต่ำ และที่สำคัญไม่มีอันตรายถึงขั้นต้องเสียชีวิต

 

อาจารย์ปราโมช ร่วมสุข
ช่วยสรุปงานสัมมนา

อาจารย์ปราโมช ร่วมสุข บอกว่า สวน 100 ไร่ทำได้คนเดียว เริ่มแรกก็ต้องวางแผนให้ดี เริ่มตั้งแต่การกำหนดทรงพุ่ม กำหนดระยะปลูกซึ่งก็ได้บอกไปแล้วว่า ปลูกเท่าไร และเทคโนโลยีรถตัดหญ้าที่ใช้ระบบเซ็นเซอร์ที่ดีมันก็ทำได้อยู่ เพียงแต่ว่ามันยังไม่มีใครรีเควสเท่านั้นเอง ซึ่งวันนี้ผมว่ามันถึงเวลาแล้ว เราไม่ต้องรอให้ชาวสวนรีเควส และผมเชื่อถ้าทำขึ้นมาก็มั่นใจว่าจะขายได้อยู่แล้ว ต่อมาเรื่องของการโยงกิ่งถ้าเลือกตำแหน่งของการไว้ผลได้ การโยงกิ่งก็ไม่เป็นปัญหา

“ประเด็นต่อมาก็คือการพ่นยา หาแรงงานทำยาก ขอบอกก่อนเลยว่าความเป็นไปได้ที่จะมีสวนตัวอย่างในปี 2562 ที่จะถึง ซึ่งจะเป็นสวนที่มีขนาด 10-15 ไร่ โดยการปักเสาจำนวน 4 เสา และใช้สลิงขึงให้เป็นตัวกากบาท แล้วมีมอเตอร์สี่ตัวติดตั้งที่เสาแต่ละต้น แล้วเอาโดรนแขวนโดยจะใส่ทุกอย่างลงไป คุมการเคลื่อนไหวทุกอย่างอยู่ที่แกนxวิ่ง ซ้ายขวาหน้าหลังได้

อาจารย์ปราโมช ร่วมสุข

ทั้งนี้ทั้งนั้นเจ้าของสวนก็ได้รับปากมาแล้วว่าสวนตัวอย่างแบบนี้จะเกิดขึ้นที่จังหวัดจันทบุรี ก็สรุปว่าถ้าเราจะทำสวนทุเรียนในอนาคตอันดับแรกเราก็ต้องวางแผนก่อนว่าเราจะจัดการหน้าตาของสวนทุเรียนของเราเป็นอย่างไร จะต้องมีการยกโคกยกร่องยังไง และระยะปลูกเท่าไร ตัดหญ้าแบบไหน จะพ่นยายังไง ไว้กิ่งกี่กิ่งต่อต้น และจะให้วางตำแหน่งของผลยังไง อะไรที่เอาแรงงานเข้าไปได้แล้วอะไรที่เอาเครื่องจักรมาแทนแรงงานคนได้บ้าง และอะไรที่เครื่องจักรทำไม่ได้แล้วเอาแรงงานคนเข้ามา

อย่างเช่นเรื่องของการแต่งกิ่งแขนงนี้มันทำไม่ได้ แน่นอนจะต้องใช้แรงงานคน อาจจะเป็นแรงงานเฉพาะกิจ ที่มาจากสถาบันการศึกษา นักเรียน นักศึกษา หรือแรงงานที่มาจากผู้ต้องขัง ต่อมาเรื่องของการปลูกแน่นอนก็ต้องใช้เครื่องจักรกลซึ่งในขณะนี้เราบอกการปลูกทุเรียนระยะชิดสามารถทำได้ก็มีต้นแบบที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีที่เขาทำไว้แล้ว และต้องมานั่งคุยกันว่าเราจะทำแบบไหนอย่างไร ถ้าเราสามารถทำแบบนี้ได้ต่อไปเจ้าของสวนก็จะเป็นเจ้าของสวนคนเดียว อาจจะมีแรงงานจากภายนอกที่เข้ามารับจ้างทำ คือจะต้องดีไซน์งานให้ออกว่า อะไรทำเมื่อไร” อาจารย์ปราโมช กล่าว

อาจารย์ปราโมช บอกว่า เนื่องจากว่าสถาบันทุเรียนไทยเป็นองค์กรกลางพร้อมจะรับฟังปัญหาของชาวสวน หรือผู้ประกอบการส่งออก ก็ถือว่าสถาบันที่จะเข้ามาดูเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“ผลผลิตทุเรียนปีนี้ 3 จังหวัดภาคตะวันออกช่วงชุกๆ ออกมา 3 แสนตัน กังวลเรื่องแรงงานเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาที่จะกลับไปประเทศ เราจะรับมืออย่างไร และอยากจะฝากไปถึงหน่วยงานจากทางภาครัฐว่า ณ ตอนนี้ทุเรียนก็เป็นพืชทอง ก็อยากให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนแลกเปลี่ยนความคิดก็คงจะดีขึ้น ทั้งนี้ งานพืชสวนก้าวหน้าได้รับการตอบรับจากประชาชนที่เข้ามาร่วมงานอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะการเสวนาทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมังคุด หรือแม้แต่เรื่องทุเรียน ก็ถือว่าเป็นการนำเสนอความรู้ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับชาวสวน” อาจารย์ปราโมช พูดถึงการจัดงาน

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ.2562