พันธุ์พืชผักอินทรีย์พื้นบ้านที่น่าปลูก

ฟักเขียวยักษ์ไต้หวัน

ปัจจุบัน กระแสความนิยมบริโภคพืชผักอินทรีย์เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สินค้าขายดีหลายชนิด จัดอยู่ในกลุ่มพืชผักพื้นบ้าน ที่ปลูกเป็นผักริมรั้ว ดูแลแบบพืชผักอินทรีย์ กลายเป็นสินค้าทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจของเกษตรกรในหลายพื้นที่ เพราะพืชผักพื้นบ้านปลูกดูแลง่าย ไม่ค่อยมีปัญหาโรคแมลงมากนัก แถมมีตลาดรองรับแน่นอน สร้างรายได้ดีให้แก่เกษตรกร

ถั่วแปบ หรือ มะแปบ เหมยโต้ว เสี่ยงตาวโต้ว

ถั่วแปบ เป็นพืชตระกูลถั่ว ที่มีแหล่งกระจายพันธุ์มาจากประเทศอินเดีย แล้วจึงกระจายพันธุ์ไปทางภูมิประเทศแบบเขตร้อนหรือร้อนชื้น โดยทั่วไปมี 2 ชนิด คือ ถั่วแปบเขียว ฝักจะมีสีเขียวเข้ม และถั่วแปบขาว ซึ่งฝักจะมีสีเขียวซีดขาว แต่ปัจจุบันมีถั่วแปบอีกชนิดหนึ่ง คือ ถั่วแปบม่วง มีลักษณะฝักสีม่วง มีดอกสีม่วง สวยงามมาก ปลูกตามแนวรั้วไว้รับประทานฝักอ่อน เช่น แกงส้ม ลวกจิ้มน้ำพริก ผัดน้ำมันหอยใส่หมูหรือกุ้งก็ได้ตามชอบ

ถั่วแปบม่วง

ถั่วแปบ ประกอบด้วย โปรตีน แป้ง ไขมัน เกลือแร่ และแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก สังกะสี รวมไปถึงวิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี กรดแพน-ไรทีนิค และสารพฤกษเคมี ที่มีชื่อว่า ไฟโตฮีแม็กกลูตินิน (Phytohemagglutinine) ซึ่งช่วยเร่งการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวในการทำงานเซลล์สิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ถั่วแปบ ยังสามารถปลูกคลุมดิน เพื่อบำรุงรักษาดินให้ดีอีกด้วย

ผักปลัง ผักปั้ง หรือ โปเต้งฉ่าย

ผักปลัง เป็นผักพื้นบ้านที่พบเห็นอยู่ทั่วไป เป็นผักที่ไม่ต้องดูแลมากนัก ผักปลังจึงเป็นผักที่ค่อนข้างปลอดสารพิษ ผักปลัง สามารถนำยอดอ่อน ใบอ่อน และดอกอ่อนไปทำอาหาร เช่น ลวกหรือนึ่งรับประทานกับน้ำพริก แกงอ่อมหอย ผัดใส่แหนม แกงส้ม แกงแค แกงเห็ด

ผักปลังจีนยอดแดง

ผลสุกของผักปลั่งนิยมใช้เป็นสีผสมอาหาร เช่น ขนมชั้น บัวลอย ขนมน้ำดอกไม้ ขนมเรไร และซ่าหริ่ม เป็นต้น ผักปลังในปัจจุบันมีทั้งประเภทใบเล็กและใบใหญ่ มีทั้งสีเขียวและสีแดง

กระเจี๊ยบแดง

กระเจี๊ยบมอญ มะเขือทะวาย มะเขือมอญ มะเขือพม่า มะเขือละโว้ มะเขือลื่น เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากแถบแอฟริกาตะวันตก แถวประเทศซูดาน และที่ประเทศอินเดีย ก็มีกระเจี๊ยบอีกชนิดหนึ่ง ฝักเป็นสีแดง ทั้งลำต้นและก้านใบก็จะเป็นสีแดง ซึ่งแตกต่างไปจากพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งจะมีแต่ฝักสีเขียวเท่านั้น

กระเจ๊๊ยบแดง

เรานำฝักกระเจี๊ยบไปปรุงอาหารได้หลายชนิด ตั้งแต่ลวกจิ้มน้ำพริก ชุบแป้งทอด ใส่แกงเลียง ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานกระเจี๊ยบมาก ใช้ทำข้าวปั้นห่อสาหร่าย ปลูกได้ทุกสภาพดินฟ้าอากาศ

น้ำเต้าลาย

น้ำเต้าลายเป็นพืชโบราณนานแสนนานจากฟอสซิลซากพืชที่พบในแหล่งโบราณคดีที่แม่ฮ่องสอนก็มีเมล็ดน้ำเต้ารวมอยู่ด้วย น้ำเต้าลาย ก็เป็นอีก 1 ในกว่า 50 สายพันธุ์ ของน้ำเต้า รูปร่างคล้ายฟักเขียว แต่มีลายสีขาวที่ผล ดูสวยงามและเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง น้ำเต้าลายบริโภคได้ทั้งแกงส้ม ต้มจืด ผัดใส่ไข่ ใส่หมู แกงเผ็ดไก่ ใส่พะโล้

น้ำเต้าลาย

นอกจากนี้ น้ำเต้าลายยังมีสรรพคุณทางสมุนไพร ใช้ใบสดโขลกผสมกับสุราทาเพื่อถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อยได้ น้ำเต้าปลูกง่าย ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน จึงนิยมปลูกไว้รับประทาน เพราะปลอดสารพิษจากยาฆ่าแมลง สรรพคุณทางยา ใบแก้ตัวร้อน แก้ร้อนกระหายน้ำ แก้เริม เป็นต้น  หากใครสนใจพันธุ์พืชพื้นบ้านเหล่านี้ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุรางค์ ท้วมอยู่ โทร.(083) 877-3827

ฟักเขียวยักษ์ไต้หวัน

ฟักเขียวยักษ์ไต้หวัน เป็นฟักที่มีผลขนาดใหญ่ ความยาวของผลเฉลี่ย  60 เซนติเมตร ความกว้างของผลประมาณ 15-20  เซนติเมตร น้ำหนักของผลเฉลี่ย 12-15 กิโลกรัม รสชาติหวานกว่าฟักไทย การปลูก สามารถปลูกได้ 2 วิธี คือ ปลูกแบบทำค้างให้ต้นเลื้อยขึ้น และปลูกแบบเลื้อยกับพื้นดิน

การเตรียมดินปลูก ขุดดินตากแดดไว้ ประมาณ 7-10 วัน พรวนดินขึ้นแปลงปลูกและย่อยดินให้ละเอียด ขุดหลุมปลูกให้ลึกประมาณ 1 หน้าจอบ ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก หลุมละ 1 กำมือ คลุกเคล้าให้เข้ากับดิน ระยะปลูกระหว่างต้น ประมาณ 2 เมตร ระหว่างแถว ประมาณ 4-5 เมตร เพื่อให้เถามีพื้นที่เลื้อยทอดยอด จากนั้นให้หยอดเมล็ดฟักลงหลุมปลูกให้ฝังลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตร คลุมด้วยฟางให้ทั่วแปลง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

การให้น้ำ จะให้น้ำสม่ำเสมอ โดยสังเกตจากดินมีความชื้น และเว้นการให้น้ำได้ตามความเหมาะสมของดินฟ้าอากาศ และจะหยุดการให้น้ำเมื่อฟักเขียวเริ่มแก่

ฟักเขียวยักษ์ไต้หวัน

การใส่ปุ๋ย เมื่อฟักเขียวอายุได้ 10 วัน ควรใส่ปุ๋ยเคมีทางดินเร่งการเจริญทางยอดและใบด้วยปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 และอายุได้ 20 วัน ควรใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา หลุมละประมาณ 1 ช้อนแกง หมั่นใส่ปุ๋ยทุกๆ 15 วัน ด้วยสูตร 15-15-15  รดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ เนื่องจากฟักเขียวยักษ์ไต้หวันมีขนาดผลใหญ่ ควรมีการฉีดปุ๋ย ฮอร์โมน และสารป้องกันกำจัดโรค- แมลง ทางใบ ตามความเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น

การเก็บเกี่ยว ฟักเขียวยักษ์ไต้หวัน จะเก็บเกี่ยวได้เมื่อมีอายุประมาณ 85-90 วัน หลังจากเมล็ดงอก หรือพิจารณาเลือกผลที่แก่จัด ผิวผลออกสีขาวนวล ใช้มีดคมๆ ตัดขั้วผลแก่ของฟักเขียว ฟักเขียวยักษ์ไต้หวัน ใช้เพื่อการบริโภคหรือใช้เป็นพันธุ์พืชแปลกประดับตกแต่งสถานที่ได้  สนใจติดต่อ คุณทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ โทรศัพท์. 08-1886-7398

มะเขือกินใบ

มะเขือกินใบ มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า ซาลานุม (Sa-lanum) เป็นพืชกลุ่มเดียวกับ พริก มันฝรั่ง และมะเขือเทศ ซึ่งอยู่ในวงศ์ solanaceae พบทางภาคใต้ของประเทศไทย จัดเป็นพืชล้มลุก อายุข้ามปี ลำต้นเดี่ยว แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับรอบกิ่งก้าน มีขนาดใหญ่ ใบมันและไม่มีขน ส่วนดอกเหมือนกับมะเขือทั่วไป ใบมีอายุยืนยาวถึง 2 ปี มะเขือกินใบปลูกได้ทุกฤดูกาล

วิธีการปลูก นำเมล็ดที่ได้ไปเพาะ โดยผลแก่ 1 ผล จะมีเมล็ดมากกว่า 100 เมล็ด กรณีปลูกในกระถาง ให้เริ่มปลูกจากกระถางเล็กก่อน จากนั้นเปลี่ยนกระถางให้ใหญ่ขึ้นตามขนาดต้น

ดินปลูก ควรผสมปุ๋ยหมักจากเศษพืชหรือฟางข้าวเป็นหลัก ใส่ดินในกระถางไม่ควรพูน มะเขือกินใบชอบที่ร่มรำไร หากปลูกในกระถาง ควรมีหลังคาตาข่ายพรางแสงหรือซาแรน จะปลูกตามโคนต้นไม้ในบ้านหรือสวนก็ได้

อายุประมาณ 2 เดือน จะเริ่มออกดอก ควรเด็ดยอดเมื่ออายุได้เดือนครึ่ง เพื่อให้แตกยอดใหม่หรือเด็ดดอกทิ้งก่อน เพราะวัตถุประสงค์ต้องการกินใบหรือยอด หรือจากนั้นหากต้องการขยายพันธุ์สามารถทิ้งให้เกิดดอกและผลได้

มะเขือกินใบ

การปรุงอาหาร เด็ดจากใบล่างขึ้นบน นำมาปรุงอาหารแทนผักได้ แต่ต้องทำให้สุกก่อน มะเขือกินใบรสชาติ อร่อย ก้านอ่อนนุ่ม กินได้ตั้งแต่ใบอ่อนถึงใบแก่ ยกเว้นแก่จนใบมีสีเหลือง สนใจติดต่อได้ที่ คุณการุณย์ มะโนใจ สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา โทร. (089) 557-2965