เกาะจิก มัลดีฟส์เมืองไทย

ภาพสวยงาม “เกาะจิกรีสอร์ท มัลดีฟส์เมืองไทย” ที่ตั้งอยู่บริเวณเกาะจิกนอก บ้านเลขที่ 90 หมู่ที่ 1 ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ที่นักท่องเที่ยวนำไปเผยแพร่ด้วยการชื่นชมความงามของที่พักในท้องทะเล ที่ประมาณว่าสวยงามเหมือนมัลดีฟส์เมืองไทย ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรุดไปตรวจสอบ พบว่ามีปัญหาผิดกฎหมายปลูกสร้างที่พักบุกรุกทะเลและป่าไม้ ทำให้จังหวัดจันทบุรีต้องปิดประกาศ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 มีคำสั่งรื้อถอนภายใน 90 วัน

หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า จริงๆ แล้ว “หมู่บ้านเกาะจิก” มีความน่าสนใจอย่างคาดไม่ถึง ไม่ว่าประวัติศาสตร์ที่เคยรุ่งเรือง เอกลักษณ์ของหมู่บ้านที่ใช้พลังงานสะอาดโซลาร์เซลล์ทั้งเกาะ และความร่วมมือของชาวบ้านที่ช่วยกันดูแลสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน นอกเหนือจากเสน่ห์ของธรรมชาติชายทะเลสวยงาม บรรยากาศเงียบสงบ อาหารทะเลสดๆ แสนอร่อย

หมู่บ้านเกาะจิก

“เกาะจิก” หมู่บ้านประมง ที่เคยรุ่งเรือง

คุณณรงค์ชัย เหมสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี วัย 59 ปี เล่าว่า เกาะจิกตั้งอยู่ปากแม่น้ำเวฬุ ระหว่างจันทบุรี-ตราด มีพื้นที่ 700 ไร่ มีเพียงหมู่บ้านเดียวคือ หมู่ที่ 1 ตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ประชากร 388 คน 149 หลังคาเรือน

การเดินทาง มานั่งเรือเข้าทางปากแม่น้ำเวฬุที่แบ่งเขตจังหวัดตราด-จันทบุรี เห็นหมู่เกาะจิกมี 3 เกาะ เกาะจิกใน อยู่ในฝั่งหมู่บ้านบางปิด ตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ถัดมาเป็น เกาะจิกกลาง (ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย) และ เกาะจิกนอก อยู่นอกสุด อยู่ในเขตตำบลบางชัน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

ซึ่งเดิมทีหมู่เกาะจิกทั้ง 3 เกาะนี้ เสมือนเป็นหมู่บ้านเดียวกัน แม้ว่าเขตท้องที่การปกครองแบ่งให้เกาะจิกในอยู่เขตอำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด เกาะจิกกลางและเกาะจิกนอกอยู่เขตอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

ท่าเทียบเรือเกาะจิก

ทว่าในการทำมาหากิน วิถีชีวิต ชีวิตประจำวัน และเป็นเครือญาติกันมาครั้งอดีต จึงมีการไปมาหาสู่กันกับฝั่งจังหวัดตราดตลอดมา รวมทั้งอยู่ใกล้ไปมาสะดวก ทุกวันนี้ชาวเกาะจิกนอกยังคงเดินทางไปจับจ่ายซื้อของที่จังหวัดตราด โดยจะไปขึ้นเรือที่ท่าเรืออ่างกระป่อง ตำบลท่าโสม อำเภอเขาสมิง ด้วยเรือหางยาวขนาดเล็ก ใช้เวลา 30 นาที

ถ้าสปีดโบ๊ตประมาณ 10-15 นาที หรือขึ้นที่ท่าเรือบ้านปากคลอง ตำบลบางปิด อำเภอแหลมงอบ ใช้เวลาเพียง 15 นาที แต่ใช้ได้บางฤดูกาลที่ไม่มีลมมรสุมที่คลื่นลมแรงเท่านั้น แต่ถ้าเดินทางไปขึ้นที่อำเภอขลุง ต้องเดินทางมาที่ตำบลบางชัน ใช้เวลา 30 นาที และต้องต่อรถยนต์ไปอีก

ต้นจิก ที่มาของชื่อเกาะ

“เกาะจิก” เรียกชื่อตามที่มีต้นจิกอยู่บนเกาะ อาชีพส่วนใหญ่ทำประมง มีเพียง 5% เท่านั้นที่เป็นสวนยางพารา เดิมชาวจีนจะอพยพมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ มาในช่วงประมาณ 80 ปีที่ผ่านมา กิจการประมงรุ่งเรืองมาก เพราะเป็นแหล่งทำประมงที่อุดมสมบูรณ์ กุ้ง ปู ปลา มีโรงงานปลาป่นตั้งอยู่ถึง 2 แห่ง มีผู้คนอพยพมาทำมาหากิน แรงงานประมงอยู่เป็น1,000 คน

เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เริ่มซบเซาจากปัญหาการควบคุมเครื่องมือทำประมงของภาครัฐ สัตว์น้ำน้อยลง ผู้คนย้ายไปทำงานที่อื่นๆ เหลือไว้แต่คนแก่กับเด็ก ปัจจุบัน มีบ้านอยู่ 149 หลังคาเรือน 80 หลังคา ปิดทิ้งไว้ไม่มีคนอยู่ หนุ่มๆ สาวๆ วัยเจริญพันธุ์ไปหางานทำที่อื่น

ที่นี่บางปีไม่มีเด็กเกิดไปเข้าเรียน จำนวนประชากรจึงไม่เพิ่มขึ้น บางครอบครัวย้ายไปอยู่ตัวเมืองจันทบุรี อำเภอขลุง อำเภอแหลมสิงห์ ที่อยู่ใกล้เคียง ไปหางานทำ หรือมีคนเจ็บป่วย เด็กๆ ไปเรียนต่อ เพราะที่นี่ไม่มีโรงพยาบาล ไม่มีโรงเรียนมัธยม แต่ถึงเทศกาลงานบุญ ทอดกฐิน งานศาลเจ้าแม่เกาะจิก ชาวบ้านเกาะจิกจะรวมตัวกันและกลับมาช่วยกันทำบุญ พบปะญาติๆ ชาวบ้านจะร่วมกันทำอาหารพื้นบ้านมาทำบุญและเลี้ยงกันเป็นที่สนุกสนาน

แหล่งพลังงานสะอาด
ผลิตไฟฟ้า ประปา ด้วยระบบโซลาร์เซลล์

ผู้ใหญ่ณรงค์ชัย เล่าถึง ที่มาของการนำระบบโซลาร์เซลล์พลังงานสะอาดมาใช้ในพื้นที่เกาะจิกทั้งหมดทุกวันนี้ว่า สืบเนื่องจาก ปี 2545 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานกระทรวงพลังงาน (สนพ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้ดำเนินการ

มีโครงการนำร่องใช้พลังงานแสงอาทิตย์พลังงานทดแทนผสมผสานกับเครื่องปั่นไฟในเกาะจิกที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เมื่อปี 2545 โดยเริ่มทดลองจ่ายไฟเมื่อเดือนกันยายน ปี 2547 อัตราค่าไฟเริ่มต้นที่ 12 บาท ต่อยูนิต

ตอนแรกยังใช้ผสมกับเครื่องปั่นไฟฟ้าอยู่ ต่อมามีการจัดตั้งสำนักงานไฟฟ้าพลังงานทดแทนบ้านเกาะจิก (Energy service company หรือ ESCO KOHJIK) เพื่อบริหารจัดการโรงไฟฟ้า ภายใต้คณะกรรมการไฟฟ้าหมู่บ้าน ที่มีแนวทางพัฒนาให้เกาะจิกเป็นเกาะสีเขียว จึงได้พยายามนำพลังงานโซลาร์เซลล์มาผลิตกระแสไฟฟ้า 100% และนำมาใช้กับระบบประปามาบริหารจัดการด้วยระบบโซล่าร์เซลล์เข้าด้วยกัน จนกระทั่งทุกวันนี้เกาะจิกสามารถใช้ไฟฟ้าและระบบประปาได้ทุกครัวเรือนจากพลังงานทดแทนโซล่าร์เซลล์

โซลาร์เซลล์
โซลาร์เซลล์ ปั๊มน้ำ

“ในหมู่บ้านจะใช้น้ำจากบ่อน้ำธรรมชาติ 3 บ่อ บ่อลึก 8 เมตร เป็นน้ำจากหินซับ สะอาดด้วยธรรมชาติ จะใช้เครื่องปั๊มใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ปั๊มน้ำขึ้นไปเก็บที่ถังเก็บน้ำบนเนินเขา และปล่อยลงมาเป็นประปาให้ชาวบ้านได้ใช้ โดยเสียค่าน้ำ ยูนิตละ 15 บาท (บนฝั่ง 12 บาท) ส่วนไฟฟ้าใช้แผงโซล่าร์เซลล์ จัดเก็บพลังงานไฟฟ้าได้ วันละ 50 กิโลวัตต์ สะสมไว้ในแบตเตอรี่และปล่อยเป็นกระแสไฟฟ้าให้ชาวบ้านเกาะจิกได้ใช้ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าน้ำมันดีเซลปั่นไฟ เดือนละ 2,000-3,000 บาท อีกต่อไป แต่อัตราค่าไฟ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่ใช้ไฟไม่จำกัด เสียค่าไฟ หน่วยละ 60 บาท

2. กลุ่มที่เหมาจ่าย เดือนละ 30 หน่วย เสียค่าไฟ หน่วยละ 23 บาท

3. กลุ่มเหมาจ่ายเดือนละ 60 หน่วย เสียค่าไฟ หน่วยละ 13 บาท เปรียบเทียบกับบนฝั่งแพงกว่า หน่วยละ 3-4 บาท เพราะเราต้องมีค่าบริหารจัดการ จ้างพนักงาน

โซลาร์เซลล์ ในบ้านผู้ใหญ่ณรงค์ชัย เหมสุวรรณ
บ่อน้ำใต้ดินทำระบบประปา

ส่วนระบบการจัดการขยะ เรามีระบบบริหารจัดการขยะที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เพราะจะมีการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ขยะที่ขายได้ ส่วนที่ต้องทำลายจะฝังกลบ ถ้าเป็นของสดจะใช้น้ำอีเอ็มราดเพื่อทำปุ๋ยนำไปใช้ต่อ ฉะนั้น บนเกาะจิกจะมีทั้งพลังงานสะอาดและปราศจากมลภาวะ เป็นหมู่บ้านปลอดขยะเป็นเกาะสีเขียว เราจึงตั้งเป้าพัฒนาหมู่บ้าน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” ผู้ใหญ่ณรงค์ชัย กล่าว

“ในหมู่บ้านจะมีคณะกรรมการบริหารหมู่บ้านดูแลทั้งเรื่องพลังงานไฟฟ้าและการจัดการสิ่งแวดล้อม ดูแลการกำจัดขยะ มีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต การจัดการเงินทุนชุมชน การทำงานชุมชนจะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ซึ่งเรื่องที่สำคัญๆ ต้องมีการทำประชาคมหมู่บ้าน เพื่อให้ได้รับการยอมรับ จึงสามารถดำเนินการได้ ซึ่งที่ผ่านมาเรารวบรวมปัญหาต่างๆ และแนวทางการพัฒนาเป็นเกาะสีเขียว จึงได้ออกประกาศธรรมนูญหมู่บ้านเกาะจิก เมื่อปี 2555 ข้อตกลงเรื่องการนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ขึ้นมาบนเกาะ ที่นี่ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวขี่จักรยานท่องเที่ยวรอบๆ เกาะโดยมีจักรยานเช่า จำนวน 25 คัน” ผู้ใหญ่ณรงค์ชัย กล่าว

ท่องเที่ยววิถีชุมชน พักโฮมสเตย์

ผู้ใหญ่ณรงค์ชัย เล่าต่อว่า จากสภาพเกาะจิกยุครุ่งเรืองจากการทำประมง ระยะเวลากว่า 30 ปี ช่วงปี 2502-2549 การใช้เครื่องมือทำการประมงที่เป็นการทำลายสัตว์น้ำ สัตว์น้ำเหลือน้อยลงและทางรัฐบาลมีมาตรการควบคุมการทำประมง เครื่องมือประมง ทำให้อาชีพประมงไม่ใช่อาชีพที่สร้างรายได้จำนวนมากอีกต่อไป

ชาวประมงรายใหญ่ๆ รวมทั้งชาวบ้านมีการปรับตัวจากที่เคยทำอวนลาก อวนครอบ ทำโป๊ะ เหลือเพียงชาวบ้านรายเล็กๆ หันมาทำประมงพื้นบ้าน ทำลอบปลาหมึก อวนลอย ผู้คนเริ่มอพยพไปทำมาหากินที่อื่น เหลือคนแก่และเด็กๆ ไว้ หรือปิดบ้านทิ้งไว้ จึงพยายามเรียกความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลคืนมา โดยประกาศเขตอนุรักษ์ชายฝั่ง ระยะ 5,400 เมตร การสร้างปะการังเทียม ใช้เวลาอยู่ 4-5 ปี และส่งเสริมการทำประมงพื้นบ้าน ลอบปู ลอบปลาหมึก ลอบปลา เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้และไม่ต้องอพยพไปทำมาหากินที่อื่น สร้างครอบครัวให้อบอุ่น

กุ้งเหยียด
ปลาหมึกแห้ง อาหารสินค้าทะเลที่ขายให้นักท่องเที่ยว

ช่วงปี 2550 ทางอำเภอขลุงสนับสนุนให้ทำท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ แต่ยังไม่ได้เริ่มอะไรมาก จนกระทั่ง ปี 2553 จึงเริ่มทำท่องเที่ยวเชิงนิเวศและทำที่พักบริการแบบโฮมสเตย์ เนื่องจากมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำ และมีแหล่งท่องเที่ยว ศูนย์เรียนรู้พลังงานโซลาร์เซลล์ และวิถีชาวบ้านแบบเงียบสงบบนเกาะเล็กๆ จึงเริ่มพัฒนาด้านท่องเที่ยว มีชาวบ้านที่ทำโฮมสเตย์ 4-5 แห่ง และล่าสุดมีการพัฒนาหมู่บ้าน โอท็อป นวัตวิถี ทำให้เกาะจิกได้ประชาสัมพันธ์ได้กว้างขวางและมีการส่งเสริมทำอาหารแปรรูป ของที่ระลึก ทำให้มีนักท่องเที่ยวสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น

“ช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเริ่มรู้จักเกาะจิกและมาเที่ยวกัน แต่ยังไม่มากนัก แต่ 3 ปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปี 2559 มีประมาณ 2,400 คน ปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 คน และคาดว่าปี 2561 เพิ่มขึ้นประมาณ 4,800 คน คือเพิ่มขึ้นถึง 63% โฮมสเตย์บางแห่งคิวจองยาวนานหลายเดือน โฮมสเตย์ที่นี่เป็นของชาวบ้านดำเนินการ จึงช่วยกระจายรายได้ให้ชุมชน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมมาทานอาหารทะเลสดๆ นั่งเรือไปชมตกปลาหมึก ตกปลา พายเรือคยัค ขี่จักรยาน หรือไปเที่ยวชมทะเลแหวก หมู่บ้านไร้แผ่นดินที่บ้านบางชันที่อยู่ห่างไป ใช้เวลาเดินทางทางเรือ 30 นาที หรือบางกลุ่มทำกิจกรรมปลูกปะการัง” ผู้ใหญ่ณรงค์ชัย กล่าว

แหล่งท่องเที่ยวบนเกาะจิก

เช็กอินบนเกาะจิก 5 แห่ง
ท่องเที่ยวเดินรอบเกาะวันเดียว

คุณอนุชา มะโนระสา เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญการ รพ.สต. บ้านเกาะจิก วัย 40 ปี ชาวอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หมอแดร์” เล่าว่า เกาะจิกเริ่มมีคนมาท่องเที่ยว 4-5 ปีมานี้เอง และปี 2561 เริ่มเห็นนักท่องเที่ยวเดินทางมามากขึ้น พื้นที่เกาะจิกมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติแท้ๆ ซึ่งหมู่บ้านได้กำหนดแหล่งท่องเที่ยวและมีเส้นทางเชื่อมโยง สามารถเดินทางเชื่อมถึงกันได้ทั้งหมดภายในเวลา 4 ชั่วโมง แบบสบายๆ ไม่เร่งรีบ เริ่มจากทางด้านทิศใต้ของเกาะที่เป็นท่าเทียบเรือ

เจ้าแม่เกาะจิก ที่ชาวบ้านนับถือ

จุดที่ 1 ศาลเจ้าแม่เกาะจิก ศาลเจ้าพ่อมังกรทอง โดยเฉพาะศาลเจ้าแม่เกาะจิก สร้างมากว่า 200 ปี ชาวบ้านนับถือกันทั้งหมู่บ้าน นิยมมากราบไหว้ขอพรกัน ตามเส้นทางจะเดินผ่านต้นจิกต้นแรกอายุเกือบ 100 ปี ที่มาของชื่อเกาะจิก

ประภาคาร จุดชมวิว

จุดที่ 2 ประภาคารจุดชมวิว อยู่ห่างจากศาลเจ้าแม่เกาะจิก ไม่มากนัก ในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยเป็นที่สังเกตการณ์ของทหาร มองเห็นชายหาดสวยงาม โขดหิน น้ำทะเลใสสีเขียวมรกตอยู่ด้านล่าง

จุดที่ 3 หาดทรายหอยแตก เป็นการทับถมของเปลือกหอยที่ถูกคลื่นทะเลพัดพาจนแตกกระจายกองทับถมเป็นหาดทรายเรียบเนียนสวยงาม

ลานหอย

จุดที่ 4 ชายหาดเล่นน้ำด้านทิศตะวันออกที่เงียบสงบ และ

จุดที่ 5 โรงผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ชุมชน ที่มีกำลังการผลิต 50 กิโลวัตต์ สามารถใช้ได้ทั้งหมู่บ้านและเหลือสะสมไว้ในแบตเตอรี่

กิจกรรมนักท่องเที่ยว

“หมู่บ้านเกาะจิก เป็นหมู่บ้านเล็กๆ เงียบสงบ ชาวบ้านอยู่กับธรรมชาติ ไร้มลภาวะ การท่องเที่ยวจะใช้การเดินเท้า และขี่จักรยาน ไม่ให้ใช้มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ ส่วนไฟฟ้า น้ำประปาจากบ่อ ใช้ระบบโซล่าร์เซลล์ทั้งหมด ขยะมีการคัดแยก กำจัดหรือขาย ตอนนี้ได้ช่วยโรงเรียนฝึกเด็กๆ ที่โรงเรียนเกาะจิก 3 คน ให้เป็นไกด์พานักท่องเที่ยวไปเที่ยวตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ ที่นี่ไม่มีรีสอร์ตหรู มีแต่โฮมสเตย์ 4-5 แห่ง ส่วนกิจกรรมท่องเที่ยว มีนั่งเรือชมเหยี่ยวแดง พายเรือคยัค ลงเรือตกปลา เล่นน้ำ ไดปลาหมึกกับชาวประมง หรือนั่งเรือไปชมทะเลแหวกที่บางชัน ที่อยู่ไม่ไกลกันหรืออาจจะทำกิจกรรมเชิงอนุรักษ์สร้างปะการังด้วยเชือก” หมอแดร์ เล่าถึงกิจกรรมท่องเที่ยวบนเกาะจิก
สนใจสัมผัสเสน่ห์ของหมู่บ้านเกาะจิก เรียนรู้พลังงานสะอาด “โซลาร์เซลล์” สอบถามรายละเอียด เส้นทาง ที่พัก ผู้ใหญ่ณรงค์ชัย เหมสุวรรณ โทร. 081-995-3533

ธรรมนูญหมู่บ้านเกาะจิก ประกาศ ปี 2555

ผู้ใหญ่ณรงค์ชัย เหมสุวรรณ เล่าถึงที่มาของธรรมนูญหมู่บ้านเกาะจิกว่า ช่วงปี 2542-2547 ได้เข้ามาเป็นผู้ใหญ่ครั้งแรกเริ่มมีปัญหาเรื่องยาเสพติด เนื่องจากมีแรงงานเข้ามาจำนวนมาก ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย พอได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน สมัยที่ 2 ปี 2552 เริ่มมีปัญหาสะสมเพิ่มขึ้นจากแนวทางการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทั้งปัญหารุกล้ำที่สาธารณะ ปัญหามลภาวะ จึงได้อบรมเกี่ยวกับปัญหาและประชุมประชาคมหมู่บ้าน กำหนด “ธรรมนูญหมู่บ้านเกาะจิก” ตั้งแต่ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2555 3 ข้อ ดังนี้

1. เรื่องยาเสพติด
1.1 ห้ามบุคคลใดในหมู่บ้านยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ว่าจะในฐานะผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้เสพ หรือผู้สนับสนุน
1.2 ขอธงปลอดยาเสพติด ตัดสิทธิเงินกองทุน และสวัสดิการทุกๆ กองทุนในหมู่บ้าน 1.3 ห้ามนักท่องเที่ยวนำยาเสพติดเข้ามาในหมู่บ้าน
2. เรื่องที่สาธารณะในหมู่บ้าน 2.1 ห้ามคนนอกหมู่บ้านบุกรุกที่สาธารณะ
3. เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.1 ห้ามมิให้ผู้ใดเก็บหิน และเปลือกหอย เพื่อนำออกนอกหมู่บ้านโดยเด็ดขาด 3.2 ห้ามทิ้งขยะลงทะเล โดยเฉพาะจำพวกพลาสติก 3.3 ห้ามรถจักรยานยนต์วิ่งในหมู่บ้าน 3.4 ห้ามจับปูไข่ หรือนำออกจากแหล่งที่อยู่อาศัย, ห้ามล่า หรือยิงนกทุกชนิด (ยกเว้นกรณีเกิดโรคติดต่อ)
3.5 ห้ามตัดต้นเทียนทะเล หากพบจับแจ้งความดำเนินคดีทันที
หากมีการฝ่าฝืน จะนำมาแจ้งในที่ประชุมประชาคมหมู่บ้านให้ทราบโดยทั่วกัน

ธรรมนูญบ้านเกาะจิก

“ชาวบ้าน 95% ยอมรับปฏิบัติตามธรรมนูญ สำหรับเรื่องการรุกล้ำลำน้ำ ชาวบ้านที่เกาะจิกมีปัญหาทุกหลังคาเรือน แต่เมื่อ ปี 2560 หน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาจัดระเบียบเรียบร้อยแล้ว ส่วนการบุกรุกของกลุ่มผู้ลงทุนที่เป็นข่าวใหญ่เคยมีการแจ้งเตือนครั้งหนึ่ง ปี 2555 ส่วนในรายละเอียดธรรมนูญนั้นมีเพิ่มเติมเรื่องเขตอนุรักษ์ของหมู่บ้าน ด้านตะวันออกระยะห่างฝั่ง 200 เมตร พื้นที่ประมาณ 15 ไร่ เพราะแหล่งหอยจอบ หอยมือเสือที่หายาก และมีข้อผ่อนปรนในเรื่องของการนำรถพ่วงมอเตอร์ (รถซาเล้ง) มาใช้ขนปุ๋ย บรรทุกของในพื้นที่สวนที่อยู่บนเนินเขา การบริหารจะพยายามให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมมากที่สุด เช่น การเช่าจักรยาน ชาวบ้านสามารถนำเข้าร่วมโครงการให้บริการนักท่องเที่ยวและได้ส่วนแบ่งค่าเช่าด้วย” ผู้ใหญ่ณรงค์ชัย กล่าว

………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ.2562


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354