เส้นทางสำเร็จ “แฮปปี้ไลฟ์ฟาร์ม” ชูเห็ดอินทรีย์พร้อมแปรรูป

ในบรรดาวิสาหกิจชุมชนที่เพาะเห็ดอินทรีย์แบบจริงจังนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร ตำบลสระพัฒนา อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ที่มี คุณธณัส รัตนแสงศรี นั่งเก้าอี้ประธาน เป็นอีกแห่งที่ประสบความสำเร็จ ปัจจัยสำคัญคือ ทำครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการแรก กระทั่งแปรรูป ใส่ซอง ฉีก ลูกค้าหยิบรับประทานได้ทันที แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

คุณธณัส รัตนแสงศรี

วิสาหกิจชุมชนดังกล่าว หรือที่ทุกคนรู้จักกันในแบรนด์ “แฮปปี้ไลฟ์ฟาร์ม” (Happy life farm) ผู้ผลิตเห็ดหลินจือและเห็ดแปรรูปหลากหลายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งพืชผักผลไม้นานาชนิด โดยสินค้าเหล่านี้นอกจากจะมีเครื่องหมาย “อย.” และ GMP แล้ว ยังผ่านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ “ไอฟอม” (International Federation of Organic Agriculture Movements-IFOAM) ด้วย

เรียนรู้วิธีการทำก้อนเห็ด

คุณธณัส รัตนแสงศรีเองไม่ได้จบด้านเกษตรแต่อย่างใด โดยเรียนระดับปริญญาตรี-โท จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สาขาการตลาดและสาขาคอมพิวเตอร์ ทว่าสนใจงานเกษตรและศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองส่วนหนึ่ง และมี คุณกมลวัน จันทร์พะยอม เป็นรองประธานกลุ่ม ซึ่งทำหน้าที่ด้านการตลาดอย่างขะมักเขม้น ในกลุ่มมีสมาชิก 12 คน

ผลผลิตของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปฯ ตำบลสระพัฒนา

เขาเล่าที่มาที่ไปให้ฟังว่า ก่อนจะมาเพาะเห็ด เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงกบ เลี้ยงปลาก่อน แต่ก็ขาดทุน ทำมาได้ปีเดียว เพราะดูแลไม่ทั่วถึง อีกอย่างรู้สึกบาปและไม่สบายใจด้วย จึงตัดสินใจไม่ไปต่อดีกว่า พร้อมมองหางานเกษตรที่ใช้น้ำน้อย เลยนึกถึงเห็ดขึ้นมา และเริ่มเพาะเห็ดเมื่อปี 2545 เพราะมีที่ดินอยู่บริเวณโรงเรียนการบิน กำแพงแสนประมาณ 10 ไร่ อย่างไรก็ตาม ยังทำงานประจำที่สายการบินแห่งหนึ่งจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ก่อนจะเพาะเห็ดเป็นเรื่องเป็นราว เจ้าตัวได้ไปศึกษาอบรมเรื่องนี้ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน แล้วนำความรู้มาเริ่มเพาะเห็ดง่ายๆอย่างพวกเห็ดนางรม นางฟ้า ใช้วิธีซื้อก้อนมาเปิดเอง ต่อมาทำเห็ดหลินจือด้วย เพราะมองว่าเป็นยา ซึ่งช่วงแรกในการซื้อก้อนเห็ดมานั้นก็ไม่รู้ว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง แต่ในการเลี้ยง ไม่ได้ฉีดยาฆ่าแมลงอะไรเลย ใช้แต่น้ำส้มควันไม้ และน้ำสะเดา พร้อมทำโรงเรือนให้สะอาด

เริ่มต้นจาก 1 โรงเรือน ก็เพิ่มเป็น 2 โรงเรือน ปัจจุบัน มีทั้งหมด 9 โรงเรือน โดยเริ่มทำก้อนเห็ดด้วย

“เริ่มจากเก็บเชื้อพ่อแม่พันธุ์มาลงวุ้น PDA จากวุ้น PDA ก็นำไปลงข้าวฟ่าง แล้วใช้ข้าวฟ่างนั้นไปหยอดในถุงเชื้อก้อนเห็ด ทำครบวงจรทั้งการผลิตและแปรรูปด้วย”

ผักจิงจูฉ่าย

แปรรูปหลากหลายเพิ่มมูลค่า

ประธานวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร ตำบลสระพัฒนา ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้หลักๆ เพาะเห็ดแค่ 3-4 ชนิดคือ เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดหลินจือ เห็ดหูหนู เห็ดยานางิ โดยสลับๆ กันไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะเน้นแปรรูป ไม่ค่อยจำหน่ายสด เนื่องจากราคาไม่แน่นอน มีขึ้นๆ ลงๆ อีกอย่างขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ บางครั้งถ้าอากาศเอื้ออำนวยเวลาฝนตกจะออกเยอะมาก เป็นร้อยๆ กิโลกรัมเลย โดยเฉพาะเห็ดนางรม นางฟ้า

สำหรับผลิตภัณฑ์ของ Happy life farm มีน้ำเห็ดหลินจือ หลินจือผงชงพร้อมดื่ม และมีบางส่วนนำไปสกัดทำยา ส่วนพวกเห็ดนางรม นางฟ้า ทำเป็นเห็ดสวรรค์ แต่ถ้าเป็นยานางิทำเป็นข้าวเกรียบ โดยมีกำลังผลิตเดือนละประมาณ 200 ลัง ในส่วนของการตลาดนั้น เน้นการรับจ้างผลิต มีแบรนด์ต่างๆ มาจ้างผลิตเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพวกข้าวเกรียบที่ใช้เห็ดนางรม นางฟ้า ถ้าเป็นเห็ดหลินจือจะทำเป็นน้ำพร้อมดื่ม

สินค้าของแบรนด์ Happy life farm และแบรนด์ต่างๆ ที่มาจ้างผลิต มีวางขายที่ ร้านพลังบุญ เลมอนฟาร์ม และในฟู้ดแลนด์

เห็ดหลินจือ

ในพื้นที่ 10 ไร่ นั้น นอกจากจะมีโรงเรือนเพาะเห็ดชนิดต่างๆ แล้ว ยังมีโรงเรือนที่แปรรูปด้วย ซึ่งจะแบ่งเป็นสัดส่วน อย่างเช่น โรงเรือนแปรรูปพวกน้ำ โรงเรือนแปรรูปพวกทอดและพวกทำสแน็ก

ในการทำเห็ดอินทรีย์นั้น คุณธณัส แจกแจงว่า เริ่มตั้งแต่ส่วนผสมเลยจะไม่มีสารเคมีมาเจือปน ซึ่งทั่วไปจะใช้ดีเกลือตอนทำก้อนเพื่อให้เชื้อเดินเร็ว เพราะมีแมกนีเซียม รากใยเห็ดจะเดินเร็ว แต่ทางกลุ่มเปลี่ยนเป็นโดโลไมท์ เพราะโดโลไมท์มีทั้งแคลเซียมและแมกนีเซียม สามารถใช้แทนกันได้ อีกอย่างหนึ่งที่ใช้กันทั่วไปตอนทำก้อนคือ ฟูราดานผสมเข้าไปด้วย เพื่อป้องกันไร เนื่องจากเห็ดบางชนิดอย่าง เห็ดหูหนู ไรชอบมาก แต่ทางกลุ่มไม่ใช้สารพวกนี้เลย แต่ใช้วิธีทำโรงเรือนให้สะอาด ซึ่งเป็นโรงเรือนที่เปิด ขณะที่โรงเรือนพักก้อนต้องมีระบบอีแว็ป (EVAP) เพื่อควบคุมอุณหภูมิ เป็นการป้องกันไม่ให้ผีเสื้อกลางคืนมาไข่

เทคนิคเพาะเห็ดหลินจือ

คุณธณัส อธิบายถึงเทคนิคการเพาะเห็ดแต่ละชนิดว่า หลักๆ หัวใจจริงๆ คือ ก้อนเห็ดต้องนึ่งให้สุก แบบสุกจนหอม กลิ่นเหมือนโอวัลติน และเชื้อที่มาใส่ต้องแข็งแรง ถ้าก้อนสุกเชื้อแข็งแรงแล้ว ส่วนใหญ่เห็ดจะออกดี นอกนั้นคือ เรื่องนิสัยของเห็ดแต่ละตัว อย่างเช่น เห็ดหลินจือ ตอนเวลาเปิดดอก กำลังฟอร์มดอก กำลังจะบานช่วงนี้ต้องการความชื้นที่สูงมากๆ ถ้าให้ความชื้นที่สูงในช่วงนั้น จะได้ดอกที่บานและใหญ่ บานสวยและใหญ่ แต่พอเลยช่วงนั้นแล้ว ความชื้นไม่ต้องการแล้ว ไม่ต้องไปให้ความชื้นสูง เพราะจะเป็นรา และเขียว

คุณธณัส ระบุว่า ในการทำก้อนเชื้อเห็ดหลินจือนั้น ต้องอัดก้อนด้วยการกระแทกจนแน่นใส่คอขวดพลาสติกรัดยาง อุดด้วยสำลี แล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อทิ้งไว้ให้เย็น จากนั้นเขี่ยเชื้อเห็ดฆ่าเชื้อด้วยความร้อน โดยดึงจุกสำลีลนปากขวดหัวเชื้อด้วยเปลวไฟ เทหัวเชื้อลงในถุงอาหาร ประมาณ ถุงละ 20-30 เมล็ดข้าวฟ่าง ปิดที่ครอบคอขวดไว้ตามเดิม

ทั้งนี้ การหยอดหัวเชื้อต้องทำในที่สะอาดและไม่มีลมพัดผ่าน การบ่มก้อนเชื้อเห็ด นำก้อนเชื้อเห็ดวางบนชั้น ในแนวตั้งหรือแนวนอนก็ได้ รอจนเส้นใยเจริญเต็มถุง ใช้เวลา 1 เดือน หรือเดือนครึ่ง ซึ่งการดูแลต้องใช้ความเอาใจใส่มาก เพราะเห็ดหลินจือชอบชื้น แต่ไม่ต้องการโดนลมโดยตรง อากาศโปร่งสบาย หลังจากเปิดดอกได้ 30 วัน ดอกเห็ดจะเริ่มโตเต็มที่เตรียมออกสปอร์

ผลผลิตเห็ดหลินจือ 1,000 ก้อน จะเก็บดอกเห็ดได้ 10 กิโลกรัม จำนวน 10,000 ก้อน จะเก็บดอกเห็ดได้ 100 กิโลกรัม ระยะเวลาเก็บดอกเห็ดหลังจากเปิดดอก 45 วันแรก จะเก็บชุดแรกได้ เมื่อเก็บดอกไป รอ 15 วัน ดอกชุดที่ 2 จะทยอยเกิดขึ้นมา การเก็บดอกจะเก็บแค่ 2 ชุด เท่านั้น เพราะจะไม่คุ้มค่า ยกตัวอย่างเช่น ชุดแรกเก็บได้ 100 กิโลกรัม ชุดที่ 2 เหลือเพียง 50 กิโลกรัม เป็นต้น ราคาดอกเห็ดหลินจือคุณภาพกิโลกรัมละ 2,000 บาท

ในเรื่องการให้ความชื้นสูง ประธานวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร ตำบลสระพัฒนา แนะนำว่า ต้องรดน้ำบ่อยๆ หรือถ้ามีไทม์เมอร์ก็ตั้งเวลา เครื่องวัดความชื้นอะไรแบบนี้ ตั้งไว้สัก 80 จะทำงานบ่อยแบบให้สั้นๆ อย่างนี้เห็ดชอบ เห็ดไม่ชอบที่ว่าทำนานๆ ซึ่งไม่มีประโยชน์ เปลืองน้ำเปลืองไฟมากกว่า

ส่วนเห็ดนางฟ้า ไม่มีเคล็ดลับอะไรเลย เพราะเห็ดตัวนี้ชอบความชื้นตอนออกดอกเหมือนกัน แต่เคล็ดลับจริงๆ คือ ต้องหยุดน้ำ ต้องรดน้ำ แบบต้องแกล้งบ้าง สมมติว่าเห็ดออกสักชุดสองชุดมาแล้ว ควรจะงดน้ำให้แห้งเลย ให้ร้อนให้แห้ง อยู่สัก 7-10 วัน อย่าใจอ่อน พอ 7-10 วัน ผ่านไปแล้ว รดน้ำเลย ให้ชื้น แต่อย่าให้เข้าหน้าก้อน เห็ดจะออกพรึ่บมาอีกครั้งหนึ่ง เห็ดพวกนางรมนางฟ้าชอบความผันผวนอากาศสูง ถ้าร้อนๆ และมีฝนตกแบบนี้เห็ดชอบที่สุดเลย

ขณะที่เห็ดหูหนูที่ฟาร์มนี้อาจทำไม่ค่อยคุ้ม เพราะว่าตัวไรเยอะ เก็บได้ดอกสองดอกเลยขนทิ้งหมด ที่ฟาร์มจะเด่นในเรื่องเห็ดหลินจือ เพราะนำมาแปรรูปเป็นน้ำเห็ดออร์แกนิก

แนะรายใหม่ ควรเริ่มจากเห็ดตลาด

เขาให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากจะเริ่มเพาะเห็ดว่า อยากให้เริ่มทำเห็ดตลาดที่สามารถขายได้ง่ายๆ ก่อน อย่างเช่น เห็ดนางรม นางฟ้า ขอเห็ดพื้นฐานก่อน ซึ่งเป็นเห็ดคนละชนิดกัน โดยเห็ดนางรมฮังการี ดอกสีขาวๆ  ส่วนเห็ดนางฟ้าภูฏาน ดอกสีดำ เห็ดนางรมฮังการีเพาะง่ายกว่า แต่รสชาติสู้นางฟ้าภูฏานไม่ได้ เห็ดนางฟ้าภูฏานดอกดำ ถ้าไปวางคู่กัน นางฟ้าภูฏานจะขายหมดก่อน ถ้าเพาะใหม่ๆ อยากให้ดูที่ตลาดก่อนดีกว่า ตลาดอยู่ตรงไหน ขายอะไรได้แค่ไหน ดูกำลังตัวเองด้วย

ถ้าวันหนึ่งเห็ดออก 50-60 กิโลกรัม แบบนี้ ไปขายที่ไหน ไกลตลาดไหม คุ้มค่ารถไหม จากนี่ถ้าขับไปตลาดค้าส่งอยู่ไหน แต่ถ้าทำวันหนึ่งออก 10-20 กิโลกรัม ขายตลาดนัดได้ แบ่งใส่ถุงขาย ถุงละ 20 บาท ได้กิโลกรัมละ 150-160 บาท แบบนี้ ดูตลาดก่อน ส่วนเรื่องความรู้ ไม่ยาก เดี๋ยวนี้ฟาร์มเห็ดเยอะ และหาข้อมูลง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก

ในการเพาะเห็ดสายพันธุ์ต่างๆ นั้น คุณธณัส บอกว่า ปัญหาที่เจอะเจอมักเป็นเรื่องก้อนเสีย เพราะเป็นราเขียว เวลาเปิดดอกแล้วเป็นราเขียว บางครั้งเสียเป็นหมื่นๆ ก้อน โดยเฉพาะเห็ดหลินจือ ปัญหาสำคัญคือ เป็นราเขียว ซึ่งใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะรู้ว่าเป็นราเขียว ส่วนมากราเขียวจะอยู่ในก้อนอยู่แล้ว เนื่องจากใช้จุกประหยัด ทำให้แฉะอยู่ในนั้น ตอนหลังแก้ปัญหาด้วยการใช้สำลีอุดไปเลย เพราะสำลีก็ไม่แพง กระสอบละ 100 กว่าบาท

กว่า 10 ปี ในการทำธุรกิจของกลุ่ม คุณธณัส บอกว่า ทุกวันนี้ค่อนข้างมั่นคง และสามารถขายได้ทั้งเห็ดสดและเห็ดแห้ง และยังแปรรูปได้ด้วย ซึ่งต่อไปวางแผนในส่วนของการแปรรูปและส่งออกมากกว่า เป็นพวกสแน็กเห็ดและสแน็กผัก หรืออาจจะใช้เทคโนโลยีทอดแบบไม่มีน้ำมัน ที่เรียกว่า Freeze dried สะบัดน้ำมันออกไป เป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้า เพราะมีคนสนใจจะส่งสแน็กเหล่านี้ไปที่ฮ่องกง

นอกจากจะเพาะเห็ดและแปรรูปแล้ว ทางกลุ่มยังปลูกผักหลายชนิดด้วย อาทิ ตำลึงหวาน หรือ อ่อมแซบ เพื่อทำเป็นสแน็กผัก ส่งให้กับทางโรงแรมสามพราน และยังปลูกจิงจูฉ่าย พร้อมกันนั้นได้ส่งเห็ดนางฟ้าภูฏานแห้งให้โรงแรมสามพรานด้วย

ขยายธุรกิจ Freeze dried ผักผลไม้

ถามถึงเงินทุนในการทำธุรกิจได้คืนหรือยัง คุณธณัส รีบตอบทันทีว่า ยังไม่ได้คืน เพราะเป็นการลงทุนก้อนโต โรงเรือนแปรรูป 3 โรง ตก 1 ล้านบาท อีกทั้งยังมีเครื่องมืออุปกรณ์อีก แต่ละตัวราคาหลักแสนขึ้น บางตัวอย่างเครื่อง Freeze dried ราคา 2 ล้านกว่าบาทก็มี และยังมีค่าบำรุงรักษาอีก ซึ่งทางกลุ่มซื้อมาเพื่อทำพวกกล้วยหอม พวกพลับ และผลไม้ ส่งขายให้กับทางโรงแรมสามพรานฯ

เครื่อง Freeze dried นี้ คุณธณัส ขยายความให้ฟังว่า ขั้นตอนการทำ Freeze dried คือ นำไปแช่แข็ง แล้วไปดึงน้ำออกให้หมด ใช้กระบวนการระเหยของแข็งให้กลายเป็นไอ อย่าง กล้วยหอม รูปร่างหน้าตาจะเหมือนสดๆ แต่อยู่ในรูปที่ว่าเก็บใส่ซองได้เป็นเดือนแล้ว พอหยิบมารับประทาน รสชาติก็เหมือนเดิม กรอบด้วย อร่อยด้วย สาเหตุที่กรอบ เพราะดึงน้ำออกไปหมด เป็นการ freeze และตามด้วย dried ในส่วนของเห็ดไม่ต้อง Freeze dried แค่อบแห้ง แล้วนำมาทำข้าวเกรียบหรือทำเป็นสแน็กเห็ด

กรณีผู้ประกอบการหรือเกษตรกรรายใหม่จำนวนไม่น้อย เมื่อหันมาทำเพาะเห็ดขายมักไปไม่รอด ประเด็นนี้คุณธณัสมองว่า ที่เจ๊งอาจเป็นเพราะลงทุนมากเกินไป อย่างตนเองมีทั้งงานประจำ จะลงทุนอย่างไรก็ได้ เนื่องจากมีรายได้ประจำมาลงทุนในช่วงแรก เพราะฉะนั้นถ้าใครจะลาออกจากงานประจำมาทำเกษตร เงินต้องเยอะจริงๆ ไม่เช่นนั้นอันตรายเกินไป อย่างตนทำมาได้ 17 ปี เพราะตัวเองทำงานประจำด้วย ยังไม่ได้ลาออก เมื่อเจอภาวะขาดทุน ก็ยังใช้เงินเดือนมาช่วยตรงนี้ได้ ช่วยดึงมาได้ยาวจนมั่นคงระดับหนึ่ง ถ้าไม่มีเงินทุนสำรองล้มไปแต่แรกแล้ว อีกอย่างที่สำคัญคือ มีการแปรรูปทำให้มูลค่าเพิ่ม อย่างเห็ดสด ขายได้ 80 บาท แปรรูปขายได้กิโลกรัมละ 800 บาท โดยเพิ่มเป็น 10 เท่า

นับเป็นวิสาหกิจชุมชนที่เพาะเห็ดอีกกลุ่มที่เน้นอินทรีย์ ซึ่งมีตลาดรองรับอยู่ชัดเจน อีกทั้งยังขยายธุรกิจไปยังพืชผักผลไม้ต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในวงกว้าง เพราะนับวันจำนวนผู้คนที่นิยมบริโภคสินค้าอินทรีย์มีมากขึ้นเรื่อยๆ