กระบี่หนุนปลูก “องุ่น 4 สายพันธุ์” พืช ศก.ตัวใหม่สร้างรายได้เกษตรกร

คนส่วนใหญ่รู้จัก “จังหวัดกระบี่” ในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่มีธรรมชาติทางทะเลที่สวยสดงดงาม มีอาหารทะเลสด ๆ ทำให้ทั้งชาวไทย และต่างชาตินิยมเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวแต่ละปีจำนวนมหาศาล

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งในด้านเกษตรกรรม กระบี่กำลังหาทางสร้างรายได้ให้เกษตรกรด้วยการสนับสนุนการปลูก “องุ่น” พืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการบริโภคของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะองุ่นไร้เมล็ด ซึ่งขณะนี้สามารถปลูกได้ในพื้นที่ราบเขตร้อน และเป็นผลไม้ที่เกษตรกรให้ความสนใจปลูกเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ในอนาคต

ล่าสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามศึกษาทดลองสายพันธุ์ และขยายพื้นที่การปลูกให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดย นายสำเริง ปานศรี ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกระบี่ (พืชสวน) กล่าวว่า ทางศูนย์ใช้พื้นที่ครึ่งไร่ในการศึกษาทดสอบการปลูกองุ่นไร้เมล็ด จำนวน 4 สายพันธุ์

ซึ่งจากการศึกษาวิจัยองุ่น ทดลองปลูกองุ่นอย่างต่อเนื่อง จนสามารถทำการคัดเลือกองุ่นที่สามารถเจริญเติบโตได้ดี และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของภาคใต้ จำนวน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ลูสเพอร์เลต (Loose Perlette) บิวตี้ซีดเลส (Beauty Seedless) เฟลมซีดเลส (Flame Seedless) และแบล็กโอปอล (Black Opal)

โดยในแปลงทดลองนี้ต้องการเก็บข้อมูลผลผลิตขององุ่นแต่ละสายพันธุ์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการส่งเสริมการปลูกองุ่น โดยทางศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดกระบี่ ได้ทำการศึกษาผลผลิตขององุ่นที่สามารถปลูกในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน การเตรียมโรงเรือน การดูแลรักษา การใส่ปุ๋ย การป้องกันโรค การศึกษาคุณภาพ เพื่อหาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม สภาพพื้นที่จังหวัดกระบี่ให้มากที่สุด สามารถให้ผลผลิตองุ่นที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด ส่งเสริมให้เกษตรกร และประชาชนผู้สนใจ นำไปประกอบเป็นอาชีพ

เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ที่สนใจการปลูกองุ่นของจังหวัดกระบี่และภาคใต้ เข้าเยี่ยมชมเพื่อศึกษาหาความรู้การปลูกองุ่นจากแปลงทดลองเพื่อพัฒนาเป็นอาชีพ ที่สำคัญ สนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ ในเรื่องของผลไม้คุณภาพ โดยเฉพาะองุ่น ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดและนักท่องเที่ยว