ชาวนาสุรินทร์ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง เพื่อลดต้นทุน

เกษตรกรกำลังรวมกลุ่มกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของชุมชน

ทุกวันนี้ ต้นทุนค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นทุกอย่าง โดยเฉพาะค่าปุ๋ยเคมี ที่อยู่ในเกณฑ์สูง แต่ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิด กลับชะลอตัวลดลง หากผลผลิตที่ปลูกได้ ขายไม่ได้หรือขายได้ราคาต่ำ เกษตรกรก็อยู่ลำบากขึ้น เพราะรายรับไม่พอกับรายจ่าย ทางออกที่ดีที่สุดคือ ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายลง เพื่อให้มีผลกำไรเหลืออยู่ในกระเป๋าได้มากที่สุด

วิถีชาวนาตำบลสลักได

เกษตรกรในพื้นที่บ้านตระแบก หมู่ที่ 4 ตำบลสลักได อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ชุมชนแห่งนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ผลผลิตแต่ละปีไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปริมาณและการกระจายตัวของฝน เนื่องจากพวกเขาอาศัยอยู่นอกพื้นที่เขตชลประทาน ปลูกข้าวนาน้ำฝนได้เพียงปีละครั้ง ส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิเป็นหลัก

หลายสิบปีที่ผ่านมา ชาวนาในท้องถิ่นนี้ ปลูกข้าวโดยใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีมาตลอด ทำให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่อไรต่ำ เนื่องจากสภาพดินเสื่อมโทรม มีความเป็นกรดค่อนข้างสูง ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืช

เนื่องจากเกิดจากการตกค้างของสารเคมี ปุ๋ยเคมี ที่มีการใช้อย่างไม่ระมัดระวังและต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินตายไป ทำให้สภาพดินเสื่อมโทรม ขาดการบำรุงดิน ดินมีอินทรียวัตถุในดินต่ำ ผลผลิตข้าวต่อไร่มีปริมาณต่ำ เฉลี่ยไร่ละ 400 กิโลกรัม เท่านั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อปากท้องและรายได้ของเกษตรกรในวงกว้าง

ปี 2557 ชาวบ้านจึงรวมตัวกันจัดตั้ง “กลุ่มเกษตรอินทรีย์” เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เริ่มจากหันมาทำนาอินทรีย์พร้อมกับทำปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นใช้เอง ประจวบเหมาะกับกรมส่งเสริมการเกษตรได้มีโครงการ “1 ตำบล 1 ล้านบาท” เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชุมชน สร้างรายได้และลดต้นทุนการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของชุมชแห่งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพึงพอใจของทุกฝ่าย เนื่องจากการดำเนินงานปีแรกสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ 54 ตัน ขายปุ๋ยให้สมาชิกในราคา กิโลกรัมละ 4 บาท สร้างเม็ดเงินสะพัดในท้องถิ่นกว่า 2 แสนบาท รายได้จากการจำหน่ายปุ๋ยทางกลุ่มฯ จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับผลิตปุ๋ยในรุ่นต่อไป

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นับเป็นการปรับตัวสู้วิกฤตได้อย่างยั่งยืน เพราะได้ผลกำไรที่ดี 2 ต่อ ข้อแรกคือ ผลิตปุ๋ยใช้เอง เท่ากับลดรายจ่ายของเกษตรกร ข้อที่ 2 คือ สร้างโอกาสขายสินค้าข้าวอินทรีย์ได้มากขึ้น เนื่องจากทุกวันนี้ ทั่วโลกกำลังกำลังตื่นตัวสนใจบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์ ดังนั้น ข้าวอินทรีย์ของชุมชนแห่งนี้ จะขายได้ราคาที่ดี และเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อทั่วโลก

สูตรปุ๋ยอินทรีย์ตำบลสลักได

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อแก้ปัญหาสภาพดินเสื่อมโทรม จะใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาเทกอง เช่น 1.มูลสัตว์ 100 กก. 2.แกลบดิบ 100 กก. 3. แกลบดำ 100 กก. 4. รำอ่อน 10 กก. 5. กากน้ำตาล 20 ซีซี (ช้อนโต๊ะ) 6.น้ำหมักชีวภาพ 20 ซีซี (ช้อนโต๊ะ) 7.น้ำสะอาด 100 ลิตร

ปุ๋ยหมักอินทรีย์ที่พร้อมใช้งาน

เมื่อเตรียมวัสดุครบถ้วนเกษตรกรจะนำแกลบดิบ แกลบดำ มูลสัตว์ รำละเอียด ผสมให้เข้ากันก่อน หลังจากนั้นจะผสมน้ำหมักชีวภาพกับกากน้ำตาล น้ำ 10 ลิตร ที่เตรียมไว้ ใส่บัวรดน้ำราดบนกองมูลสัตว์กับแกลบให้ชุ่ม คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปุ๋ยหมักจะมีความชื้น ประมาณ 50% หมักปุ๋ยทิ้งไว้ประมาณ 5-7 วัน คลุมด้วยกระสอบป่าน หรือผ้าใบ

เมื่อปุ๋ยเกิดความร้อนให้กลับกองปุ๋ย 1-2 ครั้ง ต่อวัน หากสังเกตพบว่า ปุ๋ยหมักเกิดราสีขาว แสดงว่าจุลินทรีย์กำลังทำการย่อยสลาย เมื่อหมักปุ๋ยครบ 7 วัน ชาวบ้านจะทำการกรอกปุ๋ยใส่กระสอบที่เตรียมไว้ อัตราบรรจุกระสอบละ 25 กก. ก่อนนำไปจัดที่โรงเก็บปุ๋ย เพื่อรอการจำหน่ายต่อไป

เมื่อต้องการนำปุ๋ยอินทรีย์ ไปใช้งานในแปลงนา เกษตรกรจะนำปุ๋ยอินทรีย์ไปผสมดินก่อนจึงค่อยไถกลบตอซังก่อนหว่านเมล็ดข้าว เมื่อต้นข้าวเติบโตสูงประมาณ 1 นิ้ว จึงค่อยใส่ปุ๋ยอีกครั้งเพื่อบำรุงต้น เมื่อต้นข้าวโตเต็มที่จะให้ผลผลิตที่ดี ปริมาณข้าวต่อรวงสูงมาก เมล็ดข้าวแข็งแรง ไม่แตกหักง่าย

แถมเมล็ดข้าวมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของข้าวหอมมะลิเมืองสุรินทร์ ซึ่งแตกต่างจากข้าวหอมมะลิที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยเคมี พบว่า เมล็ดข้าวไม่ค่อยมีกลิ่นหอมแถมเมล็ดข้าวมีสีออกคล้ำ ไม่น่ารับประทาน