“ซีพีเอฟ” ผงาด 5 แสนล้าน ลุยซื้อ 11 กิจการครัวโลกเปิดประตูสู่ U.S.A.

การผงาดขึ้นสู่ยอดขาย 5 แสนล้านบาทในปี 2560 ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ อย่างแข็งแกร่ง ภายหลังการเข้าซื้อและควบรวมธุรกิจ 11 รายการ ภายในปี 2559 ทั้งในจีน ศรีลังกา อังกฤษ และล่าสุดได้เข้าไปซื้อหุ้น 100% ในบริษัท เบลลิซิโอ ฟู้ด อิ้งค์ (Bellisio) ซึ่งเป็นผู้นำในการผลิตอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ด้วยมูลค่ารวม 1,075 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 38,000 ล้านบาท ถือเป็นครั้งแรกของซีพีเอฟที่เปิดประตูเข้าอเมริกา และถือเป็นดิวที่ใหญ่ที่สุดของซีพีเอฟ

“สิ่งสำคัญที่สุดการเติบโตและสร้างความเป็นเลิศของซีพีเอฟวันนี้ถือว่า ยังเติบโตช้าไป เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ดังนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซีพีเอฟทำเรื่องควบรวมและซื้อธุรกิจหลายแห่ง และปี 2560 จะเห็นการซื้อและควบรวมกิจการเกิดขึ้นอีก อันนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตขึ้นไป ขณะเดียวกันได้วางแผนธุรกิจ 5 ปีจะเติบโตอย่างยั่งยืนให้ได้ปีละ 10% ทุกปี” นั่นเป็นสิ่งที่อดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร CPF กล่าวอย่างมั่นใจ

ผนึก “เบลลิซิโอ” พลิกแผนธุรกิจ

ปัจจุบันซีพีเอฟมีฐานการผลิตใน 14 ประเทศทั่วโลก มีสาขากว่า 40 สาขา มีคนทำงาน 1.2 แสนคน หลักการบริหารธุรกิจของซีพีเอฟใน 14 ประเทศ คือ ซีพีเอฟจะผลิตภายในประเทศ และขายภายในประเทศเป็นหลัก หรือคิดเป็น 94% ของการผลิตทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 6% จะส่งออกแล้ว

การผนึกรวมกับบริษัทเบลลิซิโอฯ ซึ่งมีโรงงานผลิตถึง 4 แห่งในอเมริกา ที่พร้อมให้ซีพีเอฟนำเครื่องจักรเข้าไปใส่ในโรงงานที่มีพื้นที่อยู่ เพื่อผลิตอาหารไทย และอาหารเอเชีย

ออกขายได้ทันทีให้คนอเมริกัน และคนเอเชีย โดยใช้ “แบรนด์ซีพี” ผ่านช่องทางการขายกว่า 50,000 จุด ในสหรัฐอเมริกาแล้ว

จุดแข็งอย่างหนึ่งของบริษัทเบลลิซิโอฯ ที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่สามารถผลิตสินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานสไตล์อิตาลีได้ในราคาไม่แพงเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังมีกำไร เพราะสามารถทำให้ต้นทุนถูก และได้รับความนิยมในตลาดอเมริกามาก อาจจะกลายเป็น “จุดพลิกผัน” ในการบริหารจัดการธุรกิจของซีพีเอฟทีเดียว

โดยอดิเรก แม่ทัพใหญ่ของซีพีเอฟได้ฉายภาพให้เห็นว่า ด้วยฐานต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง และวัตถุดิบในอเมริกาถูกมาก ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ ราคาถูกกว่าในเอเชียมาก ดังนั้น ซีพีเอฟจะใช้ฐานการผลิตที่มีต้นทุนถูกตรงนี้ และมีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ซีพีเอฟจะใช้เป็นฐานการผลิตส่งอาหารกลับมาขายในเอเชียได้ เพราะสหรัฐอเมริกามีศักยภาพการส่งออกมาก

นอกจากนี้ กรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ และมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการลงทุน โดยออกนโยบายปรับลดภาษีทางธุรกิจ (corporate tax rate)จาก 35% เหลือ 15% ขณะที่ประเทศไทย 20% สิงคโปร์ และฮ่องกง 17% และพยายามชักจูงให้คนอเมริกันกลับมาลงทุนในประเทศอเมริกา แม้กระทั่งนโยบายด้านต่างประเทศ เช่น การเก็บภาษี 10% สำหรับการที่คนอเมริกันจะนำเงินกลับมาลงทุนภายในประเทศอเมริกา หรือจูงใจให้คนมีฐานะทุ่มเทให้อเมริกามากขึ้น เช่น ยกเลิกภาษีมรดก ซึ่งในอดีตเป็นเรื่องที่ไม่เคยทำมา ถือว่าซีพีเอฟลงทุนได้ถูกเวลา

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 0.25% สู่ระดับ 0.50-0.75% หลังจากที่รอมานาน แล้วยังบอกปีหน้ามีนโยบายจะปรับขึ้นอีก 2-3 ครั้ง ฉะนั้นค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น ค่าเงินบาทอ่อนลง จะเห็นว่า ช่วงจังหวะที่ซีพีเอฟเข้าซื้อบริษัทเบลลิซิโอฯ นั้น ค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.30 บาท วันนี้ (23 ธ.ค. 59) ขึ้นไปเกือบ 36 บาทแล้ว และเงินบาทอาจจะวิ่งลงไปถึง 37 บาทในไม่กี่เดือนข้างหน้ามีความเป็นไปได้ ทำให้เงินที่ซีพีเอฟจ่ายมีมูลค่ามากขึ้น อันนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ซีพีเอฟสบายใจในเรื่องของค่าเงิน

“เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ที่เกิดขึ้นจากการซื้อบริษัทเบลลิซิโอฯคือ ซีพีเอฟได้ตลาด ได้แบรนด์ ได้ช่องทางการขาย ได้ผู้บริหารที่เก่ง ทั้งหมดนี้จะเสริมกัน โดยทางซีพีเอฟจะส่งทีมงานไปเสริมการทำงาน ให้บริษัทเบลลิซิโอฯ เติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นฐานของซีพีเอฟในประเทศสหรัฐอเมริกา”
นั่นเป็นสิ่งที่แม่ทัพใหญ่ซีพีเอฟตอกย้ำ

อย่างไรก็ตาม ดิวการเข้าซื้อกิจการของบริษัทเบลลิซิโอฯ โดยใช้กระแสเงินสดที่สะสมมาถึง 38,000 ล้านบาท เพราะหนี้สินต่อสัดส่วนผู้ถือหุ้นยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ และธุรกิจของซีพีเอฟยังเติบโต ที่สำคัญยังมี EBITDA ตัวกระแสเงินสดกลับมา โดยปี 2559 ซีพีเอฟจะมีกระแสเงินสดกลับมาประมาณ 42,000 ล้านบาท และปีถัดไปจะเพิ่มขึ้นจากธุรกิจที่ขยายตัวมากขึ้น

ทั้งนี้ การบริหารจัดการพิจารณาเพื่อไม่ทำให้หนี้สินมากขึ้น จะทำให้มีกระแสเงินสดกลับมา โดยพิจารณาสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักจะขายทิ้งออกไปบ้าง เช่น ที่ดิน การลงทุนบางส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวกับธุรกิจหลักของซีพีเอฟ นอกจากนี้ ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายที่จะทำให้ต้นทุนถูกลง ขณะเดียวกันต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง ไม่ลงทุนเกินตัว ทั้งหมดนี้จะทำให้กระแสเงินสดตีกลับมา และไม่ให้ทำหนี้เพิ่มขึ้น

สำหรับทิศทางในอนาคตของซีพีเอฟ อดิเรกสะท้อนว่า วันนี้ธุรกิจของซีพีเอฟยังอยู่ต้นน้ำ และกลางน้ำมาก ในยอดขายรวมของซีพีเอฟ แบ่งเป็นธุรกิจอาหารสัตว์ (Feed) และธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ (Farm) รวมกันประมาณ 80% แต่ธุรกิจอาหาร (Food) มีเพียง 12% แต่เมื่อซื้อกิจการของบริษัทเบลลิซิโอฯ จะทำให้ธุรกิจอาหาร (Food) ที่มีแบรนด์ จะเติบโตจากปี 2559 อยู่ที่ 12% ปี 2560 คาดเป้าหมายจะขึ้นไปเป็น 17% และแผนอีก 5 ปีวางเป้าหมายจะเติบโตให้ได้ถึง 25%

จีน-เวียดนามโตแซงไทย

การเติบโตของซีพีเอฟด้วยการเข้าซื้อและควบรวมกิจการยังคงเป็นหนึ่งในแผนการลงทุนต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการลงทุนในจีนหลังจากปี 2559 ได้เข้าซื้อหุ้น 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท Banner Infant Dairy Products Co., Ltd. (Banner) ที่ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายนมผงสำหรับทารก โดยเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 30% ในและถือหุ้น 12% ในบริษัท Qingdao Yi Bang Bio-Engineering Co.,Ltd. (Qingdao Yi Bang) ที่ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายวัคซีนสำหรับสัตว์ รวมมูลค่า 4,485 ล้านบาท และล่าสุดเข้าซื้อหุ้นสามัญ 70% ของ Fujian Sumpo Foods Holding Co., Ltd. ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์บก เลี้ยงและจำหน่ายไก่ และผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ ในมณฑลฝูเจี้ยน มูลค่ารวม 323 ล้านเรนมินบิ หรือประมาณ 1,688 ล้านบาท ทำให้ซีพีเอฟขยายฐานธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมและอาหารในจีนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

โดยแม่ทัพใหญ่ ซีพีเอฟบอกว่า ปัจจุบันรายได้หลักในจีน คือ ธุรกิจอาหารสัตว์ และอาหารคนมีโรงงาน 2 แห่ง ในชิงเต่า และชิงหวังเต่า และล่าสุดซื้อธุรกิจอาหาร และยาวัคซีน ผลจะเกิดการสร้างรายได้ปีถัดไป ภายใน 5 ปีนี้คาดว่ายอดขายรวมธุรกิจในจีนอาจจะแซงประเทศไทย เพราะจีนใหญ่มีประชากร 1,300 ล้านคน ผลิตและขายภายในจีน 24% เทียบไทยมีประชากร 60 ล้านคน ผลิตและขายภายในไทย 32-33% แต่ไทยได้ยอดส่งออก

ขณะที่เวียดนาม ยอดขายภายในประเทศ 17% ทั้งนี้ เวียดนาม มีอัตราการเติบโตได้ดีเฉลี่ยปีละประมาณ 10-15% โดยรายได้หลักจากอาหารสัตว์ สุกร และอาหารสัตว์น้ำยอดขายรวมเวียดนามประมาณ 70,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนรัสเซีย ประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมา หลังซื้อธุรกิจสุกร และไก่เนื้อ ทั้ง 2 บริษัทมียอดขาย และกำไรดี

อย่างไรก็ตาม อดิเรก กล่าวทิ้งท้ายว่า การเติบโตของซีพีเอฟเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ได้ยึดหลักคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จะต้องลงทุนอย่างพอประมาณ พอสมควร ต้องมีเหตุผล ต้องประเมินความเสี่ยงมีภูมิคุ้มกันที่ดีและสุดท้ายธุรกิจจะสำเร็จได้ต้องขับเคลื่อนด้วยคนดี มีคุณธรรม เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่นยืน และคำนึ่งถึงสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงสังคมเป็นสิ่งทีเราต้องทำควบคู่กันไป

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์