กระชาย โสมไทยมีดีที่บำรุงกำลัง

มีผู้สันทัดกรณีด้านสมุนไพรว่าไว้ โสมคน มีชื่อที่เกาหลีและจีน โสมไทยคือ กระชาย มีดีไม่แพ้โสม เล่าขานด้านสรรพคุณต่างๆ นานา โดยเฉพาะเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงสมรรถภาพ บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง ช่วยบรรเทาปัญหากามารมณ์บกพร่อง เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารสมอง บำรุงหัวใจ และอีกกว่าร้อยประการ ที่ “กระชาย” สมุนไพรเครื่องครัวไทย จัดให้ได้ ตอบแทนคนบริโภค จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ราชาแห่งสมุนไพร

กระชาย มีชื่อสามัญเรียกหลายอย่าง Fingerroot หรือ Chainese ginger หรือ Chainese Key หรือ Galingale

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.

อยู่ในวงศ์ขิง ZINGIBERACEAE เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีลำต้นอยู่ใต้ดิน เรียกว่า เหง้า รากสะสมอาหารจนพองเป็นก้านคล้ายนิ้วมือ เรียกว่า แง่ง ถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อเรียกกันว่า “ขิงจีน” มีลักษณะและสรรพคุณเช่นเดียวกับ “โสม” ที่สำคัญมีผลข้างเคียงในทางลบ กับร่างกายคนไม่มาก ราคาก็ไม่สูงนัก ให้ประโยชน์มากมาย ชาวจีนใช้แทนโสม จึงนับว่า กระชาย เป็นสิ่งที่คนไทยไม่ควรจะมองข้าม

คุณประโยชน์มากมายที่กล่าวอ้าง ประการแรกต้องอ้างเอาผลการวิจัยคุณค่าทางอาหารที่กระชายมีอยู่ ในแง่ง เหง้าหรือหัว น้ำหนัก 100 กรัม ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 17.8 กรัม เส้นใยอาหาร 2.0 กรัม น้ำตาล 1.7 กรัม โปรตีน 1.8 กรัม โพแทสเซียม 415 มิลลิกรัม โซเดียม 13 มิลลิกรัม ไขมันอิ่มตัว 0.2 กรัม ไขมันไม่อิ่มตัว 0.2 กรัม วิตามีนบีหก 8% วิตามีนซี 8% แคลเซียม 2% เหล็ก 3% แมกนีเซียม 11% สารอาหารต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่มีผลต่อร่างกายผู้บริโภคทั้งนั้น จึงจะเห็นได้ว่า มีผู้คนนำเอาไปประกอบอาหาร ทำเครื่องดื่ม และเป็นยา หรือเป็นส่วนประกอบของยา เพราะเขามองเห็นสรรพคุณของกระชาย แบบพิสูจน์คุณสมบัติแล้ว และยังได้ทราบผลการวิจัยว่า พบสาระสำคัญ เช่น สาร pinostrobin ที่ช่วยต้านเชื้อพลาสมา สาเหตุของโรคมาลาเรีย พบสารคลอโรฟอร์ม และเมทานอล ต้านพยาธิที่ทำให้ท้องเสีย หรือสาร pinocembin สาร panduratina สาร alpinetin ต้านทานเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดอีกด้วย

กระชาย ที่ใช้ประโยชน์กันแพร่หลาย มี 3 ชนิด ได้แก่ กระชายดำ กระชายแดง และกระชายเหลือง หรือกระชายขาว มีชื่อเรียกในแต่ละถิ่นต่างกันบ้าง เช่น ภาคเหนือ เรียก ละแอน หรือ ระแอน ทางภาคอีสาน เรียก กะแอน หรือขิงทราย ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน ซึ่งนิยมใช้กันมาก เรียก จี้ปู, ซีฟู, เปาซอเราะ, เปาะสี่ หรือ ขิงจีน ทางกรุงเทพฯ รู้จักกันในชื่อ ว่านพระอาทิตย์ อาจจะเป็นเพราะมีลักษณะแง่ง เหง้าเป็นเช่นเดียวกัน แง่งและเหง้ากระชาย เจริญอยู่ใต้ดิน ที่สำคัญ เรืองแสงเวลากลางคืน บ้างมีลักษณะคล้ายหุ่นตัวคน คล้ายโสมคนของต่างประเทศ ก็เรียกกระชายเป็น โสมคน หรือ โสมไทย และชาวจีนมีความนิยมใช้กระชายแทนโสม จึงเรียกว่า ขิงจีน เป็นสมุนไพรที่ชาวจีนนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ทดแทนพวกโสม ที่ราคาแพงกว่ามาก

Advertisement

ลักษณะของกระชาย เป็นพืชที่มีเหง้าหรือต้นใต้ดิน สามารถแตกหน่อขึ้นมาเป็นต้นบนดิน คือส่วนของกาบใบ ก้านใบ และใบ ลักษณะที่เห็นชัดเจน กระชายมีใบ 2-7 ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปรี กว้าง 5-12 เซนติเมตร ยาว 12-50 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ เห็นเส้นกลางใบชัดเจน มีกาบใบ ที่ด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างเป็นสันนูน ยาว 7-25 เซนติเมตร สีออกชมพูเรื่อๆ มีลิ้นใบระหว่างกาบใบกับแผ่นใบ ออกดอกระหว่างกาบใบ ดอกเป็นช่อชั้นๆ เชิงลดชั้น มีใบประดับ 2 ใบ สีขาวอมชมพู กลีบเลี้ยงดอกสีขาว หรือขาวอมชมพู ติดเป็นหลอดปลายคลี่ออกเป็นกลีบรูปไข่กลับ ปลายกลีบบนสีชมพูหรือม่วงแดง

Advertisement

รากกระชายคือ ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ เป็นรากสะสมอาหาร เป็นแง่ง อวบเป็นรูปทรงกระบอก ค่อนข้างยาว ปลายเรียว กว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 4-10 เซนติเมตร ออกเป็นกระจุกจากหัวหรือเหง้า หรือลำต้นใต้ดิน ส่วนบนแตกหน่อแตกใบ ออกดอก ส่วนล่างใต้ผิวดินแตกรากหรือแง่ง ชอบดินร่วนปนทราย เก็บเกี่ยวในหน้าแล้ง ประมาณอายุการเจริญเติบโต จนแก่เหี่ยวเฉา ใบแห้ง 4-5 เดือน ถ้าไม่ขุดถอนออกมาแบบล้างแปลง ก็จะงอกกอขึ้นมาใหม่ ในฤดูฝนถัดไป ขยายพันธุ์ด้วย เหง้า หรือหัว และแง่ง

ส่วนที่เรียกกันว่า “แง่ง” คือรากสะสมอาหารดังที่ว่า ลักษณะดูคล้ายๆ เต้านมผู้หญิง จึงเรียก “นมกระชาย” หรือบางทีดูคล้ายอวัยวะเพศชาย บางทีมองคล้ายรูปหุ่นคนเหยียดตรง มีหัว มีแขนขา จึงมีข้อคิดเห็นหรือเชื่อว่า น่าจะมีฤทธิ์เกี่ยวกับพลังทางเซ็กซ์ เกี่ยวกับสมรรถนะทางเพศ เกี่ยวกับร่างกายคนเรา เมื่อพิจารณาตามคุณสมบัติของกระชายแล้ว เห็นว่าไม่ใช่เป็นแค่ความเชื่อ หรือเป็นแค่อุปาทาน แต่เป็นความจริงที่หลายคนพิสูจน์แล้ว ไม่เฉพาะแต่เรื่องกามารมณ์เท่านั้น ยังมีอีกนับร้อยอย่าง ที่เป็นคุณประโยชน์ของกระชาย

ยกตัวอย่างพอสังเขป เอาเรื่องเด่นแรกมาย้ำกันอีกที คือเรื่องบำรุงสมรรถภาพทางเพศ เป็นตัวช่วยปรับฮอร์โมนเพศชาย ที่เรียก “โทสเตอโรน” และฮอร์โมนเพศหญิง เรียก “เอสโตรเจน” ช่วยบำรุงกำหนัด เมื่อกระชายมีฤทธิ์ต่อฮอร์โมนเพศ ก็สมควรนำไปทดลองกับตัวเองดูว่าจะจริงเท็จแค่ไหน ปัจจุบันนี้เพื่อนเราที่มีปัญหาเรื่องเซ็กซ์ มีมากมาย ท่านเป็นอีกคนหนึ่งใช่ไหมละ

ปัญหาทางสุขภาพร่างกาย ที่กระชายช่วยได้ มีหลายร้อยอย่าง เอาที่พบเจอกันมาก กระชายช่วยดูแลให้ได้บำรุงตับไตให้แข็งแรง บำรุงกระดูกและเอ็น บำรุงกล้ามเนื้อหัวใจ บำรุงรักษาความสมดุลของความดันโลหิต ดูแลเล็บให้แข็งแรง รักษาผมหงอกก่อนวัย เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงธาตุ แก้เป็นลมวิงเวียนแน่นหน้าอก โลหิตเป็นพิษ โรคกระเพาะ ปวดท้อง มวนท้อง บิดมูกเลือด ขับปัสสาวะ ไส้เลื่อน ต่อมลูกหมากโต มดลูกอักเสบ ระดูขาว ตกขาว ขับน้ำคาวปลา ริดสีดวงทวาร ชะลอแก่ แก้คันศีรษะ โรคผิวหนัง ฝี หนอง ฯลฯ นี่เป็นแค่เพียงตัวอย่างสรรพคุณที่กระชายให้เราได้ ส่วนวิธีการนำไปใช้ ต้องหาดูกันต่อนะขอรับ

โปรดอย่าลืมว่า ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีสองหน้า มีดี มีร้าย มีประโยชน์ มีโทษ ทุกอย่างไม่ใช่จะมีแต่ด้านเดียว การตัดสินใจของเรา จะเป็นการคัดสรรเอาด้านดีที่สุด และหาวิธีที่ดี ถูกต้องเหมาะสมที่สุด ตัดสินใจใช้ ทำอะไรขอให้คิดให้ถ้วนถี่ จะได้แต่สิ่งดีดีเข้ามาหาเรานะขอรับ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2564