รัฐ-ชาวสวน ขัดแย้งหนัก ตัวเลขพิษปาบึก

ควันหลงปาบึก ชาวสวนภาคใต้ “วิกฤตหนัก” ภาคีเครือข่าย “คยปท.” เผยสวนยางเสียหายสิ้นเชิง 1.5 แสนไร่ ทำคนตกงาน 2 แสนคน ขณะที่เกษตร จ.นครศรีฯ แย้งผลสำรวจ 23 อำเภอ พบนาข้าว-พืชไร่-พืชสวน “เสียหายสิ้นเชิง” 3 หมื่นไร่ ด้านสุราษฎร์ “พบเสียหายเบื้องต้น” พืชทุกชนิด 9.5 หมื่นไร่

นายทศพล ขวัญรอด เจ้าของสวนยางพารา ในฐานะประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์พายุปาบึกที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ พบตัวเลขสวนยางพาราเสียหายสิ้นเชิง อย่างไม่เป็นทางการเบื้องต้นกว่า 150,000 ไร่ ทั่วภาคใต้ โดยเฉพาะ 16 อำเภอ ของ จ.นครศรีธรรมราช ได้รับความเสียหายเป็นอันดับ 1 รองลงมา คือ จ.สุราษฎร์ธานี และจังหวัดที่เหลือเสียหายไม่มากนัก ได้แก่ จ.พัทลุง สงขลา กระบี่ พังงา ภูเก็ต และ จ.ตรัง ทั้งนี้ สวนยางพาราที่เสียหายกว่าจะปลูกใหม่และกรีดได้ต้องใช้เวลาประมาณ 6-7 ปี ส่งผลให้เจ้าของสวน และลูกจ้างกรีดยางพาราตกงานกว่า 180,000-200,000 คน เป็นการหมดตัวหมดอาชีพไปหลายสิบปี ซึ่งจนถึงขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุน รวมถึงเจ้าของสวนยางพาราที่ไม่มีเอกสารสิทธิ รัฐจะสนับสนุนช่วยเหลืออย่างไร ทั้งนี้ สวนยางพารา 150,000 ไร่ ปกติจะให้ปริมาณน้ำยาง 3 กก./ไร่ รวมแล้ว หรือประมาณ 450,000 กก./วัน หรือประมาณ 90,000 ตัน/ปี ที่ได้รับความสูญเสียไป ขณะที่ไม้ยางพาราราคาตกต่ำลงมา เหลือประมาณ 1.40-1.60 บาท/กก. จากเดิมราคา 1.60-1.80 บาท และไม้ฟืน เหลือราคา 35 สตางค์ จากเดิม 70-80 สตางค์ และเคยขยับขึ้นมา 1 บาท/กก. อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์กัน เจ้าของสวนยางพาราที่ขายพื้นที่ยกสวน ราคาซื้อขายประมาณ 300,000 บาท/ไร่ ขนาดที่ดินนา ไม้ยางพารา ประมาณ 45,000 บาท/ไร่ ดังนั้น หากตีเป็นมูลค่ารวม 150,000 ไร่ ที่ได้รับความเสียหาย จะตกประมาณ 450,000 ล้านบาท

นครฯ เสียหายสิ้นเชิง 3 หมื่นไร่

นายสมโชค ณ นคร เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลสรุปการสำรวจความเสียหายของเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) จากพายุปาบึก ในพื้นที่ 23 อำเภอของ จ.นครศรีธรรมราช ณ วันที่ 24 มกราคม 2562 พบว่า มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 13,211 คน มีพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายสิ้นเชิงรวม 30,968.75 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 1,156.50 ไร่ พืชไร่ 1,035.50 ไร่ และพืชสวนและอื่นๆ จำนวน 28,776.75 ไร่ ซึ่งตามระเบียบกระทรวงการคลัง ในกรณีเสียหายสิ้นเชิงให้ช่วยเหลือตามพื้นที่เสียหายจริง ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ ในอัตรา ข้าวไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ 1,148 บาท ต่อไร่ และพืชสวน 1,690 บาท ต่อไร่ ทั้งนี้ หลังจากรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้ว ทางจังหวัดจะจัดประชุมคณะกรรมการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับจังหวัดในวันที่ 26 ม.ค.นี้ ก่อนจะนำเสนอข้อมูลรายงานให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับทราบ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเงินให้ความช่วยเหลือต่อไป

สุราษฎร์ฯ คาดเสียหาย 9 หมื่นไร่

รายงานข่าวจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยผลสำรวจความเสียหายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก ณ วันที่ 21 มกราคม 2562 ที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินวาตภัย/อุทกภัย รวม 17 อำเภอ ได้แก่ ไชยา ท่าชนะ ดอนสัก เกาะพะงัน บ้านนาเดิม พุนพิน เกาะสมุย เมืองสุราษฎร์ธานี บ้านนาสาร พระแสง ท่าฉาง กาญจนดิษฐ์ วิภาวดี คีรีรัฐนิคม เวียงสระ พนม และเคียนซา และไม่ประกาศภัย 2 อำเภอ คือ บ้านตาขุน และชัยบุรี พบพืชเศรษฐกิจคาดว่าจะเสียหาย 65,665 ไร่ มีเกษตรกรประสบภัย 118 ตำบล 969 หมู่บ้าน 64,253 ครัวเรือน ขณะที่ด้านประมงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 7 อำเภอ 119 หมู่บ้าน เกษตรกร 637 ราย พื้นที่ที่คาดว่าได้รับความเสียหาย เช่น ปลา กุ้ง ปู 1,538 ไร่กระชัง และบ่อซีเมนต์ บ่อพลาสติก 15,495 ตารางเมตร ส่วนด้านปศุสัตว์มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 3 อำเภอ 11 ตำบล 32 หมู่บ้าน เกษตรกร 585 ราย สัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบรวม 16,526 ตัว

ทั้งนี้ ในแบบรายงานความเสียหายเบื้องต้นด้านพืช ครั้งที่ 5 มีตัวเลขพื้นที่ที่คาดว่าเสียหายรวมทั้งหมด 95,665 ไร่ แบ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก อาทิ ยางพารา คาดว่าเสียหาย 49,552 ไร่ ปาล์มน้ำมัน คาดว่าเสียหาย 31,073 ไร่ ข้าว คาดว่าเสียหาย 2,461 ไร่ ทุเรียน คาดว่าเสียหาย 1,787 ไร่ มะพร้าว คาดว่าเสียหาย 650 ไร่ และพืชผักคาดว่าเสียหาย 7,480 ไร่ ฯลฯ

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์