โรงเรียนอุทัยธานีวิทยาคม ปั้นเด็กเก่งเกษตร รับมืออนาคต เกษตร 4.0

“เมืองพระชนกจักรี ปลาแรดรสดี ประเพณีเทโว ส้มโอบ้านน้ำตก มรดกโลกห้วยขาแข้ง แหล่งต้นน้ำสะแกกรัง ตลาดนัดดังโคกระบือ” คำขวัญ จังหวัดอุทัยธานี แสดงให้เห็นถึงประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น ที่ยังคงมายาวนาน และสังเกตได้ว่าในทุกคำขวัญ เรื่องของเกษตรกรรม อันเป็นรากฐานในการดำรงชีวิตจะแทรกอยู่ในคำขวัญนั้นๆ ด้วยเสมอ

เกษตรกรรม จึงพบได้และมีอยู่ในทุกที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในโรงเรียน ที่มีเยาวชน ซึ่งควรได้รับการปลูกฝังเรื่องของเกษตรกรรมให้เป็นพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต

 

โรงเรียนอุทัยธานีวิทยาคม เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา มีการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งโดยปกติทั่วไปเท่าที่ผู้เขียนทราบ โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาจะมุ่งเน้นและให้ความสำคัญพุ่งตรงไปที่หลักการสอนในเชิงวิชาการ เพื่อส่งต่อนักเรียนไปยังระดับอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ แต่สำหรับโรงเรียนอุทัยธานีวิทยาคมแห่งนี้ นอกเหนือจากหลักการสอนในเชิงวิชาการที่ละทิ้งไม่ได้แล้ว ยังน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาแทรกเข้าไว้ในเนื้อหาของการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กนักเรียนมีความรู้ในเชิงวิชาชีพ โดยเฉพาะเกษตรกรรม อันเป็นรากฐานของการดำรงชีวิตที่แท้จริง

อาจารย์พรพิมล พิชญกุล รองผู้อำนวยการโรงเรียนอุทัยธานีวิทยาคม ให้การต้อนรับ และให้ข้อมูลของโรงเรียนว่า เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา มีนักเรียนประมาณ 1,800 คน มีบุคลากรผู้สอน 100 คน โรงเรียนตั้งอยู่บนพื้นที่ 77 ไร่ แบ่งสัดส่วนออกเป็นอาคารเรียน และพื้นที่ใช้สอยอื่น และที่สำคัญปันพื้นที่ให้กับการทำการเกษตร 2 ไร่

เมื่อถามถึงสาเหตุที่ต้องมีภาคเกษตรไว้ให้นักเรียนได้ศึกษา อาจารย์พรพิมล บอกว่า เพราะเด็กนักเรียนเกินกว่าครึ่ง มีพื้นฐานครอบครัวเกษตรกรรม การมีความรู้ติดตัวไว้ไม่เสียหาย อีกทั้งเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นบางส่วน อาจไม่ได้ศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่หันเหไปทางสายอาชีพ สาขาวิชาที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมก็มีให้เลือกมาก จึงอาจเป็นพื้นฐานให้เด็กนักเรียนมีทักษะที่เหมาะกับตัวนักเรียนเองและศึกษาต่อได้ถูกทางต่อไป

“โรงเรียนอุทัยธานีวิทยาคม เป็นโรงเรียนชายขอบ” อาจารย์พรพิมล บอกอย่างนั้น เหตุเพราะ พื้นที่ตั้งของโรงเรียนที่แม้จะเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด แต่ไม่ได้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเสียทีเดียว แต่กลับติดต่อกับอำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ซึ่งทำให้เด็กในพื้นที่ 2 อำเภอดังกล่าว เดินทางมาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้เช่นกัน

การเรียนการสอนในส่วนของการส่งเสริมเรื่องเกษตรกรรม สำหรับนักเรียนของโรงเรียนอุทัยธานีวิทยาคม เน้นไปที่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยเฉพาะมัธยมศึกษาปีที่ 2 และมัธยมศึกษาตอนปลาย เฉพาะมัธยมศึกษาปีที่ 5 เท่านั้น อีกทั้งยังมีชุมนุมเกษตรให้เด็กเลือกเรียน เป็นทางเลือกสำหรับนักเรียนระดับชั้นอื่นที่สนใจ

รองผู้อำนวยการโรงเรียน บอกด้วยว่า เกษตรกรรมที่ทำอยู่ มุ่งเน้นไปที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 และโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พื้นที่ 2 ไร่ สำหรับทำเกษตรกรรม มีเพียงส่วนผักสวนครัว ไม้ผล และประมง เท่านั้น

แต่เพราะเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนจึงไม่มี ระบบสหกรณ์โรงเรียนจึงไม่มี ผลผลิตที่ได้จากเกษตรกรรมทั้งหมด จึงต้องขาย และผลผลิตทั้งหมดเมื่อได้มาจะขายบุคลากรที่ใกล้ที่สุดก่อน คือ อาจารย์และแม่ค้าในโรงอาหาร เมื่อเหลือจึงนำไปขายยังตลาด ชุมชน หรือร้านค้า และกระบวนการทั้งหมดนักเรียนจะเป็นผู้ดำเนินการเอง

“ที่ผ่านมา เมื่อผลผลิตออกมา แม่ค้าโรงอาหารซื้อของเรา ครูก็ซื้อ ผลผลิตออกมาเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย เงินที่ได้มาก็นำมาหมุนเวียนในกิจกรรมนั้นๆ กรณีเด็กลงทุนเองก็ให้เด็กไปจัดการเองได้ อาจจะเก็บต้นทุนไว้สำหรับลงทุนครั้งต่อไป แล้วนำกำไรที่ได้ไปแบ่งกัน ส่วนกรณีที่โรงเรียนลงทุนให้ จะเก็บต้นทุนไว้ และนำกำไรให้เด็กนักเรียนไปจัดสรรกันเอง”

อาจารย์นิรมล สนประหัตถ์ ครูสอนเกษตร ของโรงเรียนอุทัยธานีวิทยาคม อธิบายระบบการส่งเสริมการทำเกษตรในโรงเรียน ว่า การปลูกพืชทุกชนิดหรือการเลือกกิจกรรมต้องเป็นการตัดสินใจของเด็กเอง แต่ครูจะเป็นคนแนะแนวหรือให้คำปรึกษา เพราะเด็กทุกคนรู้ว่ากติกาของการทำเกษตรในโรงเรียนและการเรียนในวิชาที่มีทุกระดับชั้นจะต้องปฏิบัติอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาการแบ่งกิจกรรม จะใช้เวลาในคาบเรียนวิชาการงานอาชีพเป็นหลัก ใน 1 สัปดาห์ มีการเรียนวิชาการงานอาชีพ 2 คาบเรียน ยกเว้นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่จะต้องทำหน้าที่หลักในการดูแลกิจกรรมนอกเหนือจากคาบเรียนวิชาการงาน

“การแนะนำ ครูจะช่วยแนะนำเมื่อเด็กมาปรึกษา แต่การตัดสินใจ ต้องให้เด็กตัดสินใจเอง เช่น เด็กมาปรึกษาว่า จะปลูกผักคะน้าดีไหม ก็จะแนะนำว่า ผักคะน้ามีระยะเวลาปลูกสั้น แต่อาจจะไม่เหมาะปลูกฤดูฝน เพราะเป็นผักที่ไม่ชอบน้ำเยอะ อาจจะทำให้เกิดโรคตามมา แต่ถ้าเด็กยังสนใจและอยากปลูก ก็จะปล่อยให้เด็กทำ เพื่อให้พบกับปัญหาอุปสรรค และรู้จักเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่ดีและได้กับเด็กโดยตรงดีที่สุด และที่ผ่านมา มีเด็กอยากลองปลูกผักคะน้า ก็ให้ทำ ปรากฏว่า ผักคะน้าตาย เด็กก็ทดลองปลูกอีกเป็นครั้งที่ 2 ผักคะน้าก็ตาย เพราะเป็นช่วงฤดูฝนที่ฝนตกชุก ทำให้รากเน่า ผักไม่เจริญเติบโตและตายในที่สุด ซึ่งครั้งที่ 3 นี้ เด็กจะรู้แล้วว่า ควรปลูกผักคะน้าในฤดูใด หรือต้องทำอย่างไร จึงจะปลูกผักคะน้าในฤดูฝนให้รอดได้ผลผลิตออกมาให้ได้”

พื้นที่ 2 ไร่ สำหรับทำการเกษตร แบ่งเป็นบ่อปลา ขนาด 4×4 เมตร ความลึก 2 เมตร แต่เนื่องจากเป็นทางน้ำไหล เมื่อถึงฤดูฝน เมื่อฝนตกน้ำจะหลากผ่านบ่อดังกล่าว โรงเรียนจึงเลือกเลี้ยงปลาสวาย เนื่องจากปลาสวายจะไม่ไหลไปตามน้ำเมื่อน้ำหลากผ่าน แต่หากเป็นปลาชนิดอื่นจะไหลไปตามน้ำ และเกิดการสูญเสียขึ้น

การปล่อยปลาสวาย ปล่อยครั้งละ 100 ตัว แต่การจับปลาขายใช้เวลานานกว่าปลาชนิดอื่น เพราะต้องเลี้ยงให้ปลามีอายุไม่ต่ำกว่า 1 ปี จึงจะขายได้ ทั้งนี้ การเลี้ยงปลา ไม่ได้ใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว แต่ใช้ผลผลิตจากไม้ผล คือ กล้วยที่ปลูกไว้ รวมทั้งเศษอาหารที่เหลือจากโรงอาหาร นำมาให้ปลาสวาย ก็ทำให้ลดต้นทุนได้อย่างมาก

สำหรับไม้ผล มีทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ กล้วย มะม่วง และ ขนุน เมื่อไม้ผลให้ผลผลิตก็นำไปขาย รายได้ก็แบ่งให้กับนักเรียนที่ดูแล

ส่วนแปลงผัก เลือกเฉพาะผักสวนครัวที่ดูแลง่าย แต่ก็ขึ้นกับนักเรียนว่าจะเลือกผักชนิดใด เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ต้นหอม มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังปลูกผักหวาน ชะอม เอาไว้อีกแปลงต่างหาก อย่างไรก็ตาม ผลผลิตทั้งหมดจะออกสู่ตลาดก็ต่อเมื่อเหลือจากการขายให้กับแม่ค้าในโรงเรียนและบุคลากรในโรงเรียนแล้ว

การเพาะเห็ดนางฟ้าภูฎานในบ่อซีเมนต์ ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 30 ก้อน อนาคตจะเพิ่มจำนวนก้อนเชื้อเห็ด เพราะผลผลิตที่ได้มา เมื่อนำไปขายก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า

ในแต่ละวัน นักเรียนระดับชั้นที่รับผิดชอบหลัก จะต้องมาดูแลแปลงเกษตรในตอนเช้าและเย็น เช่น การถอนวัชพืช การให้น้ำ หรือการให้อาหารปลา แต่เมื่อถึงเวลาเก็บผลผลิต อาจารย์นิรมล จะพยายามให้ตรงกับคาบเรียนวิชาการงานอาชีพ เพื่อไม่ต้องเสียเวลาการเรียนในคาบวิชาอื่น และเด็กจะไม่เกิดความกังวลในวิชาเรียนอื่นด้วย

การเก็บผลผลิต จะทำเป็นขั้นตอน เด็กนักเรียนจะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามความถนัด เพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้น โดยแบ่งเป็นแผนกเก็บ แผนกล้าง แผนกแพ็ก และแผนกขาย เพื่อให้ได้ของสดเมื่อถึงมือลูกค้า

เด็กหญิงพรพิมล ลิ้มอ่อง หรือ น้องน้ำ อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บอกว่า ชอบการปลูกผัก ที่ผ่านมาเลือกปลูกผักคะน้าและมะเขือเทศ ได้ผลผลิตค่อนข้างดี มีแม่ค้าต้องการรับซื้อมะเขือเทศประจำ แต่เราผลิตไม่ได้ตามที่แม่ค้าต้องการ รู้สึกเสียดาย ซึ่งการเลือกผักสำหรับปลูกก็เป็นการตัดสินใจของกลุ่ม โดยสังเกตจากร้านค้าว่าใช้ผักอะไรมากที่สุดหรือใช้เป็นประจำ จากนั้นศึกษาการปลูก การดูแลรักษาจากอินเตอร์เน็ตหรือหนังสือ แล้วจึงแบ่งงานกับเพื่อน เมื่อได้ผลผลิตมาก็นำไปขาย นำรายได้มาจดบันทึก ซึ่งการจดบันทึกทำมาตั้งแต่แรกเริ่มซื้อเมล็ดพันธุ์ ต้นทุนการจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงสำหรับเร่งการเจริญเติบโตในพืช และปุ๋ย รวมถึงบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ก่อนนำไปขาย และเมื่อขายได้หักต้นทุนแล้วก็นำกำไรที่ได้มาแบ่งกัน

“ที่ผ่านมาปลูกมะเขือเทศได้ผลผลิตดี เพราะปลูกในโรงเรือนกางมุ้ง ทำให้ไม่พบกับปัญหาโรคและแมลง แต่ระยะเวลาการปลูกมะเขือเทศรอนานถึง 3 เดือน จึงจะเก็บผลผลิตได้

ด้าน นายกฤตเมธ โกดี หรือ น้องฟิว อายุ 16 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เล่าว่า มีความรักในเกษตรกรรมมานานแล้ว สนใจและศึกษาเรื่องของบฯ การทำการเกษตรมาตั้งแต่เรียนประถมศึกษา ปัจจุบัน ได้นำความรู้ที่ได้จากอาจารย์ผู้สอนและศึกษาเองไปทำเกษตรที่บ้าน ได้แก่ การเลี้ยงกบ การเลี้ยงปลาสวยงาม การปลูกผัก เป็นต้น และปัจจุบัน การทำการเกษตรที่บ้านก็เป็นวิชาชีพที่ทำเงินให้น้องฟิวมาเรียนหนังสืออีกด้วย

นับว่าโรงเรียนอุทัยธานีวิทยาคม นับว่าเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมด้านเกษตรกรรมให้กับนักเรียน แต่โรงเรียนอุทัยธานีวิทยาคมก็ไม่ละทิ้งอาชีพสำคัญ ซึ่งเป็นรากฐานของอาชีพไป และยังคงดำเนินกิจกรรมให้บรรลุ ทั้งด้านอาชีพและด้านวิชาการ ท่านใดต้องการสอบถามเพิ่มเติม หรือศึกษาดูงานการบริหารจัดการของโรงเรียน ติดต่อไปได้ที่ โรงเรียนอุทัยธานีวิทยาคม เลขที่ 55 หมู่ 2 ตำบลสะแกกรัง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ในวัน และเวลาราชการ