เกษตรกรโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย มั่นใจปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา รายได้ดี มีตลาดรับซื้อแน่นอน แม้เข้าร่วมเป็นปีแรก

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ภายใต้การทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำผลผลิตล้นตลาด ประกอบกับปัจจุบันปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ จึงได้เสนอให้เกษตรกรลดรอบการปลูกข้าว โดยจัดทำโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาขึ้น ภายใต้มาตรการรักษาเสถียรภาพสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร

นอกจากจะเป็นการเพิ่มผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศแล้ว เกษตรกรยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการปลูกข้าวที่ให้ผลตอบแทนที่น้อย และช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวมาเป็นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

กรมส่งเสริมการเกษตร สนองนโยบายรัฐบาล ดำเนินโครงการฯ ตามกระบวนการตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ เชิญชวนเกษตรกรและหน่วยงานต่างๆ ทั้งกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหน่วยงานภาคเอกชน ร่วมสำรวจพื้นที่ วิเคราะห์ ตรวจสอบ คัดเลือก รับสมัครเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ พร้อมถ่ายทอดความรู้ ทั้ง การแนะนำพันธุ์ปลูกให้เหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่ การหว่านไถ การบำรุงดูแลต้นพันธุ์ ตั้งแต่เริ่มการเพาะปลูก ไปจนถึงวิธีการเก็บเกี่ยวอย่างถูกวิธี เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการปลูกที่ทันสมัย

ในวันที่ 15 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้ปิดระบบรับสมัครเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาแล้ว มีเกษตรกรแจ้งความประสงค์และสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 95,592 ราย พื้นที่ 805,903 ไร่ และจังหวัดหนองคายเป็น 1 ใน 37 จังหวัดของพื้นที่เป้าหมาย มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการฯ 1,014 ราย จำนวน 6,618.50 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มกราคม 2562)

นายทรงศักดิ์ ศรีสร้างคอง เกษตรกรบ้านคำตายูง ตำบลเซิม อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย หนึ่งในเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ เปิดเผยว่า อาชีพหลักของตนคือการทำนา โดยทำนาปีในช่วงฤดูฝน และเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วัวเนื้อ เป็ด ไก่ เป็นต้น ที่ผ่านมามีรายได้จากการขายข้าวไม่แน่นอน ปีใดหากฝนขาดช่วงก็จะขาดทุน บางปีได้ผลผลิตข้าวดีและมาก แต่ราคาตกต่ำก็ขาดทุนเช่นกัน มาปีนี้หลังจากที่ทางรัฐบาลได้ประกาศโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ก็สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยใช้พื้นที่ทั้ง 18 ไร่ที่มีอยู่ ปลูกแบบเต็มพื้นที่ โดยใช้น้ำจากฝายและลำห้วยธรรมชาติ นอกจากนี้ในแปลงนายังมีการขุดบ่อน้ำ จำนวน 2 บ่อ ซึ่งทำให้เพียงพอสำหรับใช้ในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย จึงไม่มีปัญหาในเรื่องน้ำ

ขณะนี้ข้าวโพดที่ปลูกมีอายุ 20 วันแล้ว สูงประมาณ 40 เซนติเมตร ซึ่งได้รับคำแนะนำการเพาะปลูกอย่างถูกวิธีจากเกษตรตำบลเข้ามาให้ความรู้ คำแนะนำวิธีการปลูก การดูแล อยู่เป็นระยะๆ จึงค่อนข้างมั่นใจว่า ผลผลิตที่ได้ออกมาจะมีคุณภาพโดยพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้ง 18 ไร่ คาดว่าประมาณปลายเดือนเมษายน 2562 ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ น่าจะได้ผลผลิตไร่ละประมาณ 1 ตัน

หากได้ราคาดังที่รัฐบาลประกาศ ก็น่าจะมีรายได้ที่หักค่าลงทุนแล้วร่วมแสนบาท ซึ่งก็ดีกว่าการทิ้งนาให้ว่างเปล่าไม่ได้ทำอะไร แถมต้นข้าวโพด ซังข้าวโพด และเมล็ดข้าวโพดส่วนหนึ่งที่ไม่มีคุณภาพสามารถนำมาเป็นอาหารให้วัวที่เลี้ยงกินได้ เป็นการลดต้นทุนสำหรับการเลี้ยงวัวได้อีกทางหนึ่งด้วย

“ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวโพดแล้วจะนำไปขายที่จุดรับซื้อที่อยู่ใกล้บ้าน ตามที่ทางกระทรวงเกษตรฯ กำหนดขึ้นเพื่อให้เกษตรกรในอำเภอโพนพิสัยและพื้นที่ใกล้เคียงสามารถนำผลผลิตข้าวโพดไปขายได้สะดวก ซึ่งมีความเชื่อมั่นว่าโครงการฯ นี้จะสามารถไปได้ดี และเกษตรกรจะไม่ขาดทุนอย่างแน่นอน ยอมรับว่านโยบายของรัฐในโครงการนี้มาถูกทางแล้วในการใช้ตลาดนำการผลิต ทำให้เกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปากอย่างเห็นได้ชัดเจน” นายทรงศักดิ์ ศรีสร้างคอง กล่าว

นับได้ว่าการดำเนินงานตามนโยบายของภาครัฐ ดังเช่นโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้นั้น ถือเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดีในการสนับสนุนให้เกษตรกรไทยเกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต หันมาปลูกพืชอื่นทดแทนนอกจากการทำนา ทั้งลดปริมาณการใช้น้ำในฤดูแล้ง การใช้พื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพคุ้มทุน และเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพจากราคาข้าว รวมทั้งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกพืชอื่นตามความต้องการของตลาดได้