“กรมเจรจาฯ” จับมือ กรมปศุสัตว์ เตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมโคนมไทย บุกตลาดต่างประเทศ ด้วย เอฟทีเอ และเพิ่มศักยภาพโคนมไทยตลอดห่วงโซ่มูลค่า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังเปิดงานสัมมนา เรื่อง “โคนมไทย ก้าวไปพร้อมกับ เอฟทีเอ” เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 ณ โรงแรมเซอร์เจมส์รีสอร์ทแอนด์คันทรีคลับ จังหวัดสระบุรี ร่วมกับอธิบดีกรมปศุสัตว์ว่า สองหน่วยงานได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโคนมไทย รับมือข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้า และใช้ประโยชน์จาก เอฟทีเอ บุกตลาดต่างประเทศ โดยได้จับมือร่วมกันทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา

ในโอกาสที่เกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมจากทั่วประเทศเดินทางมาเข้าร่วมงานเทศกาลโคนมแห่งชาติ ประจำปี 2562 ที่องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 30 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2562 ณ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี จึงได้ร่วมกันจัดสัมมนา เรื่อง “โคนมไทย ก้าวไปพร้อมกับ เอฟทีเอ” ในวันที่ 29 มกราคม 2562  โดยมีเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมไทยที่เกี่ยวข้องทั้งระบบห่วงโซ่การผลิต ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ กว่า 150 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์

และเรียนรู้จากความสำเร็จของเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมที่เข้าร่วมโครงการ “จัดทัพโคนมไทยบุกตลาดต่างประเทศด้วย เอฟทีเอ” ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับกรมปศุสัตว์ เมืองนวัตกรรมอาหาร ชุมนุมสหกรณ์โคนมประเทศไทย และศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้นใน ปี 2561

นางอรมน เสริมว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ใช้โอกาสการสัมมนาครั้งนี้ ถ่ายทอดความสำเร็จของโครงการที่จัดขึ้นในปี 2561 ที่ได้คัดเลือกเกษตรกร ผู้ประกอบการนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยที่มีความพร้อมในการทำตลาดต่างประเทศ เข้าฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตและการทำตลาด และได้พาไปเรียนรู้ตลาดจีน พฤติกรรมผู้บริโภคจีน ตลอดจนจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการจีน จนประสบความสำเร็จได้ยอดสั่งซื้อ และขยายตลาดไปจีน

นับเป็นการใช้ประโยชน์จากการที่จีนลดภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมจากไทย เหลือร้อยละ 0 ภายใต้ เอฟทีเอ ขยายการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยไปจีนมากขึ้น โดยปัจจัยของความสำเร็จที่สำคัญ อาทิ การศึกษากฎระเบียบการนำเข้าของจีนให้เข้าใจ การศึกษาช่องทางการจัดจำหน่ายโดยเฉพาะปัจจุบันผู้บริโภคจีนนิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในแพลตฟอร์มมีชื่อของจีนกันมากขึ้น

รวมทั้งให้ความสำคัญกับรักษาคุณภาพมาตรฐาน พัฒนานวัตกรรม และสร้างความแตกต่างสร้างสรรค์ให้กับสินค้า เช่น การผลิตนมอัดเม็ดรสชาติต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีน การผลิตนมที่ไม่มีแลคโตส  นมออร์แกนิค เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเล็งเห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมโคนมไทย จึงได้แนะนำให้เกษตรกร และผู้ประกอบการโคนมของไทยแสวงโอกาสในการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ของไทยไปตลาดอาเซียน และจีน ที่ปัจจุบันไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยแล้ว สืบเนื่องจากการทำความตกลง เอฟทีเอ ระหว่างกัน ขณะเดียวกันก็จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือการเปิดเสรีภายใต้ เอฟทีเอ ที่ไทยทำกับออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยทั้งสองประเทศได้ลดภาษีศุลกากรให้กับสินค้าจากไทย ทุกรายการเหลือ ร้อยละ 0 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558

ขณะที่ไทยจะต้องทยอยลดภาษี ยกเลิกโควตา และเปิดเสรีเต็มรูปแบบให้กับสินค้านมผงที่มีไขมันเกิน 1.5% (ไม่ใช้เลี้ยงทารก) เวย์โปรตีน ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนม ไขมันเนย และเนยแข็ง จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในปี 2564 และให้กับน้ำนมดิบ นมผงขาดมันเนย และเครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่ง จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปี 2568

จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมของไทย ให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคการค้าเสรี ผ่านการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมดิบ ให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รวมทั้ง อาจอาศัยความได้เปรียบในเชิงที่ตั้งความเป็นศูนย์กลางอาเซียนของไทย ส่งเสริมการลงทุนและการร่วมทุนจากสองประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมโคนมไทย

“กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะร่วมกับกรมปศุสัตว์ ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย เมืองนวัตกรรมอาหาร และศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับมือกันทำงานต่อไปในปี 2562 เพื่อช่วยเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรและผู้ประกอบการนมของไทย ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้แข่งขันได้ใน เอฟทีเอ” นางอรมน กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2561 ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์เป็นมูลค่า 472.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 16.42 โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ เช่น กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ขณะที่ไทยนำเข้านมและผลิตภัณฑ์เป็นมูลค่า 630.82 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 4.1 โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญ เช่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้านมผงเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร