สต๊อกน้ำมันปาล์มล้นประเทศ 7แสนตัน แผนดึงซัพพลายไปผลิต’ไฟฟ้า-B20’เอาไม่อยู่

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมากรมการค้าภายในได้ออกประกาศผลการคัดเลือกผู้มีสิทธิจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ (ครั้งที่1) ปรากฏมีผู้มีเอกสารและคุณสมบัติครบถ้วนที่จะจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 24 ราย คิดเป็นปริมาณ 71,000 ตัน จะเริ่มส่งมอบวันที่ 26 มกราคมเป็นต้นไป

ในจำนวน 24 รายนี้มีผู้ได้รับการจัดสรรให้ขายน้ำมันปาล์มดิบเกินกว่า 4,000 ตันขึ้นไป ได้แก่ บริษัทปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จังหวัดปัตตานี 10,000 ตัน, บริษัทเจริญน้ำมันปาล์ม จังหวัดชุมพร 8,000 ตัน, บริษัทจีรัลย์ปาล์ม จังหวัดสุราษฎร์ธานี 4,000 ตัน, บริษัท ป.พาณิชรุ่งเรืองปาล์มออยล์ 2 จังหวัดกระบี่ 4,000 ตัน, บริษัทศรีเจริญปาล์มออยล์ จังหวัดกระบี่ 4,000 ตัน

ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินงบประมาณงบกลาง 525 ล้านบาท เพื่อให้ กฟผ.รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 160,000 ตัน มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังความร้อนโรงไฟฟ้าบางปะกงตามมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศเพื่อดึงราคาผลปาล์มของเกษตรกรชาวปาล์มน้ำมันให้สูงขึ้นและแก้ปัญหาสต๊อกน้ำมันปาล์มล้นก่อนหน้านี้ ซึ่งมีปริมาณ 350,000 ตัน หรือ “สูงกว่า” ระดับสต๊อกปกติที่ควรมีไม่เกิน 250,000 ตัน โดยมาตรการนี้จะส่งผลให้ช่วยดึงราคาผลปาล์มให้สูงขึ้นไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ราคา กก.ละ 3.20 บาท

ปาล์มพัฒนาฯคว้า 10,000 ตัน

ด้านแหล่งข่าวจากวงการโรงสกัดน้ำมันปาล์มตั้งข้อสังเกตกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า จากการตรวจสอบรายชื่อผู้ชนะการประมูลจากเว็บไซต์ของกรมการค้าภายใน พบว่าผู้ชนะการประมูลปริมาณสูงสุด ได้แก่ บริษัทปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จำกัด จากจังหวัดปัตตานี ได้ไปถึง 10,000 ตัน รองลงมาได้แก่ บริษัทเจริญน้ำมันปาล์ม จังหวัดชุมพร 8,000 ตัน ขณะที่เหลืออีก 23 รายได้ไปรายละ 2,000-4,000 ตัน ทั้ง ๆ ที่หลายรายล้วนเป็นโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มยักษ์ใหญ่ในวงการค้าน้ำมันปาล์มดิบ อาทิ บริษัทยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ได้ไปเพียง3,000 ตัน, บริษัททักษิณอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (1993) จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี 2,000 ตัน, บริษัทสุขสมบูรณ์น้ำมันปาล์ม จ.ชลบุรี 2,000 ตัน เป็นต้น

“มันเป็นเรื่องที่โจษจันกันมากในวงการค้าน้ำมันปาล์มที่บริษัทปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ ได้รับการจัดสรรให้ขายน้ำมันปาล์มดิบให้ กฟผ.รายเดียวถึง 10,000 ตัน โดยในตอนแรก TOR กำหนดเงื่อนไขการรับซื้อไว้ว่า ผู้เสนอขายจะต้องมีสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ 100% แต่อยู่ ๆ คณะทำงานก็ปรับลดสต๊อกลงมาเหลือแค่ 50% และที่เหลือซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่ปลูกปาล์มอีก 50% ยกตัวอย่าง ผู้ที่จะขายน้ำมันปาล์มดิบ 10,000 ตัน ก็มีสต๊อกไว้แค่ 5,000 ตัน ก็ขายได้แล้ว นอกจากนี้คณะทำงานยังมีการปรับมาตรฐานเรื่องของกรดลงจากเดิมไม่เกิน 5% เป็น 7% จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์กัน เป็นไปได้อย่างไรที่บริษัทเล็ก ๆ จะมีสต๊อกน้ำมันปาล์มมากมายขนาดนั้น หากเป็นสมัยก่อนเราจะดูจากประวัติย้อนหลังการผลิตของโรงงานด้วยว่ามีกำลังการผลิตขนาดไหน และที่สำคัญเป้าหมายคือช่วยเกษตรกรก็ควรจะต้องกระจายไปยังพื้นที่ปลูกปาล์มแหล่งต่าง ๆ ไม่ใช่จะช่วยเกษตรกรเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งก็ไม่ได้มีพื้นที่ปลูกปาล์มมากมายเท่าใดนัก” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบผู้มีรายชื่อขายน้ำมันปาล์มให้ กฟผ.ระดับ 10,000 ตันพบว่าบริษัทปาล์มพัฒนาชายแดนใต้ จดทะเบียนตั้งบริษัทในเดือนพฤศจิกายน 2552 ทุนจดทะเบียน 221,000,000 บาทที่ตั้งอยู่ที่ตำบลบางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี แจ้งประกอบธุรกิจผลิตน้ำมันปาล์มดิบ มีผู้ถือหุ้น 5 คน ได้แก่ นายสมนึก มณีโชติ, น.ส.ณัฐศศิ มณีโชติ, นางอารีย์ มณีโชติ, นายธนากร มณีโชติ และ น.ส.ปภัสสร มณีโชติ

สต๊อกปลายปีพุ่ง 7 แสนตัน 

ทั้งนี้ มาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศมีขึ้นเพื่อพยุงราคาผลปาล์มให้สูงเกินกว่า 3 บาท/กก. ด้วยการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 160,000 ตัน ราคารับซื้อ กก.ละ 18 บาท ระยะเวลาดำเนินการเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2562 รวม 6 เดือน โดย กฟผ.จะเป็นผู้รับภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้า

โดยราคาผลปาล์มเฉลี่ยรับซื้อจริงสัปดาห์นี้อยู่ที่ กก.ละ 2.70 บาท น้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ กก.ละ 17 บาท และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ กก.ละ 19.63 บาท สาเหตุที่ราคาผลปาล์มยังไม่ขยับขึ้นทั้ง ๆ ที่มีการประกาศรายชื่อผู้ขายน้ำมันปาล์มดิบให้กับ กฟผ.แล้วถึง 71,000 ตัน เป็นเพราะ 1) กฟผ.ยังไม่มีการทำสัญญากับผู้ขายน้ำมันปาล์มดิบ

2)ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่จะรับซื้อจำนวน 160,000 ตันเป็นแค่ผลทางจิตวิทยาที่ตลาดรับรู้แล้ว ดังนั้นราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศจะขยับขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลกที่ตอนนี้เริ่มมีแนวโน้มปรับราคาสูงขึ้นบ้างทำให้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 17 บาท

3) ในปี 2561 สามารถผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มได้ประมาณ 100,000 ตัน (มกราคม-มีนาคม 2561) หลังจากนั้นแทบจะไม่มีการส่งออกน้ำมันปาล์มอีกเลย แสดงให้เห็นว่า มาตรการผลักดันการส่งออกใช้ไม่ได้ผล และ

4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ผลผลิตปาล์มน้ำมันฤดูกาลใหม่จะเพิ่มสูงจาก 15 ล้านตัน เป็น 16.7 ล้านตัน ส่งผลให้ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือจากระดับ 500,000-600,000 ตันในขณะนี้จะพุ่งขึ้นสูงถึง 700,000 ตัน เป็นประวัติการณ์ในช่วงปลายปี 2562 ดังนั้นการใช้มาตรการปรับสมดุลหรือการเร่งผลิตน้ำมันดีเซล B20 จึงไม่สามารถดันราคาผลปาล์มมากกว่า 3 บาท/กก. เป็นการถาวรได้