น้ำพริกหลากหลาย กับโครงการสร้างเสริมรายได้เพื่อเกษตรกรรายย่อยอำเภอหันคา

“หลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ์ งามวิจิตรบึงฉวาก แหล่งปลามากระหานบัว ร่มรื่นทั่วเขาสารพัดดี เด่นเป็นศรีชาวหันคา งามสุดตาเกาะเมือง” ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก อำเภอหันคา ก่อน จากบันทึกในเว็บไซต์ของสำนักงานเกษตรอำเภอหันคา ระบุว่า อำเภอหันคาเดิมชื่อว่า อำเภอบ้านเชี่ยน ตั้งที่ว่าการอำเภออยู่ที่ตำบลบ้านเชี่ยน ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 ได้ย้ายมาตั้งที่แห่งใหม่ ณ ตลาดหันคา จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอหันคา เหตุที่เรียกว่า “หันคา” มีที่มาประการแรก คือ มีตำนานเล่าว่ามีเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์มาล่มขวางลำน้ำ ในลักษณะหันและคาตรงบริเวณท่าบ้านหลวงซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอ และประการที่สอง มาจากคำว่า “ลานคา” ตามลักษณะพื้นที่ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นที่ราบกว้างมีหญ้าคาขึ้นปกคลุมโดยทั่วไป แบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 8 ตำบล 100 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลหันคา 11 หมู่บ้าน ตำบลบ้านเชี่ยน 12 หมู่บ้าน ตำบลไพรนกยูง 13 หมู่บ้าน ตำบลหนองแซง 20 หมู่บ้าน ตำบลห้วยงู 11 หมู่บ้าน ตำบลวังไก่เถื่อน 11 หมู่บ้าน ตำบลเด่นใหญ่ 12 หมู่บ้าน ตำบลสามง่ามท่าโบสถ์ 10 หมู่บ้าน

 

ที่มาของน้ำพริกหลากหลาย

กับโครงการสร้างเสริมรายได้เพื่อเกษตรกรรายย่อยอำเภอหันคา

คุณชัด ขำเอี่ยม เกษตรอำเภอหันคา กล่าวว่า อำเภอหันคาตั้งอยู่ลุ่มน้ำท่าจีน มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายด้านพืชพรรณธัญญาหาร และภูมิปัญญาชาวบ้าน เมื่อนำมาผสมผสานกับความตั้งใจของเกษตรกรรายย่อยที่ได้มาร่วมกันเป็นกลุ่มย่อย จึงได้ตกลงที่จะผลิตน้ำพริกที่หลากหลายสู่ผู้บริโภค เพราะตระหนักถึงความสำคัญของน้ำพริกที่เปรียบเสมือนสิ่งสำคัญคู่ครัว ซึ่งต้องใช้ในการประกอบอาหาร หรือเป็นหลักที่มีผักเป็นเครื่องเคียงเสริมความเอร็ดอร่อย อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร และสารสมุนไพรที่มีเป็นส่วนประกอบของน้ำพริกไทย เช่น พริก ทำให้ร่างกายแข็งแรงมีกำลัง เจริญอาหาร สมองและสุขภาพสมบูรณ์…กระเทียม เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงประสาท เลือดลมดี สุขภาพสมบูรณ์…หัวหอม รักษาโรคไข้ลม เลือดลมดี…ตะไคร้ กลิ่น รสซู่ซ่า หอมเย็น เป็นอาหารชูรส…มะกรูด เป็นยาบำรุง เลือดลม ขับถ่าย บำรุงสุขภาพ เหงื่อออก บำรุงธาตุ…มะขาม แก้อักเสบ

จากสรรพคุณต่างๆ ที่กล่าวไว้ เมื่อผสมผสานแล้วจะพบว่า คุณค่าของภูมิปัญญาไทยนั้นทรงคุณค่ายิ่ง เพราะน้ำพริกแกงหรือน้ำพริกต่างๆ จะส่งผลให้เลือดลมดีมีกำลัง อีกทั้งเมื่อปรุงกับผักต่างๆ โดยเฉพาะการต้อนรับหัวลมหนาวนี้ แกงส้มดอกแคกับปลาช่อน เสิร์ฟพร้อมกับข้าวร้อนๆ แล้ว จะอร่อยอย่างมีคุณค่า

คุณชุติภาส ภูมิลำเนา เก็บพริกที่แห้งสนิทดีแล้วส่งให้สมาชิกนำไปปรุงน้ำพริกต่างๆ

จากการเปิดโอกาสให้กลุ่มเกษตรกรรายย่อยเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย พบว่ามีจำนวน 3 กลุ่ม ที่เสนอขอจัดทำโครงการทำน้ำพริก ประกอบด้วย

  1. โครงการผลิตพริกแกงและแปรรูปอาหารบ้านดอนกระดาษ ชุมชนบ้านเชี่ยน 2 มี คุณจรรยา สนิทไทย เป็นประธานกลุ่มเกษตรกรรายย่อยผลิตพริกแกงและแปรรูปอาหารบ้านดอนกระดาษ หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา มีคณะกรรมการจำนวน 12 ราย มีสมาชิกจำนวน 37 ราย
  2. โครงการผลิตพริกแกงและแปรรูปอาหารบ้านบางลี่ ชุมชนบ้านเชี่ยน 2 มี คุณสมหมาย ดำนิล เป็นประธานกลุ่มเกษตรกรรายย่อยผลิตพริกแกงและแปรรูปอาหารบ้านบางลี่ หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านเชี่ยน อำเภอหันคา มีคณะกรรมการจำนวน 12 ราย มีสมาชิกจำนวน 37 ราย
  3. โครงการแปรรูปอาหารและผลิตน้ำพริก ชุมชนห้วยงู มี คุณชุติภาส ภูมิลำเนา เป็นประธานกลุ่มเกษตรกรรายย่อยกลุ่มแม่บ้านคลองห้วยงูพัฒนา หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยงู อำเภอหันคา มีคณะกรรมการจำนวน 14 ราย มีสมาชิกจำนวน 32 ราย

 

การผลิตน้ำพริกที่หลากหลายเพื่อผู้บริโภค

คุณชุติภาส ภูมิลำเนา หรือเพื่อนๆ เกษตรกรเรียก “พี่อ้วน” เกษตรกรวัย 54 ปี บ้านเลขที่ 140/1 หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยงู อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า หลังจากรับทราบถึงการสนับสนุนงบประมาณในโครงการดังกล่าว ได้ปรึกษาหารือกับเพื่อนๆ เกษตรกร เพื่อร่วมกันวิเคราะห์แสวงหากิจกรรมที่ใช้ประโยชน์จากวัสดุในท้องถิ่น ในรูปแบบเวทีชุมชนระดมความคิดจากสมาชิกสกัดองค์ความรู้ต่างๆ ร่วมกันก่อนตัดสินใจหาข้อตกลงแบบมีส่วนร่วม วัตถุประสงค์เพื่อสร้างงานสร้างรายได้เสริมจากการทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของเพื่อนๆ เกษตรกร ได้สรุปผลจัดทำโครงการแปรรูปอาหารร่วมกัน โดยระยะแรก จะผลิตน้ำพริกที่หลากหลาย เพราะตระหนักดีว่าทุกครัวเรือนมีความจำเป็นต้องใช้เป็นประจำ อีกทั้ง มีปัจจัยสนับสนุนอยู่แล้วในบ้านของสมาชิก เช่น หลายครัวเรือนปลูกตะไคร้ มะกรูด ขิง ข่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแกง จะมีบางส่วนที่จะต้องซื้อจากท้องตลาดคือ พริก หอม กระเทียม กะปิ เกลือ และเครื่องเทศบางชนิด จากการผลิตในระยะแรกได้รับการต้อนรับจากผู้บริโภคด้วยดี ถึงแม้ว่าตลาดจะมีเพียงร้านค้าชุมชน ตลาดนัด และออกร้านตามงานต่างๆ บางส่วนเพื่อนๆ ในชุมชนมาจองสั่งซื้อ บางเวลาที่หยุดเพราะไม่ถึงเวลาที่กำหนด ของหมดแล้วก็ต้องเร่งจัดทำ หรือมีผู้บริโภคสั่งทำจำนวนมาก จากระยะเวลาที่เริ่มดำเนินการผลิตประมาณ 2 เดือน สามารถสร้างรายได้ให้กลุ่มจำนวน 9,200 บาท ข้อดีอีกประการหนึ่งคือวัสดุที่ใช้ได้ซื้อจากสมาชิกราคาไม่สูงนัก เงินตราจะหมุนเวียนในชุมชน

จะทยอยตักเทวัสดุลงเครื่องเพื่อบดละเอียดครั้งแรก

ด้านการผลิตนั้น การผลิตน้ำพริกต่างๆ ของกลุ่มได้คำนึงถึงคุณภาพ ความสะอาด และความปลอดภัยเป็นหลักเพื่อหวังความมั่นคงของลูกค้าที่เข้ามาอุดหนุน จึงได้คัดเลือกวัสดุที่มีคุณภาพและความสะอาดทุกขั้นตอน เริ่มจากการทำความสะอาดด้วยน้ำ แล้วจึงนำไปผึ่งแดดให้แห้ง ตัดส่วนที่ไม่ต้องการหรือคัดเลือกสิ่งที่ไม่ต้องการออกก่อนที่จะนำวัสดุที่ชิ้นใหญ่หั่นให้เป็นชิ้นเล็กก่อนนำไปชั่งให้ได้อัตราส่วนที่ต้องการตามประเภทของน้ำพริก เช่น

น้ำพริกแกงเผ็ดมาก…ประกอบไปด้วย พริกเล็ก 1.5 กิโลกรัม ข่า 3.5 กิโลกรัม ตะไคร้ 1 กิโลกรัม กระชาย 1.2 กิโลกรัม หัวหอม 700 กรัม กระเทียม 2.5 กิโลกรัม ผิวมะกรูด 600 กรัม และกะปิ 1.5 กิโลกรัม

ถ้าเป็นน้ำพริกแกงส้ม…ประกอบไปด้วย กระชาย 3 กิโลกรัม หัวหอมแดง 3 กิโลกรัม พริกใหญ่ 1 กิโลกรัม พริกเล็ก 1 กิโลกรัม และกะปิ 2.5 กิโลกรัม เพื่อนำเข้าเครื่องบดให้ละเอียด จึงบรรจุถุงเก็บไว้ในตู้เย็นรอการจำหน่าย

แต่ถ้าเป็นน้ำพริกเผา จะต้องนำวัสดุต่างๆ คั่วให้สุก นำไปบดให้ละเอียดก่อนบรรจุลงถุง พร้อมจำหน่ายจะได้น้ำพริกสูตรต่างๆ ที่หอมรสชาติเข้มข้น เพราะจะใช้ส่วนผสมที่เต็มสูตร ไม่ปลอมปน เนื่องจากวัสดุส่วนใหญ่ได้มาจากสมาชิกราคากันเอง และปลอดภัยไม่ใส่สารกันบูด ซึ่งถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นได้ประมาณ 1 เดือน แต่ถ้าไม่เก็บไว้ในตู้เย็นจะมีอายุการเก็บรักษาไม่เกิน 7 วัน เนื่องจากไม่ใช้สารกันบูด ดังนั้น การขนย้ายก่อนถึงผู้บริโภค หลังนำออกจากตู้เย็นจะถ่ายลงกล่องที่ใส่น้ำแข็งรองพื้นเพื่อรักษาคุณภาพของน้ำพริกก่อนถึงร้านค้าหรือผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยราคาจำหน่ายดังนี้ พริกเผาแมงดา (แมลงดา) ราคากิโลกรัมละ 200 บาท พริกเผาตาแดง ราคากิโลกรัมละ 160 บาท พริกปลาร้าป่า ราคากิโลกรัมละ 100 บาท พริกเผาปลาย่าง กิโลกรัมละ 200 บาท และพริกแกงส้ม ราคากิโลกรัมละ 80 บาท

ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมเยียนและติดตามการดำเนินงานร่วมกับ คุณพรทิพย์ นิลวิสุทธิ์ เกษตรประจำตำบล ได้พบบรรยากาศการลงมือร่วมกันทำงานที่สนุกสนาน แม้ว่าอุปกรณ์ต่างๆ ยังมีไม่ครบ แต่ก็ได้ปรับใช้สภาพพื้นที่ที่มีอยู่อย่างกลมกลืนในรูปแบบของชนบทที่รอวันปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น เช่น พื้นนั่งทำงาน เพื่อนๆ เกษตรกรชอบที่จะใช้ภาชนะรองพื้นนั่งล้อมวงมากกว่านั่งบนเก้าอี้ (เหมือนผู้เขียนเลยนั่งห้อยขาแล้วเมื่อย) วางอุปกรณ์พร้อมวัสดุที่จะหั่นซอยให้มีขนาดเล็ก ลงมือปฏิบัติงานอย่างตั้งออกตั้งใจ นานๆ จะพูดคุยสักครั้ง (เพราะส่วนใหญ่จะตอบปัญหาของผู้เขียน) ก่อนที่จะเรียกให้ทีมผู้ที่ทำหน้าที่ปรุงน้ำพริกตามอัตราส่วนที่บันทึกไว้เป็นสูตรน้ำพริกหลากหลายรสประจำกลุ่ม ในฉบับนี้ได้ขอสูตรพริกมาฝากผู้อ่านที่นอกเหนือจากพริกเผ็ดมาก และพริกแกงส้มอีกด้วย สำหรับไปประยุกต์ปรุงทำอาหารรับประทานที่บ้านด้วยครับ

พริกเผา…พริกใหญ่ 1 กิโลกรัม พริกเล็ก 300 กรัม กระเทียม 1 กิโลกรัม มะขามเปียก 4 ปั้น น้ำปลาแท้ 1 ขวด เกลือป่นนิดหน่อย กะปิ 500 กรัม

พริกเผาเผ็ดน้อย…พริกใหญ่ 3 กิโลกรัม กระเทียม 3 กิโลกรัม มะขามเปียก 700 กรัม กะปิ 2 กิโลกรัม น้ำตาลปี๊บ 1 กิโลกรัม และหอมแดง 4 กิโลกรัม

คุณเกษม ไตรพิจารณ์ เกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวฝากถึงผู้อ่านว่า กลุ่มเกษตรกรรายย่อยกลุ่มแม่บ้านคลองห้วยงูพัฒนา ได้ตั้งใจผลิตผลิตภัณฑ์ที่ดีออกสู่ผู้บริโภค ขอเพียงพี่น้องคนไทยทุกท่านได้ช่วยสนับสนุนสินค้าของไทย ไม่เพียงน้ำพริกหลากหลายรสของกลุ่มนี้เท่านั้น แต่ขอได้ช่วยสนับสนุนสินค้าจากกลุ่มสถาบันเกษตรกรอื่นๆ อีกหลายผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพราะทุกกลุ่มได้เพียรพยายามสร้างสรรค์ผลงานที่ดีสู่ประชาชน เพียงว่าทุกท่านจะได้ให้โอกาสเท่านั้นแล้วทุกกลุ่มจะได้มีแรงกายแรงใจทุ่มเทพลังผสมผสานภูมิปัญญาชาวบ้านสร้างผลงานต่อไป

ต้องการซื้อผลผลิตถามได้ที่ โทร. (081) 379-7338 และ (089) 860-8214

เก็บรักษาไว้ในตู้เย็น