ชงสมคิดแก้ราคามะพร้าว บีบซื้อแลกสัดส่วนนำเข้า

อนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ชงคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชกำหนดสัดส่วนนำเข้า เคาะสูตร ซื้อในประเทศ 1 ส่วน จึงจะได้นำเข้า 2.5 ส่วน ให้นำเข้า 2 ช่วง เพื่อแก้ปัญหาราคาตกต่ำ

รายงานข่าวจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงผลการประชุมของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าวเพื่อแก้ปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมาว่า คณะอนุกรรมการที่มี นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน มีมติกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ต้องการนำเข้ามะพร้าว จะต้องซื้อมะพร้าวภายในประเทศ 1 ส่วน เพื่อจะได้นำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ 2.5 ส่วน ซึ่งผลผลิตมะพร้าวในประเทศ ปี 2562 คาดว่า จะมีประมาณ 8.8 แสนตัน เท่ากับว่าให้นำเข้ามะพร้าวได้ประมาณ 2.2 ล้านตัน/ปี

ทั้งนี้ การนำเข้าให้นำเข้าได้เพียง 2 ช่วง คือ เดือนเมษายน-พฤษภาคมช่วงหนึ่ง และเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมอีกช่วงหนึ่ง ส่วนการขนมะพร้าวข้ามเขตหรือจังหวัด หากมีการขนย้ายไม่เกิน 4 ตัน/ครั้ง ไม่ต้องขออนุญาตขนย้าย หากเกินต้องได้รับการอนุญาตจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือต้องไปขออนุญาตจากเกษตรอำเภอที่พาณิชย์จังหวัดแต่งตั้ง โดยหลังจากนี้จะเสนอคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ซึ่งมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นชอบเร็วๆ นี้

นายวันชัย นิลวงศ์ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดที่มีการปลูกมะพร้าวมากที่สุดของประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต้นทุนการผลิตมะพร้าวของเกษตรกร ปัจจุบันอยู่ที่ลูกละ 7-8 บาท แต่จำหน่ายผลผลิตได้เพียงลูกละ 5-6 บาท การกำหนดสัดส่วนของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าวครั้งนี้ ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช จะทำให้ราคามะพร้าวขยับตัวสูงขึ้นหรือไม่นั้น ยังไม่ขอออกความเห็น แต่ในด้านการผลิตมะพร้าวของประจวบคีรีขันธ์ มีผลผลิตที่พร้อมออกสู่ตลาด ประมาณ 3.4 แสนไร่ และหลังจากกระทรวงเกษตรฯ ลุยกำจัดแมลงศัตรูพืชมะพร้าว ทั้งหนอนหัวดำและแมลงดำหนาม ในปี 2560 และต่อเนื่องถึง ปี 2561 ส่งผลให้มะพร้าวของเกษตรกรสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผลผลิตเพิ่มประมาณ 10-15% จาก 3-5 ลูกต่อทะลาย เพิ่มเป็น 5-8 ผลต่อทะลาย มีการตัดจำหน่ายทุก 30-45 วัน/ครั้ง

“ส่วนการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีการขึ้นทะเบียนแล้ว ประมาณ 80% ที่เหลือยังไม่ขึ้นทะเบียนจะเป็นผู้ปลูกรายใหญ่ บางรายมาขึ้นทะเบียน แต่ยังให้ข้อมูลไม่เต็มที่ ช่วงนี้มีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนอยู่เรื่อย ๆ หรือให้เกษตรกรมาปรับปรุงข้อมูลทุก 1 ปี ยังเป็นการขึ้นทะเบียนโดยสมัครใจ ไม่ได้บังคับ” เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์กล่าว

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์